xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ไร้น้ำยาแก้น้ำมันปาล์มขาด ยอมรับจริงเหตุโรงงานหยุดการผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”ไร้น้ำยายอมรับน้ำมันปาล์มขาดแคลนจริง หลังโรงงานหนีขาดทุนชะลอการผลิต เหตุวัตถุดิบขยับเพิ่มเป็นรายวัน “พาณิชย์”เตรียมเสนอให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ แก้ปัญหาวัตถุดิบมีไม่เพียงพอ “ยรรยง”นัดผู้ผลิตน้ำมันพืชหารือวันนี้ หาข้อมูลก่อนอนุมัติให้ปรับขึ้นราคา เตรียมลงพื้นที่ตรวจสต๊อกโรงงาน และสถานการณ์จำหน่ายน้ำมันพืชในห้าง 12-13 ม.ค.นี้ ขึ้นบัญชีจับตาแป้งสาลี เพราะแนวโน้มราคาพุ่งไม่หยุด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำมันปาล์มเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนจริง เพราะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบางโรงงานผลิตสินค้าป้อนสู่ตลาดลดลง เพราะไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนได้ เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็นกิโลกรัมละ 35 บาท จากเมื่อต้นสัปดาห์อยู่ที่กิโลกรัมละ 32.50 บาท แต่บางโรงงานก็ยังคงมีการผลิตป้อนออกสู่ตลาด แต่ยอมรับว่าไม่อยู่ในภาวะที่ปกติ

“เริ่มมีการขาดแคลนจริง โรงงานไม่ยอมผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย เพราะวัตถุดิบแพงขึ้น ผลิตไปก็ขาดทุน ขณะเดียวกัน วัตถุดิบคือน้ำมันปาล์มดิบ ก็ถูกพลังงานทดแทนมาแย่งซื้อไปทำไบโอดีเซล ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงแต่เพียงขึ้น แต่ยังขาดแคลนอีก ขณะที่ผู้บริโภค เมื่อก่อนก็ซื้อปกติ พอมีข่าวว่าน้ำมันปาล์มจะขึ้น ก็ซื้อในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลน”แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมอนุคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันทั้งระบบ เพื่อพิจารณาสถานการณ์และแนวโน้มปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากมีปัญหาการขาดแคลนจริง ก็จะมีการอนุมัติให้มีการนำเข้าจากต่างประเทศได้เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนภายในประเทศ เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศแพงกว่าราคาที่มาเลเซียถึง 4 บาท จากที่ช่วงก่อนหน้านี้มีราคาเท่ากัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญานมาตั้งแต่กลางปีแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์กลับเพิกเฉยยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้เกิดภาวะการกักตุนสินค้าเกิดขึ้น จนกระทั่งผู้บริโภคเดือดร้อนโดยกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ มีแต่การออกตรวจตลาดและขู่ลงโทษพ่อค้าที่กักตุนเท่านั้น โดยไม่มีรองรับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยในช่วงที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญในการทำแผนยกร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ แทน แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาโชห่วยได้ เพราะกฎหมายที่จะผลักดันออกมานั้นมีปัญหามากมาย และไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคและนักลงทุนจึงต้องนำกลับไปพิจารณาแก้ไขใหม่เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณา จึงไม่ได้มีแผนรองรับการแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน เพราะที่ผ่านมามีแต่เพียงมาตรการการออกตรวจตลาดและขู่ลงโทษพ่อค้าเท่านั้น

“ยอมรับว่าปัญหาการขาดน้ำมันปาล์มขึ้นราคาจนทำให้ขาดแคลนนั้นส่อเค้ามีปัญหา แต่พาณิชย์ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการแก้ไขอะไร เนื่องจากที่ผ่านมาผุ้บริหารให้ความสำคัญกับการผลักดัน พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นจนทำให้เกิดการกักตุน”แหล่งข่าวคนเดียว กัน กล่าว

นายยรรง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในวันที่ 12-13 ม.ค.นี้ จะลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มของโรงงานผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืชบรรจุขวดต่างๆ ว่ามีการผลิตและส่งเข้าสู่ตลาดตามปกติหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการกักตุนสินค้าจนเกิดเป็นสาเหตุให้สินค้าขาดแคลนในขณะนี้ รวมทั้งจะไปตรวจสอบภาวะการจำหน่ายสินค้าน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ด้วยว่ามีสินค้าจำหน่ายเพียงพอหรือไม่

“สาเหตุที่สินค้าขาดตลาดในเบื้องต้น คาดว่าผู้ผลิตหันไปจำหน่ายน้ำมันพืชแบบปี๊บมากกว่าที่จะผลิตขายแบบขวดขนาด 1 ลิตร เนื่องจากแบบปี๊บไม่มีราคาเพดานกำหนดไว้ ขณะที่น้ำมันพืชแบบขวดมีข้อจำกัดเรื่องราคาจำหน่ายไม่ให้เกินที่อนุญาต คือ น้ำมันถั่วเหลืองขาดละ 45.50 บาท และน้ำมันปาล์มขวดละ 43.50 บาท”

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (11 ม.ค.) กรมฯ จะเรียกผู้ประกอบการกลุ่มน้ำมันพืชมาหารือ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาในเรื่องการอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาตามความเป็นจริง รวมทั้ง จะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการจัดหาสินค้าป้อนสู่ตลาดให้พอกับความต้องการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าและบริการที่กรมการค้าภายในกำกับดูแลจำนวน 200 รายการ ประจำเดือนม.ค.2551 นั้น ได้เลื่อนรายการสินค้าแป้งสาลีขึ้นมาอยู่ใน บัญชีสินค้าที่ต้องติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาล์ละ 2 ครั้ง (PWL) จากเดิมที่เดือนธ.ค.ปี 2550 อยู่ในบัญชีสินค้าที่ติดตามภาวะและสถานการณ์ใกล้ชิดเป็นประจำทุก 15 วัน (WL)

ทั้งนี้ การเลื่อนแป้งสาลีขึ้นมาอยู่ในบัญชี PWL เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารหลายชนิด เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เค้ก ขนมปัง โดยมีแนวโน้มว่าแป้งสาลีในช่วงที่ผ่านมามีราคาขึ้นสูงเกือบ 100% ทำให้กรมฯ ต้องอนุมัติให้แป้งสาลีขึ้นราคา 515.20-527.57 บาท/ถุง (22.5 กก.) จากราคาเดิม 370.35-484.36 บาท/ถุง ไปตั้งแต่เดือนธ.ค. 2550 ที่ผ่านมา และคาดว่าปี 2551 ราคาแป้งสาลียังมีแนวโน้มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกลดลง จากภาวะโลกร้อน

“แป้งสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายชนิดขึ้นราคาสูงมาก ส่งผลต่อเนื่องให้กรมฯต้องอนุมัติให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคาซองละ 1 บาทไปด้วย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. เป็นต้นมา แต่จนถึงขณะนี้ผู้ประกอบการยังไม่ปรับขึ้นราคา เพราะรอดูสถานการณ์แข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก่อน” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนบัญชีสินค้าที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ และต้องติดตามราคาและภาวะเป็นประจำทุกวัน (SL) ในเดือนม.ค. กรมฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงรายการ โดยมีอยู่ทั้งหมด 15 รายการ ได้แก่ นมผง นมสด นมเปรี้ยว น้ำมันพืช อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก แก๊สหุงต้ม สายไฟฟ้า น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล แบตเตอรี่ ปุ๋ย อาหารสัตว์ เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น (รีดร้อน รีดเย็น และสแตนเลส)

ส่วนบัญชี PWL มีจำนวน 3 รายการ ได้แก่ นมข้นหวาน ครีมเทียม และแป้งสาลี และบัญชี WL มีจำนวน 182 รายการ อาทิ กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำปลา น้ำซีอิ้ว ซอสถั่วเหลือง สบู่ แชมพู ครีมนวดผม แป้งผงโรยตัว ผงซักฟอก รองเท้านักเรียน เครื่องแบบนักเรียน สังกะสี ไม้อัด ท่อพีวีซี ปูนซีเมนต์ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น