xs
xsm
sm
md
lg

บางเรื่องดีๆ ในจีน

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

พักหลังๆ มานี้ หากใครที่ติดตามข่าวสารจากเมืองจีนแล้ว มักจะได้ยินแต่ข่าวที่ไม่สู้ดีของจีนอยู่เสมอ เช่น การผลิตสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน นิสัยใจคอและกิริยามารยาทที่หยาบกระด้าง ความไร้น้ำจิตน้ำใจ หรือปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

แต่จีนก็เหมือนกับชาติอื่นๆ ในโลก ที่เมื่อมีเรื่องไม่ดีก็ย่อมมีเรื่องดีให้ได้ยินได้ยลกันบ้าง ยิ่งช่วงที่เขียนบทความชิ้นนี้กำลังอยู่ในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิหรือตรุษจีนด้วยแล้ว การพูดถึงเรื่องดีๆ กันบ้างย่อมถือว่าเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น แต่ถ้าจะพูดถึงเรื่องดีๆ ทั้งที ก็อยากจะหยิบยกเรื่องที่ให้ข้อคิดแก่ไทยเราบ้าง ส่วนใครที่ควรจะเป็นฝ่ายนำไปคิดแล้วนำไปปรับใช้นั้น ขอให้พิจารณากันเอาเอง

และเรื่องที่หยิบยกมาบอกเล่าต่อไปนี้มีอยู่ 2-3 เรื่องด้วยกันต่อไปนี้...

เรื่องแรก จะว่าเป็นข่าวรับปีใหม่ 2008 เลยก็ว่าได้ เมื่อรัฐบาลจีนได้ประกาศคุมเข้มห้างสรรพสินค้าหรือห้างร้าน และซูเปอร์มาร์เก็ตงดแจกถุงพลาสติกแก่ลูกค้า ทั้งนี้จะมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2008 เป็นต้นไป หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษตามที่กำหนด (ในข่าวไม่ได้บอกว่าจะลงโทษอย่างไร แต่เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในขั้นปรับ) โดยใครที่ต้องการถุงพลาสติกจากแหล่งที่ตนซื้อสินค้าก็ให้ซื้อเอาเองจากแหล่งนั้น ซึ่งก็หมายความว่า ทางห้างร้านควรเตรียมถุงพลาสติกเอาไว้ขายแก่ลูกค้าของตนด้วย

ทั้งนี้ ในประกาศยังระบุด้วยว่า ทางห้างร้านจะต้องติดป้ายราคาถุงพลาสติกเอาไว้ นอกเหนือไปจากการกำหนดขนาดและมาตรฐานของถุงพลาสติกว่าจะต้องมีความหนาบางแค่ไหน ที่เหลือนอกนั้นก็คือ การเสนอแนะและรณรงค์ให้ชาวจีนลดการใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง โดยให้หันมาใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าแทน ในแง่นี้ก็หมายความว่า นับจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป หากใครจะต้องใช้ถุงพลาสติกด้วยการซื้อแล้ว ก็แสดงว่า ใครคนนั้นหากไม่ลืมนำถุงผ้าหรือตะกร้ามาจากบ้าน ก็คงต้องมีความจำเป็นหรืออยากได้ถุงพลาสติกมาใช้จริงๆ

อันที่จริงแล้วมาตรการดังกล่าวเหมือนกับเป็นการบังคับกรายๆ แต่ชาวจีนก็ไม่ต่างกับชาวไทยตรงที่ว่า แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าถุงพลาสติกก่อปัญหามลภาวะอย่างไร แต่การหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้อย่างเด็ดขาดนั้นก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะมีบ่อยไปที่เราเข้าไปในห้างร้านโดยไม่ได้เตรียมการมาก่อน แต่เข้าไปด้วยความจำเป็นอันเร่งด่วนหรือนึกขึ้นมาได้ว่าเราขาดหรือกำลังต้องการสินค้าหนึ่งๆ อย่างทันทีทันใด หากพ้นไปจากภาวะที่ว่าแล้วก็คือ ความเคยชิน

คือเราเคยชินจนติดเป็นนิสัยที่จะไม่พกถุงผ้าหรือตะกร้าไปห้างร้าน ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่จะพกพาไปได้สบายๆ (เช่นมีรถส่วนตัวขับ) และเราเคยชินที่จะได้รับถุงพลาสติกฟรีๆ จากห้างร้าน เรียกได้ว่า ชินจนเคยตัว และเจ้าความเคยตัวนี้เอง ที่ต่อให้รู้ทั้งรู้ถึงเพทภัยของถุงพลาสติกว่าร้ายแรงแค่ไหน แต่ข้อที่รู้นั้นก็กระตุ้นต่อมสำนึกอนุรักษ์ได้น้อยมาก ด้วยว่าความเคยตัวมีอำนาจครอบงำเหนือกว่าไปแล้ว และด้วยความเคยตัวเช่นนี้เองที่ทำให้มีชาวจีนกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และหาว่ารัฐบาลปัดความรับผิดชอบมาให้ประชาชน (ด้วยการบังคับให้ซื้อถุงพลาสติก)

แต่ใครจะมองยังไงก็ตาม ผมยังเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องดี เพราะผมมองจากเจ้าความเคยตัวที่ว่าไปแล้วเป็นหลัก ซึ่งผมคิดยังไงก็คิดไม่ออก ว่านอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วยังจะมีมาตรการใดที่จะได้ผลมากไปกว่านี้ ทั้งนี้ผมควรกล่าวด้วยว่า ที่ผมคิดเช่นนั้นผมคิดก่อนที่จีนจะประกาศมาตรการดังกล่าวด้วยซ้ำ และที่คิดได้ก็เพราะได้ดูรายการ “จุดเปลี่ยน” ทางช่อง 9 อสมท ที่รายงานเรื่องนี้เมื่อปีกลายได้สนุกดี แต่ชวนให้วิตกได้ไม่น้อย

เรื่องต่อมา ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดมานานนับสิบปีแล้ว นั่นคือ การจำกัดการใช้รถจักรยานยนต์หรือที่เราเรียกจนติดปากว่า มอเตอร์ไซค์

ใครที่เคยไปเมืองจีนหากสังเกตให้ดีๆ แล้วจะพบว่า เมืองจีนมีรถมอเตอร์ไซค์น้อยมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ นั้น หากใครได้เห็นมอเตอร์ไซค์ก็อาจถือได้ว่าเป็นบุญตากันเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะจีนเขาจำกัดการใช้มอเตอร์ไซค์ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดอย่างยิ่ง เริ่มจากที่ว่า คนที่ต้องการมอเตอร์ไซค์นั้นก่อนอื่นจะต้องตอบให้ได้ก่อนว่ามีไปทำไม ซึ่งแน่นอนว่า ความต้องการที่ว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับอาชีพก่อน และผู้ที่ต้องการซื้อจะต้องพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่เห็นด้วยว่ามันจำเป็นจริงๆ ด้วย หาไม่แล้วก็ยากที่จะได้มา ไม่ว่าจะมีเงินมากแค่ไหนก็ตาม

หลังจากพิสูจน์จนเจ้าหน้าที่ยอมรับแล้ว ผู้ซื้อจะต้องยอมรับต่อไปว่า มอเตอร์ไซค์ที่ตัวกำลังจะซื้อนั้นมันแพงกว่าประเทศอื่นๆ แค่ไหน และตัวจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีแก่รัฐหลังจากซื้อไปแล้วสูงแค่ไหน ซึ่งก็ไม่มีประเทศไหนทำกันอีกเช่นกัน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อรู้ล่วงหน้าดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้มาสมใจอยากแล้ว ผู้ซื้อ (ที่ตอนนี้เป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์แล้ว) ยังจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทางการกำหนดไว้อย่างเข้มงวดกวดขันอีกเรื่องหนึ่งด้วย นั่นคือ ความเร็ว ที่จะถูกจำกัดเอาไว้ไม่ให้เร็วเกินเท่าไรเวลาที่ขับขี่อยู่ในเมือง กับเวลาที่ขับขี่อยู่ในชานเมืองหรือในชนบท หากฝ่าฝืนมีสิทธิ์ถูกลงโทษเอาได้ง่ายๆ และโทษหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่อยากจะได้รับก็คือ การยึดมอเตอร์ไซค์ที่ตนซื้อมายากแสนยากและแพงแสนแพงมาเป็นของรัฐ

จะเห็นได้ว่า คนที่มีมอเตอร์ไซค์ในเมืองจีนนั้น หากไม่นับเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภทที่จำเป็นต้องมีไว้ปฏิบัติงาน (เช่น ตำรวจ ตำรวจจราจร หรือเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เป็นต้น) แล้ว หากไม่เพราะความจำเป็นก็คงเพราะรักมอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ

ด้วยมาตรการเช่นนี้ คนจีนจึงซื้อมอเตอร์ไซค์กันน้อย คนเมืองหากจะซื้อมา การขับขี่ก็รัดตัวจนแทบเสี่ยงไปทุกภาวะ คือเรียกว่าห้ามเผลอบิดคันเร่งเกินที่กำหนดเป็นอันขาด ส่วนคนในชนบทซึ่งน่าจะมีโอกาสได้มอเตอร์ไซค์ง่ายกว่าคนในเมืองนั้น ฐานะทางเศรษฐกิจก็กลับไม่เอื้อที่จะได้มาตามโอกาสนั้น

เรียกได้ว่า สำหรับเมืองจีนแล้วใครก็ตามที่คิดจะมีมอเตอร์ไซค์มาขี่เล่นๆ นั้นเป็นอันเลิกคิดได้ แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองที่เมืองจีนจึงไม่มีปัญหาแก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่งแบบเมืองไทย และไม่มีปัญหาแก๊งโจรมอเตอร์ไซค์ที่เที่ยวฉกชิงวิ่งราวหรือขว้างของแข็งใส่รถที่กำลังวิ่งมา (ไม่ว่าจะเพื่อหวังชิงทรัพย์หรือเพื่อความคะนองสะใจก็ตาม ต่างล้วนสะท้อนปัญหาทางจิตวิทยาของสังคมไทยได้ไม่น้อย) ผมไม่รู้ว่าจีนได้วิสัยทัศน์นี้มาจากไหน จึงได้ออกมาตรการที่เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองที่มีขนาดใหญ่และประชากรมหาศาลอย่างที่เห็น จนไม่ต้องมาเจอปัญหาที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์อย่างที่ไทยเราเจอ

แต่กระนั้นผมก็อยากจะเดาว่า วิสัยทัศน์ที่ว่านั้น ส่วนหนึ่งจีนจะได้จากไทยด้วยไม่มากก็น้อย

เรื่องสุดท้าย (ของบทความชิ้นนี้ ไม่ใช่ของจีน) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้เอง กล่าวคือ จีนก็เหมือนกับฝรั่งหรือไทย ที่เมื่อถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาสหรือสงกรานต์แล้วก็เตรียมตัวกลับบ้านเกิดของตนแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะจีนกับฝรั่งนั้นดูเหมือนว่าจะเตรียมการนานกว่าคนไทยด้วยซ้ำไป

แต่จะด้วยภาวะโลกร้อนหรือธรรมชาติลงทัณฑ์หรือไรไม่ทราบ เทศกาลตรุษจีนปีนี้จีนกลับต้องเจอกับหิมะที่ถล่มตกมาเต็มบ้านเต็มเมือง ขนาดมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ที่อย่างเก่งได้แต่หนาวในหน้าหนาวไม่เคยมีหิมะตก มาปีนี้ก็กลับมาตก จากสภาพเช่นนี้ทำให้สถานีขนส่งในเมืองใหญ่หลายเมืองเป็นอัมพาตไปหลายวัน โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟนั้น มีผู้โดยสารตกค้างนับหมื่นไม่สามารถกลับบ้านของตนได้ และต้องรอเป็นเวลาหลายวัน

ลองคิดดูว่า วันแรกมีผู้ตกค้างเท่าไร วันต่อมาๆ และต่อมา ก็จะมีผู้ตกค้างมาสมทบมากขึ้นอีกเท่าไร แค่นึกถึงจำนวนก็ดูไม่จืดแล้ว ยังมิพักต้องจินตนาการที่หลับที่นอนในยามหนาว (ที่หนาวมากกว่าปกติ) ที่กิน หรือที่ขับถ่าย ฯลฯ และทั้งหมดนี้ก็โทษใครไม่ได้ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ๆ

แต่ในเรื่องแย่ก็มีเรื่องดีจนได้ นั่นคือ ที่สถานีรถไฟเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ในขณะที่ผู้โดยสารจำนวนมากที่ตกค้างอยู่ในที่นั้นยังไม่รู้อนาคตว่าจะได้กลับบ้านเกิดหรือไม่นั้น จู่ๆ นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า ของพวกเขาก็แหวกฝูงชนเข้ามายืนอยู่กลางวงล้อม พร้อมกันนั้นก็พูดใส่โทรโข่งที่ถือมา (แสดงว่ามาแบบกะทันหันจนไม่ทันเตรียมเครื่องเสียงที่มีประสิทธิภาพกว่านี้) กล่าวขอโทษประชาชนทั้งที่อยู่ที่สถานีนั้นและที่อื่นๆ

โดย เวิน วิจารณ์ตนเองที่ไม่สามารถเตรียมแก้ปัญหาเอาไว้ล่วงหน้า จนทำให้ประชาชนกลับไปพบหน้าพ่อแม่ญาติมิตรพี่น้องช้ากว่าที่ตั้งใจเอาไว้ (ซึ่งในธรรมเนียมจีนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก) พร้อมกับสัญญาว่าจะรีบเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด

ก็อย่างที่ผมบอกไปแล้วนะครับ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติเหมือนกับเรื่องสิวบนใบหน้า ที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ ฉะนั้น หากแม้น เวินเจียเป่า ไม่กล่าวขอโทษ ผมก็พอเข้าใจได้ ขอเพียงเขาช่วยเร่งแก้ปัญหาให้เร็วๆ ผมก็พอใจแล้ว แต่การที่ เวิน กล่าวขอโทษด้วยนั้น แม้ผมจะไม่ใช่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ผมก็อดรู้สึกดีๆ ไปกับชาวจีนด้วยไม่ได้

เป็นความรู้สึกดีๆ ที่ผมไม่เคยได้รับจากผู้นำประเทศของผมมานานหลายปีดีดักแล้ว ทั้งที่หลายต่อหลายเรื่องเห็นอยู่ชัดๆ ว่าเป็นความผิดความบกพร่องของพวกเขา ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น