xs
xsm
sm
md
lg

ก.ท่องเที่ยวผวาเปิดเสรีบริการพัฒนาคนรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยหวั่นเปิดเสรีบริการปี 2553 จะเสียเปรียบกลุ่มประเทศ CLMTV แรงงานบริการทะลักเข้าไทย ก.ท่องเที่ยวกล่อม 4 ประเทศในกลุ่มเคลิ้มยอมให้ไทยส่งเจ้าหน้าที่เข้าดูงาน เก็บข้อมูลมาวางหลักสูตรพัฒนาหลักสูตรด้านท่องเที่ยว ฝันไกลถึงขั้นดันไทยศูนย์ฝึกคนด้านท่องเที่ยว

วานนี้(17ม.ค.51) ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียน นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว  เปิดเผยภายหลังการประชุมกรอบความร่วมมือแห่งอาเซียนกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ได้แก่  กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย  และเวียดนาม (CLMTV) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่ประเทศไทยได้เสนอขอว่า  จะจัดส่งผู้แทนจากภาครัฐและสถาบันการศึกษาของประเทศไทย เดินทางไปเยี่ยมชมโครงสร้างของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม  โดยจะใช้เวลาประเทศละ 3 วัน 2 คืน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมด มาจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่สถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยจะเริ่มเดินทางในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมศกนี้  
การเดินทางไปเยี่ยมชมครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของประเทศสมาชิก CLMTV เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาหลักสูตร และ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคคลากรท่องเที่ยวของไทยต่อไป  เพราะ ประเทศไทยเล็งเห็นช่องว่างในโอกาสของการเปิดเสรีบริการของอาเซียน ที่จะมีขึ้นในปี 2553 ว่า จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของภูมิภาค
ทั้งนี้ใน 5 ประเทศของ CLMTV  หากเปิดเสรีบริการ ไทยจะเป็นประเทศที่เสียเปรียบ โดยจะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไหลเข้ามาเป็นคู่แข่งกับแรงงานของคนไทยที่มีอยู่แล้วในประเทศ เราจึงหันมาโปรโมตในเรื่องของการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง เพื่อดึงต่างชาติให้เข้ามาศึกษาในประเทศไทย  ขณะเดียวกัน คนไทยก็จะได้เรียนรู้อยู่ในประเทศ ไม่ต้องเดินทางไปเรียนต่างประเทศ โดยปี 2553 จะเปิดเสรีใน 6 สาขาวิชาชีพ  รวม 32 ตำแหน่งงาน แยกเป็น กว่า 170 หลักสูตร
สำหรับหลักสูตรที่ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำขึ้นนั้นคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 2551  และ พร้อมที่จะลงนามรับรองหลักสูตรได้ในการประชุม รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน  ในปี 2552 ที่ประเทศเวียดนาม  โดยภาพกว้างคือ เป็นหลักสูตรพัฒนาบุคลากรผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวในสาขาโรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจนำเที่ยว โดยผู้แทนไทยได้นำเสนอโครงสร้างของสถาบันฯดังกล่าวของไทยเป็นตัวอย่าง และยกแนวทางการจัดทำหลักสูตรสาขาอาหาร โภชนาการ ซึ่งได้ดำเนินการเป็นต้นแบบ พร้อมมอบให้ประเทศสมาชิกร่วมนำไปปรับใช้ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับประเทศเพื่อนบ้านในการปรับแนวทางการพัฒนาบุคลากร การฝึกอบรม การรับรองมาตรฐาน และการจัดทำหลักสูตร ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และให้สถาบันการศึกษาของไทย ได้นำเสนอโครงสร้างหลักสูตรต้นแบบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
“ทุกประเทศจะมีสิทธิที่จะจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ แต่เมื่อเทียบกับความพร้อมของทั้ง 5 ประเทศในกลุ่ม CLMTV แล้ว ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด ทั้งเรื่องบุคลากร และสถานที่ ดังนั้นเมื่อหลักสูตรที่เราจัดทำขึ้นมีความเป็นมาตรฐาน เขาก็จะเดินทางมาศึกษาที่ประเทศไทย เพราะประกาศนียบัตร หรือปริญญาที่ได้รับ จะได้รับความน่าเชื่อถือสูงสุด”
ทั้งนี้การร่วมมือดำเนินงานครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับวิชาชีพด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เทียบเท่ากับวิชาชีพในอุตสาหกรรมภาคอื่นๆ จะช่วยให้บุคลากรในวิชาชีพนี้มีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เพราะใบรับรองการศึกษาที่สถาบันฯออกให้นั้น สามารถนำไปเป็นใบเบิกทางสมัครทำงานได้ทุกประเทศในอาเซียน    เป็นการรับประกันว่า จะได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานสากล และมีสวัสดิการ เช่น ประกันสังคม และอื่นๆ เพราะปัจจุบันบางอาชีพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์  บางรายไม่มีเงินเดือนประจำ จึงไม่ได้รับสวัสดิการจากประกันสังคม  เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความคืบหน้า การจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ล่าสุด กระทรวงฯได้รับโอนถ่ายสถาบันพัฒนาบุคลากรท่องเที่ยว ตั้งอยู่ที่ บางแสน จ.ชลบุรี มาจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการในสถาบันดังกล่าว ทั้งเรื่องการจัดจ้างบุคคลากร การจัดทำหลักสูตร และ การปรับปรุงสถานที่ เพื่อยื่นเสนอต่อสำนักงบประมาณ โดยจะบรรจุอยู่ในงบประมาณประจำปี 2552 ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้เงินจำนวนเท่าใด
กำลังโหลดความคิดเห็น