ศูนย์ข่าวขอนแก่น-แบงก์ชาติอีสานลุยวิจัยศึกษาหลายประเด็นปัญหาที่รอวันปะทุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งค้าชายแดนที่ถูกคู่แข่ง จีน/เวียดนามตีตลาดอย่างหนัก-แรงงานขาดแคลน-พืชเศรษฐกิจใหม่ “ยางพารา”และปัญหาพฤติกรรมบริโภคเงินผ่อน เผยหลังศึกษาเสร็จเสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อยอดหาทางรับมือ
นายสมชาย เสตกรณุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ธปท.) เปิดเผยว่าภาคอีสานถือว่ามีศักยภาพสูงมากในการพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร หากได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและถูกทิศทาง จะเป็นภูมิภาคหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
ทั้งนี้ เนื่องจากมี ปัจจัยบวกที่พร้อมกว่าภูมิภาคอื่น ประกอบด้วย 1.เป็นภูมิภาคที่มีแรงงานมากที่สุด 2.มีทรัพยากรสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ในภาคอีสาน สามารถเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรที่หลากหลาย
3. เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 4.เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชทดแทนพลังงานหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง อ้อย 5.เป็นพื้นที่ติดชายแดนหลายประเทศ เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ ทั้งการค้าชายแดน การท่องเที่ยว 6.มีแรงงานไปขุดทองต่างประเทศสูงสุด ซึ่งแต่ละปีมีการส่งเงินกลับมาจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เป็นไปอย่างมั่นคง ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังดำเนินการ นั่นคือการศึกษาวิจัย สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้เห็นว่าในจุดแข็งหลายๆด้านที่ภาคอีสานมีอยู่นั้น ยังมีจุดอ่อนที่ต้องได้รับการแก้ไข
สำหรับประเด็นศึกษาวิจัยสำคัญ คือ 1.การค้าชายแดน แม้การค้าชายแดนจะมีศักยภาพสูงแต่ละปีมีมูลค่าหลายหมื่นล้าน แต่ปัญหาที่สินค้าไทยกำลังประสบคือการถูกคู่แข่งรายใหญ่ ทั้งจีน และเวียดนามตีตลาดอย่างหนัก สินค้าหลายตัวไทยไม่สามารถสู้การทุ่มตลาดจากประเทศคู่แข่งได้ ซึ่งสิ่งที่จะต้องเร่งศึกษาคือหากถูกตีตลาดอยู่อย่างนี้ ในอีกสัก 4-5 ปีข้างหน้า จะเกิดปัญหาอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับการค้าชายแดนของไทย ควรเตรียมรับมือหรือหาทางออกไว้อย่างไรบ้าง
2.แม้ภาคอีสานจะมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก เป็นแหล่งป้อนแรงงานให้แก่ภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เหตุใดภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการในหลายๆจังหวัดของภูมิภาคนี้ถึงมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำไมแรงงานที่มีอยู่ถึงไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ หลักสูตรการศึกษาสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้สั่งสมเพิ่มพูนไปมากกว่านี้จะต้องปรับปรุงแก้ไขปัจจัยใดบ้าง
3.ยางพารา พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เกษตรกรในภาคอีสานหันมาปลูกกันมาก จนทำให้ผลผลิตพืชตัวอื่นลดลง เพราะมีแรงจูงใจจากรายได้สูงจากการขายน้ำยางพารา ตลาดใหญ่อย่างประเทศจีนมีความต้องการมาก ซึ่งการปลูกยางพารานั้นอย่างน้อยต้องใช้เวลานาน 7 ปีถึงกรีดขายได้ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น ไม่รู้ว่าราคายางยังจะสูงเช่นปัจจุบันหรือไม่ เพราะประเทศจีนเองก็กำลังส่งเสริมการปลูกยางพาราเพื่อลดการนำเข้าเช่นกัน หากตลาดรับซื้อลดลง เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราของไทยใครจะรับผิดชอบ เกษตรกรจะประสบปัญหาที่หนักมาก ดังนั้นประเด็นปัญหานี้ต้องมีการเตรียมรับแต่เนิ่นๆ
“การศึกษาวิจัยของเรา คงไม่ยึดหลักสถิติหรือใช้ทฤษฏีการวิจัยเข้ามาเป็นกรอบมากมายนัก อยากให้เป็นการศึกษาแบบง่ายๆ ได้ข้อมูลที่เห็นภาพของประเด็นปัญหาชัดเจนสัก 70 % ก็พอ หลังศึกษาวิจัยเสร็จเราก็จะจัดส่งผลการศึกษาให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาหาทางออก ให้รับรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเด็นเหล่านี้ในอนาคตอันใกล้ข้างหน้า”นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวเสริมอีกว่าอีกประเด็นปัญหาหนึ่ง ที่จะทำการศึกษาวิจัยคือพฤติกรรมการบริโภคเงินผ่อน โดยเฉพาะการกู้เงินนอกระบบ ประเภทเงินด่วนทันใจที่มีใบโฆษณาเกลื่อนเมือง คนอีสานเป็นหนี้เงินกู้ประเภทนี้จำนวนมาก เพราะไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน กู้ง่ายแต่ดอกเบี้ยสูงมาก
หนี้นอกระบบดังกล่าวนับวันจะเพิ่มพูนสูงขึ้น อีก 3ปีหากไม่มีการแก้ไขหรือสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนจะเกิดปัญหาถึงขั้นวิกฤตที่แก้ยากมาก
“หนี้นอกระบบประเภทเงินด่วนทันใจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้กู้จะเป็นกลุ่มนักศึกษาหรือคนวัยทำงานที่ยังไม่มีความมั่นคงด้านรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาน่าเป็นห่วงมาก เพราะมูลเหตุที่ทำให้พวกเขาใช้บริการกู้เงินด่วนเหล่านี้เพราะค่านิยมฟุ้งเฟ้อ และติดหนี้พนันฟุตบอล หลายรายเมื่อหาเงินใช้หนี้ไม่ได้ต้องยอมขายตัว หรือเข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติด เป็นปัญหาสังคมที่น่าวิตกมาก”ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าว