xs
xsm
sm
md
lg

ศึกฮิลลารี-โอบามา แมคเคน-รอมนีย์ ยังน่าจะยื้ออีกนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - การแข่งขันเพื่อเป็นผู้สมัครของพรรคไปช่วงชิงทำเนียบขาวตอนปลายปีนี้ เมื่อถึงวันพุธ(30ม.ค.)ที่ผ่านมาอาจจะชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะสามารถทราบผลในเร็ววัน และไม่ว่าพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน พวกตัวเก็งซึ่งเหลืออยู่ยังคงเปิดวิวาทะอันขมขื่นเผ็ดร้อนตอบโต้กัน ก่อนหน้าจะถึง "ซูเปอร์ทิวสเดย์" วันอังคารหน้า(5ก.พ.) ที่จะมีการเลือกตั้งขั้นต้นตามมลรัฐต่างๆ มากมายที่สุด
การถอนตัวออกไปของ จอห์น เอดเวิร์ดส์ ทางฝั่งเดโมแครต และ รูดอล์ฟ จูลิอานี ทางฟากรีพับลิกัน ทำให้จำนวนผู้สมัครที่อยู่ในระดับตัวเก็ง ลดถอยลงเหลือเพียงแค่พรรคละ 2 คน ทว่าแทบไม่ได้ทำให้พลังความเคลื่อนไหวของการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี เกิดความเปลี่ยนแปลงถึงขั้นพื้นฐาน ซึ่งนั่นหมายถึงยังจะมีการฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วง ตลอดจนน่าจะยืดเยื้อด้วย

เวลานี้ในทางพรรคเดโมแครต บารัค โอบามา และ ฮิลลารี คลินตัน กำลังไล่เบียดคู่คี่กันมาก โดยคว้าชัยไปฝ่ายละ 2 มลรัฐใน 4 มลรัฐแรกซึ่งจัดการเลือกตั้งขั้นต้นไปก่อนแล้ว ขณะที่การอำลาเวทีของเอดเวิร์ดส์ได้รับการวิเคราะห์ว่า น่าจะเพิ่มแรงให้กระแสโหวตต่อต้านคลินตัน และช่วยโอบามาในมลรัฐทางตอนใต้ซึ่งเอดเวิร์ดส์มีฐานเสียงอยู่พอสมควร

"คนที่เลือกเอดเวิร์ดส์ส่วนใหญ่จะแตกไปหาโอบามา พวกเขาต่างวางตัวเป็นผู้สมัครซึ่งต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงกันทั้งคู่" แดน สตรอเธอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายเดโมแครตบอก

ส่วนในฟากรีพับลิกัน จอห์น แมคเคน ดูจะเป็นฝ่ายเหนือกว่า มิตต์ รอมนีย์ เล็กน้อย หลังจากที่เขาได้ชัยชนะสำคัญที่มลรัฐฟลอริดาในวันอังคาร(29) สำหรับผู้สมัครคนที่สาม คือ อดีตผู้ว่าการมลรัฐอาร์คันซอ ไมก์ ฮักคาบี นั้นยังคงหวังที่จะแย่งคะแนนจากมลรัฐจากภาคใต้สัก 2-3 มลรัฐ

แม้จูลิอานีไม่เคยพัฒนาฐานเสียงได้เป็นกอบเป็นกำในพื้นที่ใดๆ แต่การตัดสินใจถอนตัวและประกาศหันมาสนับสนุนแมคเคนของเขา ก็น่าจะช่วยวุฒิสมาชิกมลรัฐแอริโซนาผู้นี้ ในฐานะที่ทั้งคู่ต่างมีความแข็งแกร่งคล้ายคลึงกันในประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงแห่งชาติ และมีมนตร์เสน่ห์แบบเดียวกันต่อพวกรีพับลิกันส่วนที่มีแนวคิดสายกลาง

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ "ซูเปอร์ ทิวสเดย์" วันอังคารที่จะถึงนี้(5) ยิ่งมีความสำคัญมาก เพราะในวันนั้น มลรัฐต่างๆ ถึง 22 มลรัฐกำหนดจัดการเลือกตั้งขั้นต้นกันในวันอังคาร(5) รวมถึงมลรัฐใหญ่ๆ ที่ได้รับจัดสรรโควตาผู้แทนที่จะไปเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของพรรคเป็นจำนวนมาก อาทิ แคลิฟอร์เนีย, นิวยอร์ก, อิลลินอยส์, นิวเจอร์ซีย์ และผู้สมัครที่กำลังชิงชัยเพื่อเป็นตัวแทนของพรรคไปแข่งขันชิงทำเนียบขาวในวันที่ 4 พฤศจิกายน ต่างก็ต้องเร่งวิ่งรอกในช่วงเวลาไม่ถึงสัปดาห์ที่เหลืออยู่ เพื่อชัยชนะที่จะสามารถรวบรวมผู้แทนไปประชุมใหญ่ เอาไว้ในมือตนเองให้ได้มากที่สุด

เมื่อเปรียบเทียบตัวผู้สมัครในฝ่ายเดโมแครต คลินตันเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างมาก เนื่องจากผู้ออกเสียงต่างรู้จักเป็นอย่างดีอยู่แล้วตั้งแต่ที่เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ ผลโพลก็ชี้ว่าเธอมีคะแนนนำในมลรัฐจำนวนมาก รวมทั้ง 3 ใน 4 มลรัฐใหญ่สุด คือ แคลิฟอร์เนีย, นิวเจอร์ซีย์, และนิวยอร์ก โดยที่เธอเป็นวุฒิสมาชิกของมลรัฐหลังสุดด้วย ขณะที่โอบามาได้คะแนนนำที่อิลลินอยส์ ซึ่งเขาก็เป็นวุฒิสมาชิกของมลรัฐนี้เช่นกัน

โอบามาซึ่งชนะการแข่งขันในสนามมลรัฐไอโอวา และ เซาท์แคโรไลนา หลังจากหาเสียงที่อยู่ที่นั่นเป็นแรมเดือน กลับจะต้องแนะนำตัวเองให้ผู้ออกเสียงในมลรัฐต่างๆ จำนวนมากในซูเปอร์ ทิวสเดย์ ได้รู้จักและชื่นชอบภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว เรื่องนี้เขาเองก็ยอมรับว่าตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ยุทธศาสตร์การหาเสียงของโอบามา จึงมุ่งเน้นที่มลรัฐที่จัดการเลือกตั้งในแบบคอคัส อันได้แก่ โคโลราโด, แคนซัส, มินเนโซตา, และ อะแลสกา

ทั้งนี้ การเลือกตั้งขั้นต้นนั้น แต่ละมลรัฐเป็นผู้กำหนดวิธี ดังนั้น จึงมีความแตกต่างกันอยู่มาก ทว่าพอจำแนกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ คอคัส และ ไพรมารี โดยที่ไพรมารีนั้น ผู้ออกเสียงจะไปลงคะแนนครั้งเดียวทั่วทั้งมลรัฐ ขณะที่คอคัสอยู่ในลักษณะการจัดประชุมผู้สนใจ แล้วเลือกผู้แทนไปร่วมการประชุมพรรคในระดับบนๆ ขึ้นไป ตั้งแต่ระดับชุมชน ไปถึงเคาน์ตี และระดับมลรัฐ

นอกจากนั้น จากการได้คะแนนเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำจากผู้ออกเสียงผิวดำที่เซาท์แคโรไลนา ก็ทำให้เขามีช่องทางได้ฐานเสียงในมลรัฐทางภาคใต้ซึ่งมีประชากรเป็นคนผิวดำอยู่มากเช่นกัน อาทิ จอร์เจีย, แอละแบมา, และเทนเนสซี

สำหรับทางฝั่งรีพับลิกันซึ่งคู่แข่งขันสำคัญ ได้แก่ แมคเคน กับ รอมนีย์ ฝ่ายแรกนั้นได้เปรียบตรงที่ผู้คนรู้จักกันกว้างขวางอยู่แล้ว ทว่าเขาก็ด้อยกว่าฝ่ายหลังในเรื่องทรัพยากรทางการเงิน เนื่องจากรอมนีย์นั้นเป็นอดีตนักการเงินที่ทำธุรกิจจนร่ำรวย และควักเงินตัวเองจำนวนหลายสิบล้านดอลลาร์เพื่อการรณรงค์หาเสียง

โฆษกของรอมนีย์แถลงย้ำสำทับในจุดนี้ว่า การที่ต้องกระจายหาเสียงในมลรัฐจำนวนมากเช่นนี้ จุดที่จะได้เปรียบกันก็คือ ใครมีองค์กรหาเสียงและทรัพยากรดีกว่า

ทางด้านฮักคาบี แสดงท่าทีพอใจที่จะช่วงชิงเพียงมลรัฐซึ่งเขามีโอกาส อาทิ มลรัฐทางภาคใต้ที่มีประชากรเคร่งศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น