xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก คมช.

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งแปรสภาพมาจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แถลงยุติบทบาทแล้วเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ภายหลังจากที่ได้ประกาศชื่อนายกรัฐมนตรี

ผู้แถลงเป็นพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ รักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มิใช่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ แต่เมื่อเกษียณราชการแล้วก็หันไปเอาดีด้วยการเป็นรองนายกรัฐมนตรี

ลาออกจากประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เสียอย่างนั้นแหละ

พล.อ.อ.ชลิต ได้แถลงถึงเหตุผลของการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งรัฐบาล องค์กรอิสระต่างๆ และร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และได้มีรัฐบาลปัจจุบัน (นายสมัคร สุนทรเวช)

พล.อ.อ.ชลิต ยืนยันว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารนิติบัญญัติ และตุลาการ แม้จะมีเสียงเรียกร้องอยู่บ้าง ทั้งนี้เพื่อให้การคืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างเรียบร้อยและเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่างบนพื้นฐานของความถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ และเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

และยอมรับว่าภาพรวมยังไม่สามารถทำให้เกิดผลสูงสุดตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ทุกประการ เพราะหลายปัญหาต้องใช้เวลา กลไก ทั้งกฎหมาย และองค์กรรัฐ ตลอดจนความร่วมมือจากหลายฝ่ายทำให้ไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น

พล.อ.อ.ชลิต กล่าวอีกว่า ณ วันนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นไปตามกรอบเวลาและเจตนารมณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

สำหรับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จะหมดภาระไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 กลับไปเป็นกองทัพของชาติและประชาชน ถือเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลมีภาระหน้าที่เพื่อพิทักษ์เอกราชอธิปไตย และความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ และผลประโยชน์ของชาติ ภายใต้กฎหมายและวินัย

เป็นน้ำเสียงที่ปราศจากอาการฮึกห้าวเหิมหาญต่างไปจากคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 อย่างสิ้นเชิง

ก็จะให้ฮึกห้าวเหิมหาญได้อย่างไร เมื่อประเทศไทยย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ก่อนหน้าวันที่ 19 กันยายน 2549 อีกครั้งแล้ว ต่างกันก็แต่ไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งอยู่ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

หากเป็นมือตีนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำการแทนเท่านั้นเอง

ไล่เรียงไปตั้งแต่นายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ นายจักรภพ เพ็ญแข ฯลฯ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ควรจะต้องเอาปี๊บคลุมหัวเดินเสียด้วยซ้ำ มิใช่กลับบ้านไปนอนเลียแผลอย่างเดียว

หรือไม่ก็ควรจะหลบลี้หนีหน้าไปจากยุทธภพนี้เสียเลย มิใช่หาทางเอาตัวรอดด้วยการยกหูโทรศัพท์ไปขอความเห็นอกเห็นใจจากนายใหม่ตัวจริงที่ลอนดอน อย่างที่ทำมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้

เคยหวังว่าการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศด้วยวิธีการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเราจะเข้าสู่วิถีของประชาธิปไตย มีปัญหาก็ใช้เหตุใช้ผล ใช้วิถีของประชาธิปไตยเข้าตัดสินชี้ขาด ก็คงจะเป็นแต่เพียงความหวังที่จะไม่มีทางเป็นจริงขึ้นเลย เพราะสภาพของบ้านเมืองของเราไม่แตกต่างไปจากก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 สักเท่าไหร่เลย

ซ้ำจะเลวร้ายกว่าเสียด้วยซ้ำ

แต่ท่านนายพลที่กุมกำลังทั้งหลายที่มีอำนาจ มีบารมีอย่าได้คิดเรื่องปฏิวัติรัฐประหารอีกเลย

บทเรียนของคณะจำอวด บัง เชิญยิ้ม ที่ทำเอาไว้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น ก็เจ็บปวดพออยู่แล้ว จึงอย่าได้มีใครคิด และทำให้เป็นการซ้ำเติมประเทศไทย และประชาชนคนไทยอีกในกาลข้างหน้า

ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเอง!

การปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะทหารล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกทุกวันนี้เป็นโลกของประชาธิปไตย เป็นโลกของประชาชน!

เราเห็นชัดเจนแล้วตั้งแต่ครั้งพล.อ.สุจินดา คราประยูร และก็มาเห็นอีกครั้งเมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

ใช้กำลังยึดอำนาจอาจจะสำเร็จ แต่ก็จะอยู่ได้เพียง 1 ปี ต้องประกาศออกมาชัดเจนว่าจะคืนอำนาจ จะจัดการเลือกตั้ง จะมีรัฐธรรมนูญ

จะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานอย่าง สฤษดิ์ ถนอม ประภาส หรืออย่างทหารบางกลุ่มในบางประเทศใกล้ๆ บ้านเราไม่ได้หรอกครับ

เพราะฉะนั้นท่านที่กุมกำลังและอาวุธทั้งหลายอย่าได้คิดการณ์นี้อีก แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเลวร้ายอย่างไร จะมีการคอร์รัปชันขนาดไหน จะใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกันอย่างไร จะเอาวงศาคณาญาติมาเป็นใหญ่เป็นโต หรือจะเอาตำแหน่งแห่งที่ไปตอบแทนบุญคุณกันอย่างไร

หรือจะรู้สึกว่าถูกหยามหยันขนาดไหน ก็ต้องปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของประชาชน

หาไม่แล้วก็จะต้องมาบอกกล่าวกับประชาชนอีกว่า ด้วยกรอบเวลาอันจำกัด หรือด้วยตัวบทกฎหมายหรือด้วยวิถีทางของประชาธิปไตย

เพราะการเปลี่ยนแปลงอำนาจจากคุณภาพหนึ่งสู่อีกคุณภาพหนึ่ง ไม่ใช่งานที่จะต้องทำด้วยความสงบ เรียบร้อย สมานฉันท์ หรือด้วยสันถวไมตรีอันดี

หากเป็นเรื่องจริงจังถึงเลือดถึงเนื้อ และชีวิต

ขอให้เป็นเรื่องของประชาชนตัดสินใจเถอะ!
กำลังโหลดความคิดเห็น