xs
xsm
sm
md
lg

พปช.อีสานจอง10คณะปธ.กมธ.เป็น2ปีเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลังประชาชนยังเดินหน้าทึ่งเก้าอี้ ประธานกรรมาธิการฯ-เลขานุการฯ-ที่ปรึกษารัฐมนตรี ไม่หยุด ล่าสุด ส.ส.ภาคกลาง จองโควต้าประธาน กมธ. 3 คณะ เล็ง สธ.-วิทยาศาสตร์-ศึกษาฯ ด้าน ส.ส.อีสานยังยืนยันโควต้าเลขาฯ และที่ปรึกษารมต.ต้องเป็นไปตามอัตราที่ใกล้เคียงกับจำนวน ส.ส. ส่วนประธานกรรมาธิการฯ ควรได้ 10 คณะ พร้อมวางกฎ เคยเป็น ส.ส.อย่างน้อย 3 สมัย ไม่เป็นวิปรัรฐบาล และกรรมาธิการงบประมาณ อยู่แค่ 2 ปีเปลี่ยนตัวใหม่

ที่พรรคพลังประชาชน วานนี้ (14 ก.พ.) มีการประชุมส.ส.และอดีตผู้สมัครส.ส.ภาคกลาง พรรคพลังประชาชน โดยมีนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในที่ประชุม

นางฐิติมา ฉายแสง รองโฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเคยมีมติให้รัฐมนตรีในสัดส่วนของภาคกลางเข้าร่วมประชุมกับ ส.ส.ภาคกลางทุกครั้งเพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้นและหาก ส.ส.มีปัญหาในพื้นที่ ก็สามารถนำปัญหามาเล่าให้รัฐมนตรีฟังรับทราบได้ด้วย ซึ่งรัฐมนตรีทั้ง 3 ของภาคกลางได้แก่ นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ และนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ จึงได้เข้าร่วมประชุมด้วย ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีมาประชุมด้วยจึงได้ชี้แจงให้ฟังว่า นโยบายของรัฐมนตรีที่ตกเป็นข่าวทั้งเรื่อง ซีแอลยา และการปลูก ต้นยูคานั้น ล้วนเป็นการทำงานเพื่อชาติทั้งนั้น

นายฐิติมา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังหารือถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ที่ห้าม ส.ส.ใช้สถานะแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ทำให้ ส.ส.ทุกคนต่างอึดอัดกับมาตรานี้มาก ถึงกับพูดว่า ส.ส.สามารถพูดได้แต่ในสภาเท่านั้นหรือ อย่างไรก็ตามที่ประชุมจึงได้เตือนให้ ส.ส.ทุกคนระมัดระวังในเรื่องของการทำจดหมาย ถึงหน่วยงานราชการต่างๆ เพราะอาจทำให้ถูกมองว่าเข้าไปแทกแซงได้

สำหรับมาตรา 265 นั้น ที่ประชุมสรุปว่า ส.ส.ไม่สามารถเป็นเลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีได้นั้น อยากให้ ส.ส.ทุกคนเข้าใจ เพื่อให้ผู้สมัครส.ส. ที่สอบตกได้เข้ามาทำหน้าที่ในจุดนี้ เพราะบางคนในบางพื้นที่อาจจะถูกกลั่นแกล้ง ซึ่ง ส.ส.บางคนก็รู้สึกเสียใจแต่ก็รับได้ โดยระบุว่า หากส.ส.เป็นเลขานุการรัฐมนตรี หรือที่ปรึกษารัฐมนตรีได้ จะทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้เป็นจำนวนมาก เพราะจะต้องเลือกรับเงินเดือนทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว

สำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการนั้น นางฐิติมา กล่าวว่า ภาคกลาง พรรคพลังประชาชนมี ส.ส.40 คน เมื่อรวมกับสงส.แบบสัดส่วนอีก 3 คน เป็น 43 คน ดังนั้นน่าจะได้ประธานกรรมาธิการฯทั้ง 3 คณะ แต่ละคณะมี ส.ส.ได้ไม่เกิน 15 คน แต่ใครจะได้เป็นประธานกรรมาธิการฯยังไม่ได้คุยกัน จะต้องนัดหารือกันอีกครั้ง

ส่วนประธานคณะกรรมาธิการฯที่ ส.ส.ภาคกลางควรจะได้นั้นน่าจะเป็นกรรมาธิการฯชุดที่รัฐมนตรีของกลุ่มเกี่ยวข้อง

นางฐิติมา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภา ผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ยังเสนอแนวคิดต่อที่ประชุมด้วยว่า น่าจะมีการตั้งสำนักงานรัฐสภาจังหวัด เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน จึงควรจะให้ส.ส.ในพื้นที่นั้นมีบทบาทในการบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในจังหวัดของตนเอง โดยให้ส.ส. เป็นคณะกรรมการในจังหวัดนั้นๆ และเพื่อเป็นการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน โดยไม่ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 อีกด้วย

นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญห้าม ส.ส.เป็นเลขานุการฯและที่ปรึกษารัฐมนตรี ดังนั้นในการสรรหาบุคลากรในพรรคเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว จึงต้องหาบุคคลจาก 3 กลุ่มคือ 1.นักวิชาการในพรรค 2.อดีตส.ส.และอดีตผู้สมัคร ส.ส. และ3. ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก โดยจะพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ และความทุ่มเทเป็นหลัก

ส่วนสาเหตุที่โควตาของภาค กทม.ได้รับการเสนอชื่อมากกว่าทุกภาคนั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากจำนวนส.ส.ทุกภาคแล้วจะพบว่า ในภาคอีสาน ส่วนใหญ่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นส.ส. มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่ได้รับเลือกจึงมีตัวเลือกจำกัด ในภาคเหนือและภาคกลางก็เช่นกัน ยกเว้นภาคกทม.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาน้อย จึงมีตัวเลือกมาก ก็ย่อมมีโอกาสได้รับการเสนอชื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งมาก เพื่อให้มาช่วยทำงานการเมือง ซึ่งในหลักการก็ถือเป็นเรื่องปกติ

"ยืนยันว่าวันนี้ปัญหาความขัดแย้งหรือความไม่พอใจไม่มีแล้ว เป็นเพียง ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป ข่าวที่ออกไปก็ต้องเห็นใจ เพราะท่านนายกรัฐมนตรี ต้องดูในภาพรวมและรับผิดชอบในการเสนอรายชื่อแต่งตั้งเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรี เมื่อท่านไม่ทราบรายละเอียดในการเสนอรายชื่อ จึงต้องขอกลับไปพิจารณา สอบถาม เมื่อเข้าใจถึงที่มาที่ไปแล้วก็คงไม่มีปัญหา ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนรายชื่ออะไรมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วถือว่าภาพลักษณ์ดี เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ พร้อมที่จะทำงานได้"

ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า การจัดบุคคลเป็นเลขานุการและที่ปรึกษารัฐมนตรีนั้น ต้องเคารพเสียงประชาชนและเป็นไป ตามสัดส่วน เมื่อส.ส.อีสานได้เข้ามาถึง 116 คน ก็ต้องเป็นไปในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ต้องยึดผู้ที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ เช่น ต้องมีประสบการณ์การเมือง เคยเป็นที่ปรึกษา หรือเลขานุการรัฐมนตรีมาก่อน และเป็นอดีตส.ส.อาวุโสหรืออาจจะตั้งคนที่มาจากคณะทำงานของพรรค อย่างไรก็ตาม ในวันนี้(15 ก.พ.)จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ไม่มีการประชุมส.ส. ซึ่งพรรคคงจะจัดการเรื่องนี้ ได้อย่างเรียบร้อย และเราก็เคารพการตัดสินใจของพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชาชนว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.อีสานนั้น ภายหลังจากที่กลุ่มส.ส.อีสานพลาดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรี จนเกิดความไม่พอใจ โดยมีการรวมตัวกันกว่า 40 คนเพื่อไปพบนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนเพื่อเรียกร้องตำแหน่งทางการเมือง จนนายสมัครต้องรับปากว่า จะจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองต่างๆให้อย่างเป็นธรรมมาแล้วนั้น ขณะนี้กลุ่มส.ส.อีสานกำลังรอดูท่าทีของพรรคเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งทางการเมือง ต่างๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีนั้น กลุ่ม ส.ส.อีสานไม่ได้วิ่งเต้นเคลื่อนไหวขอตำแหน่งมากนัก เนื่องจากติดเงื่อนไขว่า ส.ส.สามารถไปดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้หรือไม่ ส่งผลให้รายชื่อที่ออกมามีตัวแทนจากภาคอีสานค่อนข้างน้อย สำหรับเป้าหมายของกลุ่มส.ส.อีสานคือประธานคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีความชัดเจนแล้วว่า พรรคพลังประชาชนจะได้ประมาณ 15-16 คณะ โดยกลุ่มส.ส.อีสานจะขอโควตาทั้งหมด 9-10 คณะ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการตรวจสอบเอกสาร ที่ให้เขียนแจ้งความจำนงต่อพรรคไปนั้น พบว่ามีส.ส.อีสานขอเป็นประธานคณะกรรมาธิการกว่า 30 คน ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์กันภายในว่า ประธานคณะกรรมาธิการฯจะต้องเคยเป็นส.ส.อย่างน้อย 3 สมัย ห้ามเป็นวิปรัฐบาล และห้ามเป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณ รวมทั้งจะต้องผลัดเปลี่ยนกันเป็นคนละ 1-2 ปี ทั้งนี้กลุ่มส.ส.อีสานจะมีการหารือกันอีกครั้งในช่วงต้นสัปดาห์หน้า

นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงการจัดสรรตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ที่จะประสานงานกับพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล แต่ที่ผ่านมานั้น ตามประเพณีมีหลักเกณฑ์ว่า พรรครัฐบาลจะดูแลในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร ซึ่งมีสัดส่วนที่แน่นอนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคพลังประชาชนนั้น การคัดเลือกประธานกรรมาธิการ แม้ว่าจะมีผู้แสดงเจตจำนงจำนวนหนึ่ง แต่นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เป็นผู้รวบรวม เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหา เพราะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาจากความเหมาะสมเป็นที่ตั้ง และแต่ละภาคก็มีสัดส่วนอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยประมาณส.ส. 15 -20 คนต่อประธานคณะกรรมาธิการ 1 คณะ อีกทั้งจะต้องผ่านทั้งความเห็นชอบจากที่ประชุมภาคและที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ทั้งหมดต้องเกิดขึ้นภายใต้การให้ความเป็นธรรมกับส.ส.ทุกคน สำหรับตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลนั้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาแต่งตั้งผู้ที่เห็นว่ามีความเหมาะสม และโดยหลักแล้วประธานวิปจะต้องมาจากพรรคที่เป็นเสียงข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น