xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามรื้อกฎเรียนต่อสกัดดอกเตอร์โหล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ผู้จัดการรายวัน --- นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ปริญญาเอก (Doctorate) ในเวียดนามจะไม่ได้มาง่ายๆ ผู้เรียนจะต้องมุมานะเรียนอย่างหนัก เพื่อให้มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศเสียก่อน จึงจะสามารถรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตแขนงต่างๆ ได้

กฎระเบียบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรม ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค.นี้ ออกมาเพื่อปรับปรุงการเรียนระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตตามสถาบันการศึกษาในประเทศ ซึ่งผู้ที่เรียนสำเร็จแล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดคุณภาพ มีความรู้ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศ

ต่อไปนี้ปริญญาเอกแขนงสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ ยังจะต้องเป็นเชี่ยวชาญที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอีกด้วย การเข้าเรียนระดับปริญญาเอกจะไม่เป็นแบบ “เข้าง่าย-ออกง่าย” อีกต่อไป

นางเหวียนถิเลเฮือง (Nguyen Thi Le Huong) รองอธิบดีกรมบัณฑิตศึกษา กระทรวงศึกษาธิการฯ บอกกับหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟง (Tien Phong) หรือ “ผู้บุกเบิก” ว่า กฎระเบียบใหม่จะใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551-2552 ซึ่งเริ่มเดือน ก.ย.ปีนี้ เป็นต้นไป

ตามระเบียบใหม่ แม้ว่านักศึกษาไม่ต้องสอบเอนทรานซ์ แต่ผู้ที่สำเร็จระดับปริญญามหาบัณฑิต หรือปริญญาโทแล้ว จะต้องมีผลงานอย่างน้อย 1 ชิ้น ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ และผ่านการทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษจากสถาบันชั้นนำ ได้คะแนนตามที่กำหนด จึงจะสมัครเรียนต่อระดับปริญญาเอกได้

ในระยะเวลา 3 ปีที่เรียนปริญญาเอกนั้น นักศึกษาจะต้องขวนขวายส่งผลงานตีพิมพ์ให้ได้ อีกครั้งไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุมัติให้จบการศึกษาและที่เล่าเรียนมาทั้งหมดก็จะสูญเปล่า

วารสารต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐาน อาจจะค้นดูชื่อได้จากที่ Thomson Collegiate Institute รวบรวมเอาไว้ ซึ่งในนั้นมีวารสารในประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ รวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีวารสารของเวียดนามอยู่ในนั้นแม้แต่ฉบับเดียว

อีกทางหนึ่งกระทรวงศึกษาธิการฯ กำลังจัดทำรายชื่อวารสารต่างประเทศที่มีชื่อเสียงและสูงด้วยมาตรฐาน ราว 10,000 ฉบับพร้อมเว็บไซต์ ให้นักศึกษาได้เลือก

ระเบียบใหม่จึงได้กำหนดให้ผู้ที่จะเข้าเรียนระดับปริญญาเอก จะต้องทดสอบภาษาอังกฤษ TOEFL ได้คะแนน 450 หรือ IELTS ได้ระดับ 5.0 ขึ้นไปอีกด้วย คุณสมบัติข้อนี้กำลังจะส่งผลกระทบในวงกว้างถึงผู้ที่เรียนสำเร็จปริญญาโทหลายสาขาวิชาที่อ่อนภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติด้านภาษานี้ได้รับการยกเว้นให้แก่ผู้สำเร็จปริญญาโทบางแขนงสาขา เช่น สาขาความมั่นคง-การป้องกันประเทศ และสาขาวิจิตรศิลป์

นางเฮือง กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มีมหาบัณฑิตเวียดนามประมาณ 3% เท่านั้น ที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารต่างแดน ยกเว้นผู้สำเร็จปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ กับ เคมี ที่มักจะมีผลงานตีพิมพ์เกือบ 100% ออกตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ

ตามระบบการศึกษาในปัจจุบัน นักศึกษาจะใช้เวลา 2 ปี ในการเรียนให้จบหลักสูตรปริญญาโท และอีก 3 ปีสำหรับศึกษาต่อหลักสูตรปริญญาเอก

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรได้ให้เวลาถึง 3 ปีในการเรียนให้สำเร็จเป็นมหาบัณฑิต และ 7 ปีสำหรับการศึกษาให้สำเร็จปริญญาเอก เมื่อพ้นระยะเวลานี้แล้วหากยังไม่สามารถแสดงผลงานที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ ก็จะถูกตัดสิทธิ์มิให้จบหลักสูตร

“การเรียนก็เหมือนกับการลงทุนที่มีความเสี่ยง ผู้เรียนจะต้องรับความเสี่ยงนั้น.. ไม่เช่นนั้นรัฐก็จะต้องส่งเสียค่าเล่าเรียนให้แก่นักศึกษาที่เรียนไปโดยที่ไม่มีวันจบ” เจ้าหน้าที่ทางการเวียดนาม กล่าว

สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกภายใต้กฎระเบียบเดิมอยู่ ก็ยังสามารถเล่าเรียนภายใต้ระบบเดิมได้ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีไปจนถึงปี 2553

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้นี้ กล่าวว่า กฎระเบียบใหม่นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการของรัฐบาลที่จะผลิตบุคลากรที่เรียนจบปริญญาเอกให้ได้ 20,000 คน ในระยะเวลา 10 ปี เพื่อไปเป็นอาจารย์สอนสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ ซึ่งเวียดนามได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อการนี้

ผู้ที่ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ส่วนใหญ่ถูกส่งไปศึกษาในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ

กระทรวงศึกษาธิการฯ เวียดนาม กำลังทำการสำรวจศึกษาข้ออ่อนด้อยของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ หลังจากได้รับการร้องเรียนจากบรรดานายจ้างว่า นักศึกษาที่เรียนสำเร็จปริญญาตรีออกไปแล้ว ไม่สามารถทำงานในสาขาที่ศึกษาเล่าเรียนมาได้ ส่วนใหญ่จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมก่อน

ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่กระทรวงศึกษาธิการฯ ได้ควบคุมการสอบปลายภาคของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศอย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการทุจริต ทำให้มีนักเรียนที่สอบปลายภาคได้ประมาณ 60% เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องให้สอบใหม่หรือให้เรียนซ้ำชั้น

การแก้ไขปัญหาคุณภาพทางการศึกษากำลังดำเนินไป ทั้งในระดับล่าง คือ ระดับผู้เรียนและระดับบน คือ ระดับผู้สอนกับหลักสูตร ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปใหม่อย่างหมดจด

ดุษฎีบัณฑิต ซึ่งเป็นคณะกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิแห่งชาติผู้หนึ่ง เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ในบรรดาผู้มีตำแหน่งศาสตราจารย์กว่า 1,000 คน ทั่วประเทศ มีเพียงประมาณ 20% เท่านั้นที่มีคุณสมบัติถึงเกณฑ์มาตรฐาน

นอกจากนั้น ศาสตราจารย์กับผู้ช่วยศาสตราจารย์จำนวนมากที่สำเร็จปริญญาเอกในประเทศ แต่มีระดับความรู้เท่ากับระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต่างประเทศเท่านั้น
<CENTER><FONT color=#3366FF> ดร.เหวียนถิซเวืองงา (Nguyen Thi Duong Nga) แห่งมหาวิทยาลัยการเกษตรกรุงฮานอย (ซ้าย) นำทีมดึงข้อมูลออกจากแบบสอบถาม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งต่างๆ ต้องมีการติดตามผลการสำรวจการมีงานทำของบัณฑิตที่เรียนจบ และนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหาทางปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของประเทศ </FONT> </CENTER>
เวียดนามมีประชากร 85 ล้านคน ราว 2 ใน 3 เป็นคนหนุ่มสาววัยทำงาน แต่ก็ได้รับการร้องเรียนจากนักลงทุนต่างชาติ ว่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ขาดประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์อย่างเร่งด่วน

สื่อของทางการรายงานก่อนหน้านี้ ว่า การขาดทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพกำลังส่งผลกระทบต่อแขนงการลงทุนหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีที่ต้องใช้ระดับวิศวกร โปรแกรมเมอร์ และเจ้าหน้าที่เทคนิค จำนวนมาก

บริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังลงทุนในเวียดนาม และพบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพนี้ รวมทั้งบริษัท อินเทล (Intel Corp) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น