xs
xsm
sm
md
lg

ชี้“แก่นตะวัน”เหมาะผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ ต้นทุนสูงไม่เหมาะผลิตเป็นพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-“แก่นตะวัน” พืชมหัศจรรย์ไปโลด ภาคเอกชนสนใจใช้หัวสดเป็นวัตถุดิบแปรรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายบริษัท เหตุมีสารอินนูลิน ยกสรรพคุณเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานและหัวใจ ทั้งเหมาะกับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ใช้เป็นวัตถุดิบเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ ส่วนการพัฒนาเป็นพลังงานทดแทน เอทานอล ยังริบหรี่ เหตุต้นทุนผลิตสูงลิ่ว ขณะที่นักวิจัยเชื่อยังมีโอกาสหากมีการวิจัยต่อเนื่อง คาดได้ผลผลิตสูง คุ้มทุนผลิตเป็นพลังงานทดแทนแน่


รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน” ถึงงานวิจัยพืช แก่นตะวัน ว่า จากการที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำพืชเมืองหนาว Jerusalem artichoke หรือ “แก่นตะวัน” มาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในเขตร้อนเมืองไทย พบว่ามีศักยภาพที่จะส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้อีกชนิด

ล่าสุดได้ปรับปรุงพันธุ์แก่นตะวันแล้ว 2 สายพันธุ์ ที่เหมาะต่อการเพาะปลูกในเมืองไทย โดยแก่นตะวันพันธุ์ 1 จะให้ผลผลิตสูงประมาณ 2-3 ตัน/ไร่ หัวใหญ่แขนงน้อย รสชาติหวาน เหมาะใช้บริโภคหัวสดและใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นแป้งผง ส่วนแก่นตะวันพันธุ์ 2 ให้ผลผลิตสูง หัวใหญ่แขนงน้อยมาก มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน กรอบ เหมาะสำหรับบริโภคหัวสด

แม้ว่า แก่นตะวัน จะยังเป็นพืชชนิดใหม่ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยนัก และอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะต่อการปลูกในเมืองไทย แต่กระแสตอบรับ แก่นตะวัน จากผู้บริโภคในประเทศมีสูงมาก ในแง่นำมาบริโภคหัวแก่นตะวันสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีภาคเอกชนหลายบริษัท นำหัวแก่นตะวันไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปแล้วหลายบริษัท

“ที่ผ่านมามีบริษัท แก่นตะวันไบโอเทค จำกัด รับซื้อผลผลิตหัวแก่นตะวันสดจากเกษตรกร ไปแปรรูปเป็น ซุปแก่นตะวัน และผักสดในลักษณะสลัดผัก จำหน่ายที่เดอะมอลล์ทุกสาขา ทั้งอีกบริษัทไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในลักษณะแคปซูล ล่าสุดมีบริษัท ผู้ผลิตน้ำผักผลไม้ รายใหญ่สนใจ เตรียมนำหัวแก่นตะวัน ไปแปรรูปเป็นน้ำผักผลไม้บรรจุกล่องออกจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย”รศ.ดร.สนั่น กล่าวและว่า

ขณะนี้มีเกษตรกรสนใจปลูกแก่นตะวันในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เช่น หนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา นครพนม ร้อยเอ็ด ลพบุรี สระบุรี โดยจะมีการประกันราคารับซื้อจากเกษตรกร ที่ 5 บาท/กิโลกรัม

นอกจากนี้ แขนงย่อยของหัวแก่นตะวัน ที่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ พบว่ายังมีสารที่เป็นประโยชน์ ใช้ผสมเสริมในอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และลดจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันโรคและมูลสัตว์ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์จะต้องนำเข้าสาร ยักค่า มาผสมเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตให้จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาท

สำหรับลู่ทางการพัฒนาแก่นตะวันให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ณ ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูง แต่ในเบื้องต้นน่าจะมีการส่งเสริมตลาดเฉพาะ เน้นเพาะปลูกรองรับการแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น อีกทั้งคณะนักวิจัยได้วางแผนประชาสัมพันธ์ ให้แก่นตะวันเข้าถึงประชาชนเพิ่มขึ้น ในลักษณะบริโภคเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการขยายการเพาะปลูกแก่นตะวัน อย่างแพร่หลาย

”แก่นตะวัน”ไม่เหมาะแปรรูปเป็นเอทานอล

รศ.ดร.สนั่น กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัยแก่นตะวันในแง่ของการใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็น เอทานอล พลังงานทดแทนที่นำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน เป็นเชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์ ใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน จากข้อมูลผลการวิจัยขณะนี้ พบว่า ยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาแปรรูปเป็นเอทานอล เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง เมื่อเทียบกับต้นทุนผลิตเอทานอลจากพืชชนิดอื่น

ข้อมูลวิจัยพบว่า ต้นทุนการเพาะปลูกแก่นตะวัน ที่ให้ผลผลิตสูงสุดที่ 3.2 ตัน/ไร่ มีต้นทุนการเพาะปลูกที่ 9,800 บาท/ไร่ หรือคิดเป็นต้นทุนการเพาะปลูก 3.10 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาหัวมันสำปะหลังสด ราคาเฉลี่ยประมาณ 1.20-1.40 บาท/กิโลกรัม

ส่วนการแปรรูปเป็นเอทานอล หัวแก่นตะวันสด 1 ตัน สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ 80 ลิตร ขณะที่หัวมันสำปะหลังสด 1 ตัน หมักเป็นเอทานอลได้ถึง 160 ลิตร และอ้อย 1 ตันที่สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ประมาณ 65-70 ลิตรใกล้เคียงกับข้าวฟ่างหวาน แต่ราคารับซื้อแก่นตะวันสดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับมันสำปะหลัง จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นเอทานอล น่าจะส่งเสริมขายผลผลิตหัวแก่นตะวันสดเพื่อการบริโภค ซึ่งได้ราคาสูงกว่าประมาณ 5 บาท/กิโลกรัมจะเหมาะสมกว่า

รศ.ดร.สนั่น กล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้ แก่นตะวัน จะไม่เหมาะปลูกป้อนอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะนำหัวแก่นตะวันสดมาใช้ผลิตในอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล เนื่องจากเทคโนโลยีการแปรรูปเอทานอลจากพืชชนิดต่างๆ ณ ปัจจุบัน ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การแปรรูปเป็นเอทานอลยังได้ผลผลิตต่ำ เชื่อว่าน่าจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเอทานอลให้ได้ผลผลิตที่สูงกว่านี้อีกในอนาคต

อีกทั้งด้านการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์แก่นตะวัน ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเช่นกัน ยังสามารถต่อยอดงานวิจัยพัฒนาพันธุ์ที่แก่นตะวันให้ผลผลิตต่อไร่สูง ให้เหมาะกับการผลิตในอุตสาหกรรมผลิตพลังงาน โดยหากเพาะปลูกในพื้นที่ที่การจัดการด้านชลประทานที่ดี จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 6 ตัน/ไร่ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อไร่ต่ำลงเพียง 1 บาทเศษต่อ 1 กิโลกรัมเท่านั้น

สำหรับ “แก่นตะวัน” หรือ Jerusalem artichoke เป็นพืชเมืองหนาวมีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นพืชล้มลุก หัวสดคล้ายขิงหรือข่า ใช้ส่วนหัวรับประทาน ลักษณะลำต้น แก่นตะวัน เป็นพืชใกล้ชิดกับทานตะวัน มีดอกสีเหลืองสดใส คล้ายดอกบัวตอง และดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีหัวใต้ดินคล้ายกับมันฝรั่งเพื่อเก็บสะสมสารอาหาร ซึ่งหัวของแก่นตะวัน จากการวิจัยพบว่า เป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง

ส่วน อินนูลิน ประกอบด้วยน้ำตาลฟรักโทส มีโมเลกุลยาว จับยึดไขมันในเส้นเลือดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไขมัน Cholesterol Triglyceride และ LDL จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ขณะที่แก่นตะวัน ให้แคลอรีต่ำ ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน

ที่สำคัญ อินนูลิน เป็นสารเยื่อใยอาหาร จะไม่ถูกย่อยในกระเพาะ และลำไส้เล็ก อยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว กินอาหารได้น้อย จึงช่วยลดความอ้วน นอกจากนี้ อินนูลิน จะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Coliforms และ E.Coli แต่จะเสริมการทำงานของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคือ Bifidobacteria และ Lactobacillus จึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น