xs
xsm
sm
md
lg

พระคุณครู

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

ปลายสัปดาห์ก่อน ผมได้รู้จักช่างซ่อมเครื่องยนต์คนหนึ่ง

เขาเป็นคนต่างจังหวัด ตั้งแต่ย่างเข้าวัยหนุ่มซึ่งย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อนก็ดิ้นรนเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

แบบแผนของชีวิตทั่วไปก็ดูไม่แตกต่างจากหลายๆ คน ไต่เต้าจากเด็กลูกมือช่าง อยู่กับเถ้าแก่คนจีนในย่านรองเมือง ย่านที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งซ่อมรถมีระดับแห่งหนึ่งสมัยนั้น

เวลาผ่านไปหลายปีเขาฝึกฝนฝีมือกลายเป็นช่างผู้ชำนาญ
ต่อมาด้วยการสนับสนุนของเถ้าแก่จึงแยกตัวออกมาเป็นเจ้าของอู่ให้บริการซ่อมเครื่องยนต์เองในย่านพัฒนาการเมื่อราว 15-16 ปีก่อนมาจนถึงทุกวันนี้

ทว่า สิ่งที่เถ้าแก่ในวัย 50 ต้นๆ คนนี้ดูแตกต่างจากคนอื่นๆ คือ วิธีคิด

อู่ที่มองจากภายนอก รั้วสังกะสีเก่าๆ ดูโทรมซอมซ่อ ใครไหนเลยจะคิดว่า ภายในกลับมีรถหรูราคาแพง รถเก่าคลาสสิก รถหายาก ยี่ห้อดัง อย่างโรลส์รอยซ์ เบนท์ลี่ย์ เมอร์เซเดส -เบนซ์ จากัวร์ มูลค่านับร้อยล้านจอดเรียงรายรอเจ้าของมารับ และ รอซ่อมแซมกัน

รถเหล่านี้เป็นของลูกค้าไล่ตั้งแต่มหาเศรษฐี นักการเมืองใหญ่ นักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ลงมาถึงคนทั่วไปที่ต่างยอมรับนับถือในฝีมือการซ่อมเครื่องยนต์ของอู่นี้มาช้านาน

ภาพที่เห็นนอกจากจะตัดกันอย่างรุนแรงในความรู้สึก ยังบ่งบอกถึงความสำเร็จในวิชาชีพของเขาได้เป็นอย่างดี

กุญแจแห่งความสำเร็จของเขาเท่าที่ผมวิเคราะห์ได้คือ ประการแรก หลักในการทำงานของเขาเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ทักษะความชำนาญเป็นทุน แสดงความสามารถในการซ่อมเครื่องยนต์จนลูกค้าประจักษ์ และมอบความไว้วางใจให้เชื่อใจมากกว่าติดยึดอยู่กับรูปแบบ ลงทุนซื้ออุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ หรือ ลงทุนตกแต่งสถานที่ใหญ่โต

เขาบอกว่า เมื่อหัวใจการซ่อมรถยนต์อยู่ที่ทำอย่างไรให้รถที่เสียกลับมาวิ่งได้และรักษาสภาพเดิมเอาไว้ ดังนั้น เครื่องทุ่นแรงก็เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบเท่านั้น

ประการที่สอง การศึกษา ช่างคนนี้บอกว่า ตัวเองไม่จบแม้แต่ ป.4 แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะพยายามศึกษาจากเถ้าแก่คนจีน หมั่นหาความรู้ใส่ใจต่อการศึกษาอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาชดเชยจนกลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของชีวิต

ประการต่อมา มีจิตวิญญาณความเป็นครู และ เคารพครู

น่าแปลกใจว่า เด็กที่ทำงานในอู่นี้ล้วนแต่มีพื้นฐานการศึกษาที่ไม่สูง จบสูงสุดเพียง ป.6 แต่สามารถเรียนรู้และซ่อมเครื่องยนต์อย่าง “โรลส์รอยซ์” ที่ในวงการช่างซ่อมเครื่องยนต์ถือว่าเป็นงานที่ยากที่สุดได้อย่างน่าทึ่ง

นั่นก็เพราะว่า เถ้าแก่คนนี้มีจิตวิญญาณของครู ได้ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ที่สั่งสมเป็นประสบการณ์มาช้านานให้กับเด็กๆ ในอู่ได้ศึกษาฝึกฝนในทางปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ

เขาระบุว่า เขาเต็มใจรับเด็กที่มีความรู้ไม่สูงเข้าทำงานมากกว่ารับเด็กที่จบมาทางด้านช่างยนต์ ปวส.หรือ ปวช. เพราะระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้สอนให้คนพร้อมจะออกมาทำงาน

พูดง่ายๆ คือไม่มีใจรัก เด็กถูกครอบงำด้วยสิ่งยั่วยุ นับถือวัตถุตามกระแสนิยมมากเกินไป สู้เด็กที่มีใจรักแต่การศึกษาไม่สูงไม่ได้

คล้ายๆ กับคำโบราณที่ว่า “อันความรู้ รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” เด็กๆ ในอู่นี้เขาบอกว่า มีโอกาสออกไปตั้งตัวเป็นเถ้าแก่ได้ทุกคน

ขณะเดียวกัน เครื่องมือทุกๆ ชิ้น รถทุกๆ คันเปรียบเหมือนครูของเขา ทุกๆ ปีเขาจะจัดพิธีคล้ายๆ การไหว้ครู ขอขมา น้อมรำลึกถึงพระคุณของครู โดยนำเอาเครื่องมือต่างๆ ในอู่ออกมากราบไหว้ให้ความเคารพ

ทั้งสามประการนี้ เถ้าแก่จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่ามันประกอบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

อุปมาอุปไมยอู่นี้เหมือนเรือลำเล็กๆ ที่ล่องลอยอยู่ในห้วงมหาสมุทรกว้างใหญ่ ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของเศรษฐกิจในโลกทุนนิยม ความผันผวนของปัจจัยลบ อาทิ น้ำมัน - ดอกเบี้ย หรือ เผชิญมรสุมลูกใดๆ ผมคิดว่า เรือลำนี้จะลอยลำอยู่ได้สบาย

สบาย และเป็นสุขมากกว่าเมื่อเทียบกับเรือลำใหญ่ อู่หรือธุรกิจอะไรก็ตามที่ยึดติดกับรูปแบบ ติดอยู่กับความรู้-ความสามารถที่ถูกตีเป็นมูลค่า โมเดลธุรกิจในแบบทุนนิยม กู้เงินมาลงทุนมากๆ แบกภาระหนี้ บรรทุกค่าใช้จ่ายไว้เต็มลำมีโอกาสที่จะอับปางได้ง่ายเมื่อเจอภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

จากเถ้าแก่ อู่ของเขา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ทำให้อู่ๆ หนึ่งมีงานบริการไม่ขาดมือ หล่อเลี้ยงชีวิตคน 7-8 คนให้ดำเนินวิถีชีวิตไปอย่างเรียบง่ายเป็นสุข ผมมองต่อไปถึงวิถีในสังคมไทยที่นับวัน “วิธีคิด” และ “หลักปฏิบัติ” แบบนี้กำลังถูกกลืนหายไปเรื่อยๆ พร้อมกับค่าครองชีพที่บีบคั้น เป็นปัญหาที่น่ากังวลไม่น้อย

อย่างน้อย คนรุ่นลูก คนรุ่นหลาน จะมีที่ยืนในสังคมอย่างไรในอนาคตเป็นโจทย์ของผู้เป็น “ครู” ในทุกสาขาอาชีพคงต้องขบคิดให้หนักขึ้น

วันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู ขอน้อมรำลึกถึงพระคุณครูครับ.
 
ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่

http://weblog.manager.co.th/publichome/suwitcha67 หรือ อีเมล suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น