xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯหนุนท่าเรือกันตังเป็นประตูส่งออกยางพารา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตรัง – “รองปธ.อุตฯตรัง” ชี้การพัฒนาท่าเทียบเรือกันตังเป็นสิ่งจำเป็น ช่วยกระตุ้นศก.และเป็นประตูส่งออกยางพาราสู่ตลาด

นายศุภเดช อ่องสกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และประธานชมรมพ่อค้ายางจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ท่าเทียบเรือกันตังนั้น ถือเป็นท่าเทียบเรือเก่าแก่ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในระดับโลกมายาวนานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

ทำให้เมืองกันตังมีความเจริญเติบโตไปมาก ส่งผลให้คนตรังกลายเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของภาคใต้ แต่ช่วงหลังมาทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เมืองกันตังเกิดความซบเซาทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก จนส่งผลต่อรายได้ของประชากรโดยรวม ทำให้ขณะนี้จังหวัดตรังติดอันดับความยากจนเป็นที่ 3 ของภาคใต้แล้ว ซึ่งแตกต่างไปจากเมื่อยุคครั้งอดีตอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น การพัฒนาท่าเทียบเรือกันตัง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพื่อกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง โดยอาศัยช่องทางในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะยางพาราและไม้ยางพารา ที่มีลู่ทางสดใสเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ต้องใช้วิธีการบรรทุกรถคอนเทนเนอร์ ไปยังท่าเรือสงขลาหรือท่าเรือปีนังประเทศมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะต้องเดินทางไกลแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านอุบัติเหตุจราจรด้วย เพราะวันหนึ่งๆ จะมีรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ วิ่งผ่านถนนสายตรัง-พัทลุง ในช่วงบนเขาพับผ้า บนเทือกเขาบรรทัด ถึง 3,000 คัน ทั้งที่ถนนมีความคับแคบและต้องวิ่งขึ้นเนินสูง

นายศุภเดช เปิดเผยอีกว่า หนทางที่ดีที่สุดสำหรับการส่งออกสินค้า ที่เป็นการลดต้นทุนในการขนส่งและประหยัดเวลาก็คือ การขยายท่าเทียบเรือกันตังให้ได้มาตรฐานและกว้างมากกว่าเดิม ซึ่งทราบว่าบริษัท ศรีตรังแอรโกรอินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของประเทศไทยสนใจที่จะเช่าพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือกันตังแห่งใหม่ เพื่อใช้ในการส่งออกสินค้าประเภทยางพารา ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงประมาณกลางปี 2551 ขณะเดียวกัน เชื่อว่าจะมีโรงงานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก มาใช้บริการที่ท่าเทียบเรือกันตังกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะสะพัดเข้าสู่จังหวัดตรังมากขึ้นตามมา

นอกจากนั้น การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง มีแนวคิดที่จะไปก่อสร้างท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ในพื้นที่ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตังนั้น ก็เป็นสิ่งที่น่าให้การสนับสนุน เพราะจะเป็นการระบายสินค้าบางชนิดที่อาจจะมีปัญหาทางด้านมลพิษ เช่น ยิปซัม ไปใช้บริการในจุดที่อยู่ห่างไกลจากตัวชุมชน แถมยังสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าที่มีขนาดใหญ่ได้

เนื่องจากจุดดังกล่าวมีความลึกของน้ำทะเลถึง 6 เมตร ในขณะที่การเข้าออกไปมายังท่าเทียบเรือก็มีความสะดวก เพราะอยู่ติดกับท้องทะเลอันดามัน ต่างกับท่าเทียบเรือกันตัง ซึ่งมีความลึกของน้ำทะเลเพียงแค่ 4 เมตร และกว่าจะเดินทางเข้าออกได้ก็ต้องใช้เวลา เพราะมีเส้นทางบางช่วงที่คดเคี้ยว

ขณะเดียวกัน รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ยังมองว่า การที่จังหวัดตรังเข้าร่วมกับโครงการ IMT-GT ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก หากสามารถนำมาเชื่อมโยงกับการส่งออกสินค้า ผ่านทางท่าเทียบเรือโดยระบบตู้คอนเทนเนอร์ได้ ซึ่งจะสะดวกในการติดต่อซื้อขายสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

อีกทั้งจังหวัดตรังก็มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ อยู่แล้ว โดยภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือในการผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ แม้ทางฝ่ายอนุรักษ์อาจจะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย แต่ในความเป็นจริงต้องแยกว่า ส่วนไหนที่จำเป็นก็ต้องทำการพัฒนา ส่วนไหนที่เป็นธรรมชาติก็ต้องปกปักรักษาไว้อย่างเต็มที่

"หลายคนสงสัยว่า ในเมื่อยางมีราคาสูงถึง ก.ก.ละ 70 บาท แต่ทำไมคนตรังจึงไม่ร่ำรวยขึ้น นั่นเป็นเพราะครอบครัวในปัจจุบันมีเนื้อที่เพาะปลูกน้อยลง อย่างในรุ่นปู่มีสวนยาง 100 ไร่ รุ่นพ่อถูกแบ่งเหลือ 20 ไร่ พอมาถึงรุ่นลูกถูกแบ่งเหลือแค่ 5 ไร่ จึงทำให้มีเจ้าของสวนยางรายใหญ่น้อยลง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนธุรกิจแบบยักษ์ใหญ่ก็ไม่เกิด ลูกหลานที่เรียนจบสูงจึงไม่อยากกลับมาบ้าน เพราะไม่มีงานดีๆ รองรับ และอนาคตก็ไม่ก้าวหน้า จึงเหลือแต่คนรุ่นเก่าๆ ที่กำลังหมดไฟแล้ว นอกจากจะมีการสร้างธุรกิจอย่างท่าเทียบเรือ แล้วต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่มีเม็ดเงินลงทุนสูง เพื่อฟื้นจังหวัดตรังกลับมาเป็นผู้นำทางการค้าอีกครั้ง"
กำลังโหลดความคิดเห็น