xs
xsm
sm
md
lg

"หมอยง"โผล่ถือชูไก30ล้านหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – เปิดรายชื่อผู้ถือหุ้น "ชูไก" ว่าที่น้องใหม่ mai รายล่าสุด ตะลึงนักลงทุนขาใหญ่แห่งบล.บีฟิท "พันธ์วงศ์กล่อม" โผล่รับหุ้นจอง 29.02 ล้านหุ้น หรือ 6.45% ขณะที่ โกลเบล็ก โฮลดิ้ง ตุนเข้าพอร์ต 20 ล้านหุ้น ที่ปรึกษาฯชี้ขาใหญ่สนใจลงทุนระยะกลาง เชื่อทำให้ราคาหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น ระบุ"หมอยง" เป็นทั้งผู้ถือหุ้นบล.บีฟิท ลูกค้ารายใหญ่ส่งทั้งออเดอร์เทรดหุ้น ทั้งลูกค้างานที่ปรึกษาฯ ย้ำรายย่อยได้รับจัดสรรกว่า 600 ราย จับตาราคาหุ้นเทรดวันแรก 13 ก.พ.นี้

นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอได้รับอนุมัติให้บริษัทชูไก จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนและเข้าซื้อตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า "CRANE" โดยบริษัทเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 100 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.80 บาท รวมมูลค่า 280 ล้านบาท ซึ่งราคาไอพีโอมีค่า P/E อยู่ที่ 10.37 เท่า ขณะที่ค่าP/Eของ mai อยู่ที่ 11.91 เท่า โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บีฟิท จำกัด (มหาชน)หรือ BSEC เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ CRANE มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ50 ของกำไรสุทธิหลังหักเงินสำรองต่าง ๆ ทุกโดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปชำระเงินกู้จากสถาบันการเงิน
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น 10 อันดับประกอบด้วย อันดับ1. กลุ่มนายธงไชย แพรรังสี ถือหุ้นก่อนขายไอพีโอ จำนวน 295.05 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 84.30% โดยหลังไอพีโอถือ 295.05 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 65.57% อันดับ2. กลุ่มบุคคลในวงจำกัด ก่อนไอพีโอ 50 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 14.29 %และหลังไอพีโอสัดส่วนถือหุ้นลดลงเหลือ 11.11% โดยบุคคลในวงจำกัด คือ นางสาววิไล เจริญวิทู และนางสาวณัฐสุรีย์ เลิศชัยรัตน์ ถือหุ้นหลังไอพีโอคนละ 15 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 3.33%, นายอานนท์ชัย วีระประวัติ ถือหุ้น 14 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 3.11%, นายสมศักดิ์ ศรีธนวิบุญชัย, นายสุชาติ ศรีนิติวงศ์สกุล, นายเกสร สิทธิวราภรณ์, นายนิวัฒน์ แดงรัศมีโสภณ, นางสาวณัฏฐ์ณภัทร เก่งพิริยะอนันต์ และนางสาวชลิดา เลิศวิวัฒน์กุล ถือหุ้นคนละ 1 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.22%
อันดับ3. กลุ่มพันธ์วงศ์กล่อมถือหุ้นรวม 29.02 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 6.45% จากก่อนไอพีโอไม่ได้ถือหุ้น ประกอบด้วยนายยรรยง พันธ์วงศ์กล่อม ถือหุ้น 8.02 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 1.78%, นายยืนยง พันธ์วงศ์กล่อม, นางสาววราภรณ์ พันธ์วงศ์กล่อม และนางวิไล พันธ์วงศ์กล่อม ถือหุ้นคนละ 7 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 1.56%, อันดับ 4. บริษัทโกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์จำกัด ถือหุ้น 20 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.44%, อันดับ5. นางสาวฐิติพร เมกจิตร ถือหุ้น 7 ล้านหุ้น หรือคิดเป็ 1.56%, อันดับ 6.นายสุเทพ เจนจิรวัฒนาถือหุ้น 4 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.89%, อันดับ 7. นายบัณฑิต พิทักษ์สิทธิ์ ถือหุ้น 3 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.67 %, อันดับ 8.นายชัยวัฒน์ สามัคคีนิชย์ ถือหุ้น 3 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.67%, อันดับ 9. นายสุคนธ์ กาญจนหัตถกิจ ถือหุ้น 2ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 0.44 % และอันดับ10 นายวิชัย สกุลบงกช ถือหุ้น 1.4 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 0.31%
แหล่งข่าวจากบล.บีฟิท กล่าวว่า สาเหตุที่มีการจัดสรรหุ้นบมจ.ชูไก ให้กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นลูกค้าของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มพันธ์วงศ์กล่อม จำนวนถึง 29.02 ล้านหุ้น เนื่องจากกลุ่มพันธ์วงศ์กล่อม เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ของบล.บีฟิท รวมทั้งยังเป็นนักลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นผ่านบริษัทและยังแนะนำลูกค้าด้านที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัท บริษัทจึงได้มีการจัดสรรหุ้นให้ในจำนวนดังกล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายบรรยง หรือ หมอยง นักลงทุนรายใหญ่ค่อนข้างมีความสนใจที่จะลงทุนในหุ้นดังกล่าวเนื่องจากเชื่อมั่นในธุรกิจของบริษัท โดยต้องการถือลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาวจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทจัดสรรหุ้นให้ แต่อย่างไรก็ตามจำนวนนักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นดังกล่าวมีมากกว่า 600 รายจึงสะท้อนได้ว่านักลงทุนรายย่อยก็ได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวนมาก
"ถ้าเราจัดสรรหุ้นให้รายย่อยทั้งหมดหรือในจำนวนที่มาก การดูแลจะทำให้ยาก การที่นักลงทุนรายใหญ่สนใจถือหุ้นและรับปากที่จะถือระยะกลางทำให้เราสบายใจมากขึ้นว่าหุ้นจะไม่ผันผวนมาก"แหล่งข่าวกล่าว
อนึ่ง แผนงานของบทม.ชูไก ในปีนี้ บริษัทคาดว่ารายได้ของบริษัทในปีนี้จะเติบโตในระดับไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตประมาณ 9% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจด้านการขายเครื่องจักรในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 60% สูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 52% ขณะที่กำไรขั้นต้นจากการให้เช่าเครื่องจักรในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 29% เพิ่มขึ้นจากปี ก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 26% ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทในปี 50 อยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะขยายงานในส่วนการเช่าเครื่องจักรในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ในขณะเดียวกันมีการส่งขายสินค้าเครื่องจักรไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศบรูไน ซูดาน เป็นต้น โดยในอนาคตหลายเครื่องจักรของบริษัทมีมากขึ้นบริษัทมีแผนที่จะขายไปยังต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างกำไรดี
กำลังโหลดความคิดเห็น