xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งขั้นต้นสหรัฐฯไปไหนต่อ หลังจากฝ่าด่าน‘ซูเปอร์ทิวสเดย์’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ – หลังผ่านพ้น “ซูเปอร์ทิวสเดย์” เมื่อวันอังคาร(5)ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเลือกตั้งขั้นต้นพร้อมกันตามมลรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ โดยที่มีจำนวน “ผู้แทน” (delegate) เข้าร่วมประชุมใหญ่พรรค ให้ช่วงชิงกันถึงราวครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ทว่าผลกลับปรากฏออกมาว่า ยังไม่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนไหนไม่ว่าของพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน ซึ่งผงาดขึ้นมาเป็นผู้ชนะอย่างชัดเจนแน่นอนแล้ว สถานการณ์หลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร อาจบ่งบอกได้จากคำถามคำตอบดังต่อไปนี้

**การเลือกตั้งขั้นต้น “ซูเปอร์ทิวสเดย์” ที่ผ่านมา ใครเป็นผู้ชนะ

ไม่มีใครชนะอย่างหมดจดเด็ดขาด ในฝ่ายพรรครีพับลิกันนั้น ผู้ที่ชนะมากที่สุด คือ วุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ซึ่งมีชัยได้ผู้แทนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีให้ชิงชัยกันใน “ซูเปอร์ทิวสเดย์” รวมทั้งชนะในมลรัฐใหญ่ๆ ทุกสนามด้วย

แต่ ไมก์ ฮักคาบี อดีตผู้ว่าการมลรัฐอาร์คันซอ ที่เคยมีอาชีพเป็นนักเทศน์ของศาสนาคริสต์นิกายแบ๊ปทิสต์ ก็ได้คะแนนนิยมอันแข็งแกร่งอย่างน่าประหลาดใจจากมลรัฐทางภาคใต้ จึงกลายเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้แมคเคนได้รับชัยชนะอย่างเต็มเหนี่ยว

ยิ่งในฝั่งพรรคเดโมแครตด้วยแล้ว ต้องถือว่าตัวเก็งทั้งสองต่างแบ่งแต้มไปฝ่ายละเกือบจะเท่าๆ กัน

ฮิลลารี คลินตัน สามารถอ้างว่าได้ชัยชนะเป็นชิ้นเป็นอัน ด้วยการมีชัยในมลรัฐใหญ่ๆ อย่าง นิวยอร์ก, แคลิฟอร์เนีย, นิวเจอร์ซีย์ อีกทั้งกำลังทำคะแนนได้อย่างเข้มแข็งในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของฝ่ายเดโมแครต

ทว่า บารัค โอบามา ก็อ้างได้เหมือนกันว่าคว้าชัยได้มากมลรัฐกว่า และการที่เขาได้รับความนิยมแข็งขันอย่างน่าประหลาดใจในมลรัฐซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการชี้ขาดชัยชนะในระดับทั่วประเทศ อย่างเช่น มิสซูรี และ มินนิโซตา ก็เป็นการสาธิตให้เห็นว่า เขาน่าจะมีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดพวกผู้ออกเสียงอิสระได้มากกว่า อันเป็นเรื่องที่มีความหมายยิ่งยวดเมื่อถึงขั้นการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับทางฝ่ายพรรครีพับลิกัน

และเนื่องจากเดโมแครตใช้วิธีแบ่งสรรผู้แทนให้แก่ผู้สมัครตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่เขาหรือเธอได้รับจากการเลือกตั้งขั้นต้น ไม่ใช่วิธีใครชนะก็ได้ผู้แทนไปทั้งหมด ดังนั้น จำนวนผู้แทนซึ่งมีให้ชิงชัยกันในซูเปอร์ทิวสเดย์ จึงถูกแบ่งสรรให้แก่คลินตันและโอบามา ฝ่ายละใกล้เคียงกันมาก

**การเลือกตั้งขั้นต้นครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่สนามไหน

เวลานี้ความสนใจจะพุ่งไปที่การเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารีของฝ่ายเดโมแครตในมลรัฐใหญ่ๆ ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้ อย่างเช่น แมริแลนด์ และ เวอร์จิเนีย (12 กุมภาพันธ์), วิสคอนซิน (19 กุมภาพันธ์), และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทกซัส และ โอไอโอ (4 มีนาคม)

โอบามาได้รับความนิยมสูงในเวอร์จิเนีย ขณะที่คลินตันก็ได้รับการคาดหมายว่าจะทำได้สวยในโอไฮโอ ซึ่งมีผู้ออกเสียงเป็นคนงานอุตสาหกรรมอยู่มาก

เทกซัส ซึ่งเป็นมลรัฐใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯ จะเป็นรางวัลใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามคว้ามา โดยที่มลรัฐนี้มีผู้ออกเสียงที่เป็นพวกเชื้อสายละตินอเมริกา (ซึ่งมักนิยมคลินตัน) และพวกเชื้อสายแอฟริกา (ซึ่งมักเลือกโอบามา) อยู่เป็นจำนวนมากทั้งคู่

หลังจากนั้นแล้ว เพนซิลเวเนีย (22 เมษายน) และ นอร์ทแคโรไลนา (6 พฤษภาคม) คือ 2 มลรัฐขนาดใหญ่สุดท้ายที่จะมีให้ช่วงชิงกัน

หากยังคงไม่มีใครได้ชัยชนะอย่างชัดเจน การแข่งขันก็อาจต้องไปตัดสินกันในการประชุมใหญ่ระดับประเทศของพรรคเดโมแครต ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่เมืองเดนเวอร์ ในเดือนสิงหาคม โดยพวกผู้แทนแบบไม่มีสัญญาผูกพัน หรือที่เรียกกันว่า “super delegate” (ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค, สมาชิกรัฐสภา, ตลอดจนผู้ว่าการมลรัฐ) จำนวนรวมทั้งสิ้น 792 คน ก็อาจจะเป็นผู้แสดงบทบาทชี้ขาด

**เป็นที่คาดหมายกันหรือไม่ว่าผู้สมัครคนไหนจะถอนตัวออกจากการแข่งขันไปอีก

ในฝ่ายเดโมแครต ทั้งคลินตันและโอบามาไม่น่าจะมีใครยอมแพ้ ในเมื่อผลการแข่งขันยังคู่คี่กันถึงขนาดนี้

ทางฝั่งรีพับลิกัน มิตต์ รอมนีย์ ถือว่าบอบช้ำ แต่การที่เขานิยมใช้ทรัพย์สมบัติส่วนตัวมาหาเสียงอยู่แล้ว ก็หมายความว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการเป็นนักลงทุนในอดีตผู้นี้ ยังมีเงินทองเพียงพอที่จะเดินหน้ารณรงค์ต่อไป

ขณะเดียวกัน ไมก์ ฮักคาบี ก็อยู่ในฐานะดีขึ้นมากที่จะต่อรองกับแมคเคน ผู้ซึ่งจำเป็นต้องเข้าให้ถึงชาวพรรครีพับลิกันเคร่งศาสนาคริสต์ ที่ดูจะหนุนฮักคาบีอย่างไม่โอนเอน

ถ้าทั้งสองคนทำความตกลงกันได้ เช่น ฮักคาบียอมรับที่จะอยู่ในทีมเดียวกับแมคเคน ก็น่าจะทำให้การต่อสู้ของฝ่ายรีพับลิกันยุติลงได้

**หากต้องแข่งขันต่อสู้กันเองไปนานๆ จะเป็นผลเสียต่อฝ่ายเดโมแครตหรือไม่

ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากชี้ว่า การต่อสู้อย่างเต็มกำลังเป็นเวลายาวนาน เพื่อให้ได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต อาจกลายเป็นการบั่นทอนความหวังของผู้สมัครของพรรคได้ เมื่อถึงขั้นตอนต้องไปต่อสู้กับพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายนนี้

ถึงแม้คลินตันและโอบามาต่างระดมเงินบริจาคมาใช้หาเสียงได้คนละมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ใช้เงินทองเหล่านี้เหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว ในสนามการเลือกตั้งเบื้องต้นทั่วประเทศอันดุเดือดเข้มข้น กระทั่งล่าสุด คลินตันต้องออกมายอมรับว่าในเดือนมกราคมต้องควักเงินตัวเองออกมาใช้ หาเสียงไปก่อน 5 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น การต่อสู้ระหว่างตัวเก็งทั้งสองที่ดำเนินไปอย่างขมขื่นมากขึ้น ก็อาจทำลายโอกาสที่ทั้งคู่จะกลับมาปรองดองกัน

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันเลือกตั้งขั้นต้นอย่างคู่คี่เช่นนี้ ก็กลายเป็นการระดมให้ผู้ออกเสียงของฝ่ายเดโมแครต เกิดความสนใจกับการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี มากยิ่งกว่าในอดีต โดยที่ชาวพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่บอกว่า ไม่ว่าคลินตันหรือโอบามา พวกเขาก็ยอมรับได้ทั้งคู่

ขณะเดียวกัน สำหรับแมคเคนแล้ว จะได้ประโยชน์ด้วยหากสามารถใช้ช่วงเวลาที่การรณรงค์ของฝั่งรีพับลิกันน่าจะปิดฉากไปก่อน ไประดมเร่งหาเงินบริจาค ซึ่งยังน้อยกว่าพวกตัวเก็งของเดโมแครตอย่างมากมาย ตลอดจนไปหาทางเข้าให้ถึงฐานเสียงรีพับลิกันหัวอนุรักษนิยมจัด

-------------------------------------------------------------------------
**สนามเลือกตั้งขั้นต้นที่สำคัญต่อจากนี้ไป

วอชิงตัน: 9 กุมภาพันธ์
เวอร์จิเนีย: 12 กุมภาพันธ์
แมริแลนด์: 12 กุมภาพันธ์
วิสคอนซิน: 19 กุมภาพันธ์
โอไฮโอ: 4 มีนาคม
เทกซัส: 4 มีนาคม
เพนซิลเวเนีย: 22 เมษายน
นอร์ทแคโรไลนา: 6 พฤษภาคม
-----------------------------------------------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น