xs
xsm
sm
md
lg

ศาลกับการคุ้มครองสิทธิ ‘ผู้บริสุทธิ์’

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

คดีตำรวจตระเวนชายแดนจับผู้ต้องหายัดยาเสพติด ซึ่งมีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นจำนวนมาก จนทำให้ขณะนี้สังคมเกิดความหวั่นไหวต่อกลไกกระบวนการยุติธรรมในแง่ที่ว่า การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ “เจ้าพนักงานตำรวจ” ผู้สามารถทำการ “จับ ค้น และคุมขัง” คนทำผิดได้นั้น ได้ปฏิบัติไปภายใต้เงื่อนไขกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่

เงื่อนไขกฎหมายที่ว่านั้นก็คือ การให้ตำรวจมีอำนาจจับกุมคุมขังเพื่อ “ป้องกัน” และ “ปราบปราม”ผู้กระทำความผิดมิให้ก่อเหตุร้ายขึ้นในสังคม

แต่...ต้องปฏิบัติโดยไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ฉะนั้นหากไม่มีการดูแลสอดส่องการปฏิบัติตามกฎหมายของตำรวจที่ดีก็อาจก่อให้เกิดการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสม

“ศาลยุติธรรม” สถาบันซึ่งอยู่ในฐานะผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวจึงเน้นให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของ “ผู้ต้องหา” หรือ “จำเลย” เพื่อมิให้ประชาชนถูกคุกคามจากการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานของรัฐโดยมิชอบหรือโดยไม่เหมาะสม อีกนัยหนึ่งถือได้ว่ากระบวนการทางศาลเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไร้หลักเกณฑ์

การตรวจสอบถ่วงดุลดังกล่าวทำโดยเมื่อมีคดีมาศาล ศาลจะมีหลักการให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาทั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา

โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไว้ในมาตรา 29 บัญญัติว่า “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้…”

และมาตรา 32 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้

การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้”

นัยรัฐธรรมนูญดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต่อหน้าที่ของ “ศาล” ในการเป็นฝ่ายตรวจทานการใช้อำนาจดำเนินคดีอาญากับประชาชนของตำรวจผู้มีอำนาจจับกุมคุมขัง

ดังนั้นก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิด เจ้าพนักงานจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ ถ้าหากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากหลักประกันตามรัฐธรรมนูญแล้ว การทำหน้าที่ของศาล ๆ เองก็มีหลักประกันทางอาญาให้กับประชาชนในเรื่อง “ หลักการรับฟังพยานหลักฐานของศาล”

กล่าวคือ ในการรับฟังพยานหลักฐานหากศาลเห็นว่าหลักฐานนั้นยังไม่เพียงพอต่อการลงโทษผู้กระทำความผิด หรือ พยานหลักฐานที่นำสืบมาทั้งหมดยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่ กฎหมายกำหนดให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ตามหลักกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 ที่บัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

ดังตัวอย่าง “คำพิพากษา” ในคดียาเสพติดที่ตกเป็นข่าวใหญ่โต จำเลยเป็นหญิงสาวผู้ถูกจับกุมเนื่องจากตำรวจตรวจพบยาบ้า 800 เม็ดในกระเป๋าสะพาย จำเลยให้การว่าไม่รู้เรื่องและที่ไปปรากฎตัวในที่เกิดเหตุนั้นก็เพราะได้รับการติดต่อจากผู้ที่ยืมเงินไปให้มารับเงินคืนเท่านั้น แต่เจ้าพนักงานกลับไม่รับฟังและควบคุมตัวจำเลยไว้ อีกทั้งได้กระทำการทารุณกรรมต่างๆนานา เพื่อให้จำเลยยอมรับว่ามีส่วนรู้เห็นกับการค้ายาบ้าจริง แต่จำเลยยังยืนยันว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ และจากคำให้การของเจ้าพนักงานที่ตอบข้อถามของทนายจำเลยได้ความว่า ไม่ได้มีการล่อซื้อยาบ้าจากจำเลยแต่อย่างใด โดยเจ้าพนักงานยังเบิกความต่อไปว่าที่จำเลยเดินทางมาในที่เกิดเหตุในวันนั้นก็เพราะเจ้าพนักงานได้ให้ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งที่ถูกจับจากการล่อซื้อยาบ้าติดต่อจำเลยให้มารับเงินค่ายาบ้าโดยไม่ปรากฏว่าจะมีการนำยาบ้ามามอบให้กันแต่อย่างใด

ในการรับฟังตาม “หลักการรับฟังพยานหลักฐาน” ของศาลคดีนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วพบข้อน่าระแวงแสดงพิรุธว่า จำเลยจะนำยาบ้าจำนวนมากถึง 800 เม็ด ซุกซ่อนไว้ในกระเป๋าสะพายตามที่โจทก์อ้างได้อย่างไร ประกอบกับยาบ้าเป็นสิ่งของผิดกฎหมายโดยสภาพและยิ่งมีจำนวนมากการลักลอบจำหน่ายแจกจ่ายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องน่าจะกระทำเป็นความลับและซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิดมิใช่เพียงเอามาเก็บไว้ในกระเป๋าสะพาย อีกทั้งจากการเบิกความยังไม่ชัดเจนว่าเจ้าพนักงานผู้ใดเป็นผู้ค้นพบยาบ้าในกระเป๋าสะพายของจำเลย นอกจากนั้นพยานหลักฐานอีกหลายอย่าง เช่น เมื่อจับกุมตัวจำเลยแล้ว ไม่ได้มีการลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานแต่อย่างใด และจากรูปคดีรับฟังได้ว่ามีการนำตัวจำเลยไปขยายผลการจับกุมและสืบสวนข้ามท้องที่ในหลายท้องที่ด้วยกันแต่กลับไม่มีการแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจเจ้าของท้องที่นั้นๆให้ทราบแต่อย่างใด ดังนั้นการจับกุมตัวจำเลยรวมทั้งการสืบสวนจับกุมผู้ค้ายาเสพติดดังกล่าวจึงน่าสงสัยว่ากระทำโดยชอบหรือไม่

ประกอบกับคำให้การของจำเลยฟังได้ว่าเอกสารที่จำเลยรับสารภาพตามบันทึกคำให้การ ไม่ได้ทำขึ้นในวันที่จำเลยถูกจับแต่ถูกจัดทำขึ้นภายหลัง จึงน่าสงสัยว่าเหตุใดเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมมิได้ทำบันทึกจับกุมหลังจากจับกุมตัวจำเลยแต่กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 3 วัน จึงมีพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะตรวจค้นพบยาบ้าของกลางได้จากจำเลยจริงหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีข้อพิรุธ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาทั้งหมดยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จึงพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยและพิพากษายกฟ้อง และวันนี้จำเลยดังกล่าวเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่ร้องเรียนการจับกุมโดยไม่ชอบที่โด่งดัง
จะเห็นว่าคำพิพากษานี้เป็นคดีตัวอย่างที่ “ศาลยุติธรรม”ในฐานะที่เป็น “ผู้ตรวจสอบ” การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงาน จนทำให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้บริสุทธิ์ได้จริง เพราะหากศาลไม่พิพากษาเช่นนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่า ปริมาณของกลางที่โจทก์กล่าวอ้างอาจทำให้จำเลยผู้บริสุทธิ์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 นั้นหากมีโทษจำคุกและปรับ กฎหมายกำหนดให้ศาลลงโทษ “จำคุกและปรับ” ด้วยเสมอ

เหนืออื่นใดในหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลมีแนวปฏิบัติสืบเนื่องกันมาว่า “ปล่อยผู้กระทำความผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ที่บัญญัติว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานของรัฐจะมีอำนาจกระทำการตามกฎหมายก็ตาม แต่การใช้อำนาจดังกล่าวต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อดุลและคานการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายตุลาการเพื่อป้องกันมิให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับกรรมในสิ่งที่ตนเองมิได้กระทำลงไป ซึ่งการตรวจสอบการใช้อำนาจจะมีประสิทธิภาพสูงสุด หาก “หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย” ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์รับผิดชอบ โปร่งใส และตรวจสอบได้ไม่เลือกปฏิบัติและกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง อีกทั้งประชาชนให้ความร่วมมือช่วยกันสอดส่องดูแลให้ข้อมูลแก่ทางราชการเมื่อพบเห็น “การใช้อำนาจโดยมิชอบ” และร่วมกันปลูกฝังคุณธรรมให้แก่คนรุ่นใหม่เพื่อให้สังคมมีความสงบเรียบร้อยโดยไม่ผลักภาระการรับผิดชอบให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น