xs
xsm
sm
md
lg

6 พรรคแห่ "ประชานิยมเฟส 2" มฌ.เบรกสมัครทูลเกล้าฯ ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

6 พรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันใช้นโยบายประชานิยมบริหารประเทศ ไม่สนเสียงวิจารณ์ คุยฟุ้งฟื้นความเชื่อมั่น แต่พอถูกถามเรื่องดับไฟใต้กลับอ้ำอึ้ง อ้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เอาไว้พูดวันหลัง "โฆสิต" เตือนประชานิยมต้องทำให้ถูกทาง ถ้าแจกมากก็ต้องมารีดภาษีจากชนชั้นกลางมาก "สมัคร"เริ่มให้สัมภาษณ์สื่อนอก อ้างนั่งควบกลาโหมแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่น เผยทูลเกล้าฯรายชื่อครม. 2 ก.พ.เป็นอย่างช้า ด้าน"ประมวล" ยื่นหนังสือเบรกสมัครทูลเกล้าฯ ครม. ระบุ "อนงค์วรรณกับพวก" ทำผิดข้อบังคับพรรค

เมื่อเวลา10.00 น. วานนี้ (1ก.พ.) ที่โรงแรมสุโขทัย มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายบริหารประเทศ โดยในส่วนของพรรคพลังประชาชน มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค นายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรค นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ส่วนพรรคชาติไทยมี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรค พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ส่วนพรรคเพื่อแผ่นดินมี นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง นายภัทรศักดิ์ โอสถานุเคาระห์ รองเลขาธิการพรรค นายปาน พึ่งสุจริต กรรมการบริหารพรรค ขณะที่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาส่ง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรค ร.ต. ประพาส ลิมปพันธ์ รองหัวหน้าพรรค นายเกษมสันต์ วีระกุล รองหัวหน้าพรรค ส่วนพรรคประชาราช มีนางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคประชาราช สำหรับพรรคมัชฌิมาธิปไตย มี นางอนงค์งวรรณ เทพสุทิน เลขาธิการพรรค และ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รองหัวหน้าพรรค เข้าร่วม

**พรรคเล็กร่วมแห่ประชานิยม

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานในที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมว่า การหารือเป็นไปด้วยดี ทุกพรรคต่างนำนโยบายมาร่วมกันหารือ และพบว่านโยบายของแต่ละพรรคก็คล้ายกัน ควรที่จะนำมาร่วมพิจารณาวางเป็นนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการทำงานของรัฐบาล เพราะนโยบายบางอย่างของบางพรรคนั้นอาจยังไม่ครอบคลุมในบางส่วน เมื่อนำมารวม 6 พรรคแล้ว จึงสมบูรณ์ขึ้น ฉะนั้นตนมั่นใจว่านโยบายรัฐบาลจะสามารถทำให้ประชาชนสมหวังกับการร่วมรัฐบาลของทั้ง 6 พรรค การพัฒนาประเทศจะสะดวกและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จากนี้จะเตรียมการตั้งกรรมการร่วม 6 พรรค และหลังโปรดเกล้าฯ จะประชุม ครม. ครั้งแรก จากนั้นจะไปทำนโยบายที่จะแถลงต่อสภาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงหาเสียงนั้นพรรคพลังประชาชนประกาศว่า จะนำนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยกลับมาใช้ นายสมชาย กล่าวว่า นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย และไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลชุดใดๆ ที่ผ่านมานั้น หากสิ่งใดที่ดีและประชาชนชื่นชอบก็จะนำมาใช้ วันนี้เรามาคิดนโยบายร่วมกัน และอาจจะตรงกับนโยบายของพรรคไทยรักไทย ที่ประชาชนชอบส่วนหนึ่ง แต่อีกหลายเรื่องเป็นของใหม่ และมาจากหลายพรรค ฉะนั้นจึงไม่ได้คำนึงว่า นโยบายรัฐบาลจะมาจากพรรคใดโดยเฉพาะ เพราะที่ประชุมคิดว่า หากนโยบายนั้นทำให้ประชาชนมีความสุข ก็ถือว่าดี และจะดำเนินการ

ส่วนระบุชัดได้หรือไม่ว่า นโยบายครั้งนี้คือ "ประชานิยมเฟส 2 " ของพรรคไทยรักไทย นายสมชาย กล่าวว่า วันนี้มีหลายนโยบาย และไม่สะดวกที่จะพูดทั้งหมด แต่นโยบายที่เด่นๆ คือ 30บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล การกู้เงินเพื่อการศึกษา หวยบนดิน

ด้านนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า นโนบายใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชน รัฐบาลจะสานต่อเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ปรากฏนั้น ก็จะนำเสนอในนโยบายรัฐบาลชุดนี้ด้วย

"วันนี้ขอเว้นไม่ลงรายละเอียดในนโยบายต่างๆ เพราะมีเพียงนักการเมืองที่มาหารือ หาก ครม. แต่งตั้งคณะกรรมการฯแล้ว จะมีส่วนต่างๆ อาทิ เอกชน สภาพัฒน์ และข้าราชการจากกระทรวงต่างๆ จะร่วมพิจารณานโยบายรัฐบาลด้วยกัน คาดว่าน่าจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ในการร่างนโยบาย หากเสร็จเมื่อใด นายกฯ ก็จะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา"

** นโยบาย 3 จว.ใต้ยังอึกอัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ จะเป็นอย่างไร นายสมชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน และคงพูดตอนนี้ไม่ได้ แต่ยืนยันว่ามีนโยบายแน่นอน ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อแผ่นดินเคยหาเสียงว่า จะไม่เอานโยบายประชานิยมนั้น นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า เมื่อ 6 พรรคมาประชุมร่วมกัน ก็เห็นด้วยกับร่างนโยบายรัฐบาลในภาพกว้าง ส่วนรายละเอียดนั้นต้องหารืออีกครั้ง และนำมาดูว่านโยบายใดเป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายของ 6 พรรคที่มาหารือนั้น ในภาพกว้างทุกพรรคเสนอว่า เป็นการนำนโยบายของพรรคพลังประชาชนมาหารือ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม และทุกพรรคก็เห็นชอบที่จะให้นโยบายของพรรคพลังประชาชนเป็นหลักในนโยบายรัฐบาลชุดนี้

**มฌ.ยื่นนโยบายโคล้านตัวให้พิจาณา

นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นนัดแรกที่พรรคร่วมมารับฟังนโยบาย ส่วนที่จะนำนโยบาย 42 ข้อ ของพรรคมัชฌิมาธิปไตยมาใช้ด้วยหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า นโยบายที่เป็นประโยชน์ อาทิโคล้านตัว ควรที่จะนำมาใช้อย่างยั่งยืน แต่ก็ต้องนำนโยบาย ที่มีการพูดคุยอย่างเปิดใจในวันนี้ไปเข้าที่ประชุมของพรรคเพื่อพิจารณาอีกครั้งด้วย

**ตือ-ป้าอุ-เจ๊เป้า-นพดลทำประวัติ รมต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม ได้มีการนำเอกสารที่อยู่ในซองสีน้ำตาลจำนวน 2 ซอง โดยซองแรกเป็นเรื่องของข้อเสนอและความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยให้แต่ละพรรคกรอกว่า มีนโยบายอะไรที่เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะนำเสนอต่อพรรคพลังประชาชน

ส่วนซองที่ 2 นั้น เป็นใบสำหรับกรอกประวัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยผู้ที่กำลังกรอกเอกสารอยู่ และผู้สื่อข่าวเห็นนั้น อาทิ นางอุไรวรรณ เทียนทอง นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน และนายนพดล ปัทมะ

**ประชานิยมต้องทำให้ถูกทาง

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาลว่า ความเห็นส่วนตัวแล้วการแจกเงินให้กับประชาชนไม่ใช่ผิดทั้งหมดหากไม่ทำลายโอกาสการพึ่งพาตนเองของประชาชน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ทุนการศึกษาเหล่านี้ดี แต่ถ้าแจกเงินให้กับประชาชนไปใช้จ่ายในทางที่ผิดแล้วไปทำลายโอกาสที่จะพึ่งตนเองได้ จะทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาและการเมืองเองก็จะไม่เข้มแข็ง เพราะสุดท้ายประชาชนจะไปเรียกร้องรัฐบาลในการขอความช่วยเหลือทุกด้าน

"ผมและนายกฯสุรยุทธ์ จุลานนท์ ย้ำเสมอว่า ขอฝากแผนพัฒนาชุมชนหรือโครงการอยู่ดีมีสุขเพราะรัฐบาลนี้หวังให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ เพราะเชื่อว่าประเทศที่จะพัฒนาประชาชนจะต้องพึ่งตนเองมีรายได้สูงยกระดับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางให้มากขึ้นประเทศจึงจะเข้มแข็ง" นายโฆสิตกล่าว

**แจกมากก็รีดภาษีชนชั้นกลางมาก

นายโฆสิตยังกล่าวว่า การแจกเงินให้กับประชาชนแล้วทำให้เขาพึ่งพาตนเองไม่ได้ก็จะเป็นภาระกับภาครัฐบาลในการที่จะต้องไปจัดสรรงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ และท้ายสุดก็จะหนีไม่พ้นกับการไปรีดภาษีกับชนชนกลางผู้ซึ่งเป็นผู้ที่จ่ายภาษีมากที่สุดให้กับภาครัฐ เมื่อนานไปชนชั้นเหล่านี้ก็จะยิ่งไม่พอใจและก็จะทำให้เกิดการแตกแยก ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้วางพื้นฐานไว้อย่างดีแล้ว รัฐบาลใหม่เข้ามาทุกอย่างก็พร้อมหมดซึ่งกระบวนการทำงานที่ผ่านก็มุ่งที่จะพัฒนาทุกด้านที่ยั่งยืน

"เวลานี้ กระแสของการให้ปลามีมาก แต่ใครก็แล้วแต่ไปสอนให้ตกปลา ก็ถูกมองว่าโง่ รัฐบาลที่ผมมาช่วยงานท่านนายกฯ ตอนนั้นผมเองก็ไม่ได้มีตัวเลือกอะไรมาก เครื่องยนต์ 4 ตัวติดอยู่เครื่องเดียวคือ ส่งออก การบริโภค การลงทุน ความมั่นคงการเมืองไม่มีเลย แต่รัฐบาลใหม่มาพร้อมกว่า ผมก็ให้กำลังใจนะ"นายโฆสิตกล่าว

**"วิจิตร"ติงประชานิยมต้องมีเงินพอ

นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ว่า หากได้คนที่มีพื้นฐานและเข้าใจเรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี ก็จะทำให้งานต่างๆ เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง ซึ่งตนได้มอบหมายให้ข้าราชการประจำทำหน้าที่บรรยายสรุปงานต่างๆ ภายในกระทรวงให้รมว.ศธ.คนใหม่ได้รับทราบ และมีความเชื่อมั่นว่าข้าราชการใน ศธ. โดยเฉพาะผู้บริหาร 5 องค์กรหลักจะเข้าใจแนวทางในการทำงานที่ตนได้วางไว้ และจะสามารถสานต่อได้ ขณะเดียวกันตนก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลทั้งหมดกับผู้ที่จะเข้ามาทำงานคนใหม่

ส่วนการที่รัฐบาลชุดใหม่อาจจะดำเนินนโยบายประชานิยมเหมือนที่ผ่านมานั้น ตนเห็นว่าเรื่องการศึกษา ไม่ใช่นโยบายประชานิยมเหมือนกับเรื่องเศรษฐกิจ แต่นโยบายทางด้านการศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเสมอภาค และการให้โอกาสอย่างทั่วถึง หากจะนำนโยบายประชานิยมมาใช้กับการศึกษา ตนก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่สิ่งสำคัญคือ จะต้องมั่นใจว่านโยบายประชานิยมที่ประกาศไปนั้น จะมีทรัพยากรที่จะนำมาใช้อย่างเพียงพอ เพราะหากมีทรัพยากรไม่เพียงพอก็อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป

เพราะฉะนั้นนโยบายประชานิยมจึงไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่เป็นเรื่องความพอเหมาะความพอควร และพอดี ซึ่งในขณะที่ตนบริหาร ศธ.ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยคำนึงว่าโครงการใดเป็นโครงการประชานิยม แต่จะดำเนินการในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์เป็นสำคัญ

**เรียนฟรีถึงป.ตรีถ้าทำได้ขออนุโมทนา

สำหรับนโยบายให้ประชาชนเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายวิจิตรกล่าวว่า แนวโน้มคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องใช้เงินเยอะ แต่ก็ถือเป็นนโยบายที่ดี ถ้าหากทำได้จะขออนุโมทนาด้วยอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันแค่การให้เรียนฟรี 12 ปี ยังทำได้ดีไม่เต็มที่ และกลายเป็นว่าศธ.ต้องไปดูแลคนที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นภาระของรัฐบาล และขอฝากให้ดูแลเรื่องเงินวิทยฐานะซึ่งต้องหาเงินมาจ่ายให้กับครู เพราะเป็นความชอบธรรมที่ครูควรจะได้รับด้วย

**"หมัก"เย้ย ปชป.ตั้งครม.เงา

เวลา14.15 น. วานนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เดินทางเข้ามายังอาคารไอเอฟซีที ที่ทำการพรรคพลังประชาชน และให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการจัดรายชื่อครม. ว่า มีการสลับชื่อกันนิดหน่อย โดยจะมีรองนายกฯ 6 คน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 2 คน ส่วนเรื่องการประชุมครม.นัดแรกจะทันวันที่ 5 ก.พ.นี้หรือไม่นั้นก็แล้วแต่ ถ้าทำเสร็จก็โปรดเกล้าฯ แล้วเข้าถวายสัตย์ฯ เมื่อถามว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้แจ้งหรือไม่ว่าจะทูลเกล้าฯได้เมื่อไร นายสมัคร กล่าวว่า ก็บอกแล้วว่า ต้องรอให้เขาเสร็จ แต่ตอนนี้เขายังไม่แจ้ง แต่เขาแจ้งว่าต้องใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติ 2-3 วัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งรัฐบาลเงา เพื่อติดตามงานของรัฐบาลในแต่ละกระทรวง นายสมัคร กล่าวว่า "ก็มันเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของผม ตัวจริงยังไม่ทันมา เงามาแล้ว ตัวจริงยังไม่มี แล้วเงามาทำไม"

*"หมัก"อ้างควบ กห.แก้ปัญหาเรื่องรุ่น

ต่อมานายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวญี่ปุ่นที่พรรคพลังประชาชน โดยยืนยันในตอนหนึ่งว่า ตนจะเป็นรมว.กลาโหม เพราะที่ผ่านมารัฐมนตรีเป็นทหารมีการแบ่งรุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นนั้นไม่ถูกกับรุ่นนี้ และรมว.กลาโหมไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร และไม่จำเป็นต้องรู้ในเรื่องการทำสงคราม รู้แต่การจัดการในกิจการทหารก็พอ

ส่วนเรื่อง ครม.นั้น ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งคาดว่าจะเรียกประชุม ครม.ได้ภายในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ ยืนยันว่า นายนพดล ปัทมะ จะเป็นรมว.ต่างประเทศ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คือนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน

ทั้งนี้ นายสมัคร ยอมรับว่า หลังการเลือกตั้งได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 4-5 ครั้งแล้ว แต่ไม่เคยโทรหา พ.ต.ท.ทักษิณเองเพราะไม่มีเบอร์ แต่คนอื่นโทรให้

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวญี่ปุ่นถามว่า ใครอยู่เบื้องหลังในการจัด ส.ส.บินไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฮ่องกง นายสมัคร กล่าวว่า วันนี้ตนเป็นหัวหน้าพรรค มีอำนาจเต็มทุกอย่าง ส่วนจะให้พ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่นั้น นายสมัคร กล่าวว่า คงมาไม่ได้ เพราะติดโทษ 5 ปี แต่ถ้าเชิญมาจริงก็คงไม่บอก

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น นายสมัคร กล่าวว่า จะขอหารือกับรัฐสภา และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เชื่อว่าจะแก้รัฐธรรมนูญทันอย่างแน่นอน ส่วนการผลักดันให้ออกพ.ร.บ. นิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น คงยังไม่ทำช่วงนี้ เพราะมีคนแนะนำว่า ยังไม่ควร

**ประมวลเบรกสมัครทูลเกล้าฯ ครม.

นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย (คนที่1) ทำหน้าที่แทนหัวหน้าพรรคฯ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (1ก.พ.) ว่า ตนได้ทำหนังสือด่วนถึงนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในฐานะนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องขอให้ทบทวนการเข้าร่วมรัฐบาล และเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งมีสาระสำคัญระบุว่า ตามที่ กกต.มีมติให้นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.51 นั้น จากคำวินิจฉัยดังกล่าว มีผลตามข้อบังคับพรรค ดังนี้

1. คณะกรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะ เป็นเหตุให้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคว่างลง นายประมวล เลี่ยวไพรัตน์ รองหัวหน้าพรรค คนที่ 1 ทำหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค และให้มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายใน 30 วัน แต่ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการบริหารพรรค ที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่านายทะเบียนพรรคการเมือง จะตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

2. มติในการเข้าร่วมรัฐบาล ต้องเป็นการประชุมร่วมพรรคโดยมีสมาชิก กล่าวคือ กรรมการบริหารพรรค และส.ส.เข้าร่วมประชุมโดยมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนของคณะกรรมการบริหารพรรค และส.ส.ของพรรคทั้งหมดรวมกัน จึงจะเป็นองค์ประชุม และมติที่ประชุม ให้ถือเสียงข้างมาก ทั้งนี้บุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในนามของพรรค จะต้องได้รับการคัดเลือกและผ่านการ เห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของพรรคเท่านั้น

นายประมวล กล่าวว่า แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค.นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เลขาธิการพรรค ได้เชิญ ส.ส.ของพรรคร่วมรับประทานอาหารที่บ้านพักของนางอนงค์วรรณ โดยในวันดังกล่าว นางอนงค์วรรณ มิได้เป็นวันนัดประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค และส.ส.เพื่อลงมติตลอดจนเสนอชื่อบุคคลใดเข้าเป็นรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล แต่กลับนำเอาเหตุการณ์ในวันดังกล่าวไปกล่าวอ้างว่า ได้มีการประชุมร่วมตามข้อบังคับพรรค ข้อ 92 และได้มีการลงมติแล้ว

นอกจากนี้ นางอนงค์วรรณ ยังได้พยายามใช้อำนาจในฐานะเลขาธิการพรรค เรียกประชุม เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่ จ.สุโขทัย ในวันที่ 17 ก.พ.ด้วย

"การกระทำของ นางอนงค์วรรณ จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับพรรค ดังนั้น การเข้าร่วมรัฐบาล ตลอดจนการเสนอชื่อบุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมกับรัฐบาล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับ ด้วยเหตุผลประกอบข้อเท็จจริงดังข้างต้น จึงขอให้เลขาธิการครม. และนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาทบทวนการเข้าร่วมรัฐบาลจากการนำเสนอของนางอนงค์วรรณ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารประเทศในนามพรรคเป็นบุคคลที่ได้รับการพิจารณาถึงความเหมาะสม และความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินสืบไป" รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยกล่าว

**"แม้ว"อาจกลับไทยก่อน พ.ค.

นายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับไทยทันทีหลังจากมีการโปรดเกล้าฯ รายชื่อ ครม. ว่า คงไม่กลับทันที คงต้องทอดเวลาออกไปสักระยะ แต่คงไม่หลังเดือนพ.ค. และเป็นไปได้ที่อาจจะกลับก่อนเดือน พ.ค.

เมื่อถามตำแหน่งรมว.ต่างประเทศที่อาจจะได้รับนั้น คาบเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของพ.ต.ท.ทักษิณ นายนพดล ตอบว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ เพราะ พ ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางกลับก่อนเดือนพ.ค.อยู่แล้ว ไม่ว่าใครมาเป็นรมว.ต่างประเทศ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาเป็นปี ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งใจที่จะเดินทางกลับไม่เกินเดือนพ.ค.อยู่แล้ว

**เปิดโผ ครม.สมัคร1

สำหรับรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ล่าสุด นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ควบ รมว.กลาโหม ส่วนรองนายกรัฐมนตรีประกอบด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายสหัส บัณฑิตกุล พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ

ส่วนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นายชูศักดิ์ ศิรินิล และนายจักรภพ เพ็ญแข สำหรับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรมว.คลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง

นายมั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ นายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นายสุธา ชันแสง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯ นายธีระชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรฯ นายกมล จิระพันธุ์วาณิช รมช.เกษตรฯ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รมว.พาณิชย์ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ นายบรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นาย สุพล ฟองงาม รมช.มหาดไทย นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ รมช.มหาดไทย

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.พลังงาน นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ นายพงศกร อรรณนพพร รมช.ศึกษาธิการ

นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข นายชวรัตน์ ชาญวีระกุล รมช.สาธารณสุข นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.วัฒนธรรม นาย สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.อุตสาหกรรม

**ส.ส.อีสานตบเท้าเคลียร์"สมัคร"

เมื่อเวลา 18.45 น. กลุ่มส.ส.อีสานกว่า 40 คน นำโดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาคนที่ 1 นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข นายไพจิต ศรีวรขาน นายพีรพันธุ์ พาลุสุข นายศักดา คงเพชร ซึ่งเป็นส.ส.อาวุโสของภาคอีสาน ได้เดินทางมายังพรรคพลังประชาชน เพื่อเข้าพบนายสมัคร เพื่อหารือถึงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควต้าของภาคอีสาน

จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น. การประชุมจึงเสร็จสิ้นโดยนายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พวกตนได้นัดคุยกันที่รัฐสภา ถึงเรื่องการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่ลงตัว เมื่อทราบว่านายสมัคร อยู่ที่พรรคจึงมาขอเข้าพบ เพื่อพูดคุยแบบเปิดอกถึงสาเหตุที่บางคนไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่บางคนเป็นส.ส.มา 7-8 สมัย นอกจากนี้รายชื่อครม.ที่ออกมานั้นพบว่า สัดส่วนของส.ส.ภาคอีสานมีน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มนั้น ตนถือว่าอยู่คนละฟากกับนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งโผที่ออกมานั้นกลุ่มของนายเนวินได้เกือบหมด แต่พวกตนไม่ได้เลย จึงอยากรู้สาเหตุ ถ้าดูแล้วส.ส.ในกลุ่มซึ่งมีถึง 50 คนยังมากกว่าพรรคชาติไทยทั้งพรรคด้วยซ้ำ แต่กลับไม่ได้อะไรเลย

นายปัญญา กล่าวว่า นายสมัคร รับฟังความเห็นของพวกตน และยังบอกกลับมาว่า เพิ่งเข้าใจระบบของอีสาน เนื่องจากก่อนหน้านี้เข้าใจว่านายเนวิน เป็นผู้ดูแลทั้งหมด อย่างกรณีที่ไปกินข้าวที่ร้านอาหารบัว ก็นึกว่ากลุ่มเดียวกันหมด จึงเข้าใจผิดว่า ส.ส.อีสานอยู่กับนายเนวิน ทั้งหมด นายสมัครจึงรับปากกับพวกตนว่า หลังจากนี้จะช่วยดูแลให้เป็นพิเศษ แต่รายชื่อรัฐมนตรีคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว โดยอาจจะไปดูในส่วนของประธานคณะกรรมาธิการ และเลขานุการรวมทั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีให้แทน

**สหรัฐฯ ฟื้นความช่วยเหลือไทย

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นายอิริค จอห์น แถลงวานนี้(1ก.พ.) ว่า ความช่วยเหลือทางทหารที่อเมริกาให้แก่ไทย ซึ่งได้ถูกระงับไปเนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจในปี 49 นั้น น่าที่จะฟื้นขึ้นมาใหม่ในทันทีที่การจัดตั้งรัฐบาลไทยซึ่งมาจากการเลือกตั้งชุดใหม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย

นายจอห์นกล่าวกับผู้สื่อข่าวเรื่องนี้ ภายหลังได้เข้าพบปะเป็นเวลา 1 ชั่วโมง กับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อหารือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งยังคงมีความใกล้ชิดสนิทสนม

สหรัฐฯได้ระงับความช่วยเหลือทางทหารที่มีมูลค่าราว 24 ล้านดอลลาร์ เพื่อแสดงการประท้วงการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ในเดือนก.ย. 49

ความช่วยเหลือที่ถูกตัดไปเหล่านี้ อาทิ โครงการให้ความสนับสนุนทางการเงินเพื่อการทหารของต่างประเทศ, การศึกษาและฝีกอบรมทางทหารระหว่างประเทศ, และการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

การตัดความช่วยเหลือเช่นนี้ กระทำไปโดยอัตโนมัติ ภายใต้กฎหมายของสหรัฐฯ ฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหา ห้ามไม่ให้ความช่วยหลือแก่รัฐบาลของประเทศที่ผู้นำอันมาจากการเลือกตั้งถูกโค่นล้มไปด้วยการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือไทยเรื่อยมา ในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย, การต่อสู้ปราบปรามการแพร่กระจายอาวุธทำลายล้างสูง, และการต่อสู้โรคติดต่อ นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังคงดำเนินการฝึกซ้อมรบประจำปี "คอบราโกลด์" กับไทยอย่างต่อเนื่อง

ก่อนที่จะสามารถกลับให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทยได้ใหม่ นางคอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯจะต้องให้การรับรองแก่รัฐสภาอเมริกันว่า รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยของไทย ได้เข้ารับตำแหน่งแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น