xs
xsm
sm
md
lg

คาดค่าเงินบาทมีสิทธิหลุด 33 ทุบสถิติสูงสุดรอบ 11 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสิกรไทยคาด แนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า มีสิทธิหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าอาจอยู่ในระดับ 32.80-33.10 บาท/ดอลลาร์ เหตุมีแรงขายจากผู้ส่งออก โดยสถานการณ์ค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าค่าเงินบาทได้ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 11 ปี หลังจากลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 โดยเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2551 ที่ระดับ 33.02-33.05 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้เป็น ผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจโลก

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14-18 ม.ค.) เงินบาทในประเทศ (Onshore) แข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกและนักลงทุนอื่นๆ ตลอดจนความแข็งแกร่งของเงินเยน

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเป็นการแทรกแซงของ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับในวันศุกร์ เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.02 (ตลาดเอเชีย) เทียบกับระดับ 33.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 มกราคม 2551)

ส่วนสัปดาห์หน้า (21-25 ม.ค) เงินบาทในประเทศอาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.80-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ควรจับตาได้แก่ แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก การเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติ สัญญาณการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย และความคืบหน้าทางการเมือง ตลอดจนทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งจะขึ้นกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสองเดือน ธ.ค. ทั้งนี้ ตลาดการเงินสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันจันทร์ เนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง เป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ โดยยังถูกกดดันจากรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 4/50 ที่ย่ำแย่เกินคาดของสถาบันการเงินสหรัฐฯ หลายแห่ง และจากแถลงการณ์ต่อคณะกรรมาธิการสภาคองเกรสของนายเบน เบอร์นานเก ประธานเฟดว่า เฟดพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างจริงจังตามความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า การแข็งค่าของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เป็นเพราะผู้ส่งออกเทขายเงินเหรียญสหรัฐจำนวนมาก ส่งผลให้ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถึงกับออกมาวอนให้ผู้ส่งออกชะลอการขายเงินเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยกันรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท

ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ออกมาจี้ ธปท.ให้ช่วยดูแลเรื่องเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดกว่าที่ผ่านมา พร้อมเตือนธนาคารพาณิชย์ว่า อย่าร่วมวงเก็งกำไรค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายสำนักยังคาดว่า แนวโน้มค่าเงินบาทช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หลังมีแรงกดดันที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง

**ตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก

แม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้น แต่ตลาดหุ้นไทยกลับดิ่งตกลงหนัก และผันผวนทั้งสัปดาห์ตามตลาดหุ้นโลก เป็นผลมาจากการประกาศผลประกอบการขาดทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกแค่ 3 บริษัท ปาเข้าไป 1 ล้านล้านบาท คือ ซิตี้ กรุ๊ป อิงค์ ประกาศผลขาดทุน 9.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.25 แสนล้านบาท) ส่วนเมอร์ริล ลินช์ ขาดทุน 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.27-4.91 แสนล้านบาท) ธนาคารยูบีเอส ขาดทุน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.27 แสนล้านบาท) จากปัญหาหนี้เสียอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ของสหรัฐ

**กนง.ตรึงดอกเบี้ยที่ 3.25%

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ไว้ที่ 3.25% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เรื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นหลังราคาสินค้า และราคาน้ำมันยังมีท่าที่ว่าจะขยับราคาสูงขึ้น

ประกอบกับการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ ยังมีผลช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และการบริโภค ช่วยชะลอการถดถอยของเศรษฐกิจได้ แม้ว่า กนง.จะเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์ทางด้านการเมือง แต่ก็ถือว่ายังเปราะบาง เพราะการเมืองยังไม่นิ่ง ส่งผลให้นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น ขณะที่ผู้บริโภคยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เพราะไม่มั่นใจกับสถานการณ์ในอนาคต

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามผลกระทบ ต่อไป ได้แก่ เรื่องของราคาน้ำมัน ที่จะส่ง ผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะถ้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูง เชื่อว่าจะมีผลให้ กนง. ยังคงตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไป

**คลังหัวหมุน ถกค่าเช่าท่อก๊าซ

สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังมีการพิจารณาเรื่องการคิดค่าเช่าท่อก๊าซของ ปตท. อยู่หลายตลบ แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดยังไม่ชัดเจน เช่น ประมาณการรายได้จาก ค่าผ่านท่อในอนาคต รายได้ของ 5 ปีที่ผ่านมาของ ปตท.ยังไม่ชัดเจน จากเบื้องต้นที่ เคยหารือกันจนได้ข้อสรุปว่า รายได้จากค่าผ่านท่อในส่วนที่จะโอนให้กระทรวงการคลังคิดเป็น 5.7 พันล้านบาท มีทีท่าว่าอาจต้องลดลงอีก เนื่องจาก ปตท.แจ้งว่า ตัวเลขที่ ส่งมาให้เดิมนั้นผิดพลาด นอกจากนี้ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ยังออกมากล่าวถึงแนวคิดเรื่องการนำค่าเช่าท่อก๊าซที่เก็บจาก ปตท. โอนคืนให้กับผู้บริโภค เพื่อลดค่าก๊าซ และค่าไฟฟ้า ว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรายได้ที่เก็บจากค่าเช่าทั้งหมดต้องนำส่งเข้ากระทรวงการคลัง ไม่สามารถนำหรือโอนออกไปจ่ายให้ผู้อื่นได้

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ต้อง จับตาผลการหารือระหว่างกระทรวงการคลัง และ ปตท. เพราะต้องเร่งประชุมเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกันให้ได้ เพื่อรายงานให้ที่ประชุม ครม.ขิงแก่ นัดสุดท้ายได้พิจารณาในวันที่ 22 ม.ค.นี้

**ธนาคารแห่ปรับค่าบัตรเอทีเอ็ม

ด้านสมาคมธนาคารไทย เรียกประชุมสมาชิกชมรมเอทีเอ็ม เพื่อหารือเรื่องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมทำบัตรเอทีเอ็มจาก 50 บาท เป็น 100 บาท และค่าธรรมเนียมรายปีจาก 100 บาท เป็น 200 บาท

ทั้งนี้ ได้ประสานความร่วมมือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยติดตามดูแลไม่ให้ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมที่เอาเปรียบประชาชน ถึงแม้ว่าการขึ้นค่าธรรมเนียมของธนาคารจะไม่ต้องขออนุญาต จาก ธปท. แต่ธนาคาร จะต้องแสดงภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ชัดเจน จึงจะขึ้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น