พิษณุโลก – ชลประทานคำนวณผิด ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนแควน้อยหลังสร้าง แต่ยืนยันเป็นเรื่องที่ดี หลังพบสามารถกักเก็บได้มากกว่าเดิมถึง 40% จาก 700 กว่าล้าน ลบ.ม.เป็น 1,080 ล้าน ลบ.ม.เชื่อมั่นสามารถช่วยบรรเทาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ทั้งปีหลังสร้าง พร้อมมั่นใจผู้รับเหมาเคลียร์งานทันเส้นตาย 6 ส.ค.51 แน่แม้ล่าสุดก่อสร้างล่าช้า 6%จากแผนก็ตาม
นายชูชาติ ฉุยกลม ผู้อำนวยการโครงการเขื่อนแควน้อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยถึงงานก่อสร้างหัวเขื่อนแควน้อย บริเวณหมู่ 4 ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ว่า คืบหน้าไปแล้ว 80% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนงานเล็กน้อย ขณะที่ตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมปี 2551
นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีการคำนวณผิดในเรื่องของปริมาณน้ำกักเก็บ โดยตามข้อมูลใหม่ของกรมชลประทาน น้ำในเขื่อนแควน้อย เมื่อมีการกักเก็บจะรองรับน้ำได้ 1,080 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่เคยคำนวณไว้ว่าจะกักเก็บได้เพียงประมาณ 769 ล้านลูกบาศก์เมตรเศษ เพิ่มขึ้นถึง 311 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นเรื่องดีแต่ที่ผิดพลาด เพราะใช้ตัวเลขเก่าเมื่อปี 2525 ในการสำรวจที่เป็นลักษณะป่าทึบ
กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ กองอุทกวิทยา กรมชลประทานได้คำนวณใหม่จากพื้นที่จริง สภาพท้องอ่างโล่งเตียน จึงทราบว่า เขื่อนแควน้อยกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น สูงกว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีระดับกักเก็บกว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เขื่อนแควน้อยคงใช้งบประมาณเท่าเดิม และยืนยันว่า น้ำจะไม่ล้นท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ที่ไม่ได้เวนคืน(รับเงินชดเชย) หรือ พื้นที่ริมขอบอ่างแน่นอน
“เป็นเรื่องดี ได้ช่วยพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากจนถึงโครงการเจ้าพระยา และหากเป็นฤดูแล้ง ก็ช่วยบรรเทาภาคเหนือตอนล่าง ให้พื้นที่ชลประทานมีน้ำใช้ทั้งปีได้”
นายระพินทร์ สุวรรณรัตน์ หัวหน้าโครงการก่อสร้าง 1 สำนักก่อสร้าง 2 โครงการเขื่อนแควน้อย ระบุว่า งานก่อสร้างหัวเขื่อนแควน้อย ล่าช้ากว่าแผนการก่อสร้างประมาณ 6% ซึ่งถือว่าเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้รับเหมาได้ขยายเวลางานเมื่อปีที่ผ่านมา 180 วัน ทำให้สัญญางานก่อสร้างสิ้นสุดวันที่ 6 สิงหาคม 2551 หากก่อสร้างไม่เสร็จ ก็จะถูกปรับวันละ 3.5 ล้านบาท ซึ่งคิดว่า ผู้รับเหมาคงไม่คุ้มแน่
สำหรับปริมาณน้ำท่า หรือปริมาณน้ำทั้งปีในลำน้ำแควน้อยเท่ากับ 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นเพียงแค่ 1 ปีหลังเขื่อนเสร็จ จะกักเก็บน้ำเพียงปีเดียวก็จะเต็ม สำหรับปริมาณน้ำเขื่อนที่กักเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้นจะช่วยพื้นที่เกษตรกรรมในเขื่อนเจ้าพระยา และช่วงฤดูแล้งท้ายเขื่อนได้ยาวขึ้น
นับจากนี้ไปโครงการเขื่อนแควน้อยก็จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย เช่น แก่ง 9 แควที่สร้างขึ้นแทนแก่งเจ็ดแคว, สะพานที่บ้านแก่งคันนาอยู่ท้ายเขื่อน ซึ่งคนในพื้นที่สัญจรอยู่เดิม แต่ถูกน้ำท่วม ได้สร้างใหม่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ หากคนในพื้นที่ต้องการ น่าจะพัฒนาน้ำตก เช่น น้ำตกถ้ำหมีเป็นจุดดึงดูด และเชื่อว่าหากจังหวัดพิษณุโลกพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว จะสามารถเชื่อมจังหวัดเพชรบูรณ์-บ้านทรัพย์ไพวัลย์ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ไปจนถึงเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้ด้วย
ด้านปัญหาเวนคืนที่ดิน โครงการเขื่อแควน้อยได้จ่ายเงินชดเชยไปหมดแล้ว เหลือเพียงแค่ 2%เท่านั้น ในเรื่องของเงินชดเชยที่ต้องไปจ่ายทายาทหรือลูกคนใด ซึ่งเป็นปัญหาครอบครัวในพื้นที่เท่านั้น