xs
xsm
sm
md
lg

กลาโหมอ้างแถลงข่าวพลาด ชี้ปัญหาเขาพระวิหารไม่ลาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"กลาโหม-บัวแก้ว"ร่วมแถลงยอมรับให้ข้อมูลเรื่องเขาพระวิหารผิดพลาด ยืนยันนายทหารทั้งสองฝ่ายมีการประสานงานเข้าใจกันดี เชื่อไม่มีเหตุบานปลายจนกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้าน "สุรยุทธ์" ระบุการแก้ปัญหาข้อพิพาท มีหนทางเดียวคือการเจรจา ระบุการจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

จากกรณีที่โฆษกกระทรวงกลาโหมได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยท่าทีแข็งกร้าว ในทำนองว่ากัมพูชาพยายามสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อยื่นขอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว พร้อมทั้งมีการระบุชื่อของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะมาทำหน้าที่ในการเจรจาในเรื่องนี้หลังมีรัฐบาลใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ

วานนี้ (25 ม.ค.) พล.ท.พิชษณุ ปุจฉาการ โฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร และนายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา โดยโฆษกกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่าการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น มีความคลาดเคลื่อน และไม่ใช่มติของที่ประชุมสภากลาโหม แต่เป็นการหารือภายในที่เตรียมการบางอย่าง และมีความเห็นส่วนตัวของตนรวมอยู่ด้วย

จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า เนื้อข่าวที่แพร่ออกไปอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นได้ โดยเฉพาะเนื้อหาที่มีการระบุว่า ทางการกัมพูชา พยายามขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยลำพัง และมีการสร้างหลักฐานเท็จนั้น ขอชี้แจงว่า เป็นเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับหลักเขตแดน ที่สอง ฝ่ายอาจมองไม่ตรงกัน ส่วนการเพิ่มความเข้มข้นทางการทหารตามแนวชายแดน ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่สถานการณ์วิกฤติ

"เมื่อเช้านี้ (25 ม.ค.) ผู้นำทางการทหารของเราทุกระดับได้โทรศัพท์พูดคุยกันแล้ว ปัญหาความขัดแย้งคลี่คลายจนเข้าสู่ภาวะปกติ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งนี้ได้พูดคุยกับผู้นำกัมพูชาแล้วด้วย ซึ่งท่านได้คุยกัน และมีความเข้าใจกัน แต่อาจมีความเข้าใจผิดตามเนื้อข่าวที่ออกไป ก็ตกใจ เมื่อรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้คุยกันแล้วว่า เนื้อหาจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น ก็ได้ชี้แจงไป ท่านก็เข้าใจ"พล.ท.พิชษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว พล.ท.พิชษณุ กล่าวว่า การเชิญผู้สื่อข่าวมา ถือเป็นการช่วยกันทำความเข้าใจให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน ไม่ให้จุดประเด็นคลาดเคลื่อน และขออภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เมื่อถามย้ำว่าจะรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยตนเองหรือไม่ พล.ท.พิชษณุ กล่าวว่า ยอมรับว่าพูดคลาดเคลื่อนไปบ้างเท่านั้น ขณะที่รมว.กลาโหม ไม่ได้ตำหนิตนในเรื่องนี้

ขณะที่นายธฤต ยืนยันว่าการจะขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของไทย และจะไม่มีการเสียดินแดนของไทย อย่างไรก็ตาม กัมพูชาพยายามที่จะขอขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ขณะที่ไทยได้ดำเนินการทางการทูตด้วยการยืนยันในสิทธิของไทยในบริเวณพื้นที่นั้นอย่างเป็นทางการ และเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางยูเนสโก และกัมพูชามาโดยตลอด ซึ่งพื้นที่ที่มีเขตทับซ้อน ไทยและกัมพูชาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ และตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเขตแดนไทย-กัมพูชาขึ้นมา เพื่อจัดการทำความเข้าใจเรื่องปักปันเขตแดนที่เห็นไม่ตรงกัน และบันทึกความเข้าใจ ข้อที่ 5 ทั้งสอง ฝ่ายตกลงกันว่า จะไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่ยังไม่มีการตกลงกัน และจะหารือทำความเข้าใจเพื่อหาทางออกเรื่องดังกล่าวระหว่างกันอีกครั้งในไม่ช้านี้

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด และผู้นำระดับนโยบายทั้งสองฝ่าย ได้โทรศัพท์พูดคุยทำความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นเผาสถานทูต เหมือนปี 2546

ประสานความเข้าใจแล้ว

ด้าน พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของ โฆษกกระทรวงกลาโหม และเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของโฆษกฯ เอง ในประเด็นที่แถลงเกี่ยวกับกรณีเขาพระวิหาร ภายหลังการประชุมสภากลาโหม ซึ่งขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นมติ

พล.อ.บุญรอด ยอมรับว่า มีการพูดคุยกันในที่ประชุมจริง และมีการแสดงความคิดเห็น และไม่ได้บอกว่าทางกัมพูชาไปทำเอกสารเท็จ เพื่อไปขอขึ้นทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลก หากแต่สองประเทศถือแผนที่คนละฉบับเท่านั้น ทำให้เส้นเขตแดนเหลื่อมซ้อนกัน และจะมีการชี้แจงทำความเข้าใจอีกครั้ง โดยในขั้นต้นเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ ตนได้ประสานไปยัง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบประสานทำความเข้าใจกับ พล.อ. เตีย บันห์ ผู้นำทางทหารของกัมพูชา ในการทำความเข้าใจแล้ว

พรรคการเมืองฉวยโอกาสหาเสียง

อย่างไรก็ตาม รมว.กลาโหม ของไทย ยอมรับว่ามีพรรคการเมืองในกัมพูชาได้นำประเด็นดังกล่าวไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประเทศจริง

หน่วยข่าวทางทหาร ระบุว่า มีหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ของกัมพูชา ได้มีการนำประเด็นดังกล่าวไปหาเสียงเลือกตั้งในประเทศ โดยระบุว่าประเทศไทยพยายามยื้อ และคัดค้านการเดินหน้าของรัฐบาลกัมพูชา ที่จะเสนอไปยังที่ประชุมยูเนสโก ให้ประกาศเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกในการประชุมเดือน มิ.ย.นี้ที่ ประเทศแคนนาดา โดยไทยเคยขอให้ทางกัมพูชาได้จัดการเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบริเวณชุมชนด้านล่างเขาพระวิหาร ก่อนที่จะให้ยูเนสโกตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม กัมพูชา ได้ใช้ช่องทางในการหาประเทศพันธมิตร กดดันให้ไทยยุติท่าทีในการขอให้ทางยูเนสโกชะลอเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน

มีรายงานว่า บริเวณดังกล่าวยังปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และ ในช่วงนี้ทางรัฐบาลกัมพูชาได้มีการส่งทหารรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนในบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้มีท่าทีที่แข็งกร้าว ทางกองทัพภาคที่ 2 จึงส่งทหารหลักไปสนับสนุนทหารพรานเพื่อให้กำลังชายแดนมีความสมดุลกัน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวความพยายามเรื่องการขอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา มีมาอย่างต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีท่าทีใดๆที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหารระดับสูง มีเพียงความเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น รวมทั้งมีการปิดทางขึ้นเขาพระวิหารจากฝั่งไทยเป็นระยะเท่านั้น ล่าสุดมีข่าวว่าทางกัมพูชาได้อนุมัติให้บริษัทก่อสร้างจากจีนตัดถนนเพื่อไปยังที่ตั้งโบราณสถานดังกล่าว แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะขึ้นไปถึงได้อย่างไร เพราะมีลักษณะหน้าผาสูงชันมาก

ต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเขาพระวิหารนี้ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งการแก้ปัญหามีอยู่หนทางเดียวคือ การพูดจาทำความเข้าใจกัน ซึ่งตนก็ได้พูดคุยกับ พล.อ.สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี กัมพูชามาแล้วหลายช่วงว่า เราจะต้องหาทางที่จะทำให้เรื่องเขาพระวิหารเป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาไทยยืนยันหรือไม่ว่าเขาพระวิหารเป็นของประเทศไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การหารือไม่ได้เป็นส่วนนั้น แต่เป็นการพูดถึงการเป็นมรดกโลกของเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะอย่างที่เห็นกันแล้วว่า ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์นั้น ทางขึ้นที่สะดวกต้องขึ้นทางประเทศไทย แม้ทางกัมพูชาจะมีทางขึ้นก็ตาม แต่ก็ค่อนข้างลำบาก ซึ่งเรื่องนี้ จะต้องพิจารณาด้วยความละเอียดและรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

กรมศิลปากรดูแลเฉพาะด้านวิชาการ

นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การขอขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นมรดกโลกนั้น จะมีการเสนอต่อที่ประชุมประเทศสมาชิกยูเนสโก ในเดือนมิ.ย.นี้ ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเทศกัมพูชาว่าจะเสนอขอขึ้นทะเบียนในส่วนของตัวอาคารโบราณสถานหรือบริเวณโดยรอบทั้งหมด ส่วนทางขึ้นเขาพระวิหารที่ตั้งอยู่ในฝั่งของประเทศไทยนั้น ก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุมประเทศสมาชิกยูเนสโก จะพิจารณาว่าบริเวณดังกล่าวจะครอบคลุมกับการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกหรือไม่

"กรมศิลปากรจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องการเสนอขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่เราจะเน้นการทำงานสนับสนุนด้านวิชาการ และประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกของยูเนสโกอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ต้องแล้วแต่ทางรัฐบาลกัมพูชาจะเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาภายในที่ประชุมประเทศสมาชิกยูเนสโกด้วย อย่างไรก็ตาม กรมศิลปากรต้องรอให้รัฐบาลมอบหมายในการประสานข้อมูลวิชาการร่วมกับประเทศกัมพูชาเสียก่อน จึงจะเข้าไปดำเนินการได้"อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น