xs
xsm
sm
md
lg

ความตาย : ที่เวียนวนของคนไทย

เผยแพร่:   โดย: เฉลิมพล พลมุข

ทุกสิ้นปี หลาย ๆ คนก็ต่างรอวัน เวลาที่มีค่าของตนเองและครอบครัว นั่นก็คือ มีคนจำนวนมากออกเดินทางไปต่างจังหวัดบ้านเกิด เพื่อพบปะญาติพี่น้อง พ่อแม่ บุคคลอันเป็นที่รัก ส่งความสุข รับพรปีใหม่ หลาย ๆ ครอบครัวพบความสุข แต่มีอีกหลายคนหรือหลายครอบครัวเช่นกันที่พบความทุกข์เมื่อสิ้นปี ในทางกลับกัน ชีวิตหลังปีใหม่เป็นชีวิตที่โศกเศร้า เสียใจ เป็นชีวิตที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

เมืองไทยเราเป็นเช่นนี้มาทุก ๆ ปี และทุก ๆ เทศกาลไม่ว่าช่วงใด เวลาใดที่มีระยะของการหยุดงานยาวหลายวัน เหตุการณ์ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ อุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ในแต่ละเทศกาลเรามักจะได้ยินถึงการประกาศให้ระมัดระวังอุบัติเหตุทางรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ในการเดินทาง เมาไม่ขับ หรือประกาศอื่น ๆ ที่เป็นกลยุทธ์เพื่อลดตัวเลขของการตาย บาดเจ็บ อุบัติเหตุ อะไรเล่าที่ทำให้คนไทยมิเคยเข็ดหลาบกับประกาศแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ครั้ง...

หลังประกาศแจ้งเตือนจากศูนย์นเรนทร ประกาศยอดตัวเลข 7 วันอันตราย คือตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2550 - 3 มกราคม 2551 อุบัติเหตุเกิดขึ้น 4,475 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4,903 คน เสียชีวิต 401 คน (มติชนรายวัน 5 ม.ค. 2551 หน้า15) ชีวิตที่มีคนตายไปตัวเลขดังกล่าว ถ้าหากใครเป็นญาติพี่น้อง บุคคลที่เกี่ยวข้อง ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่าได้ ขาดผู้นำของครอบครัว ขาดรายได้ ขาดที่พึ่ง สำหรับผู้บาดเจ็บ คนที่อยู่ทีหลังต้องดูแลรักษาเยียวยา ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ต้องสูญเสียเงินจำนวนมากมายในการดูแลรักษา

ถ้าคิดถึงตัวเลขเทียบกับจำนวนเงินที่เสียและได้ จะเห็นความต่างกันหลายอย่าง เช่น ถ้าหากว่า คนจำนวน 401 คนมีชีวิตอยู่ต่อไป มีรายได้ของตนเองตลอดชีวิตคนละ 5 ล้านบาท ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินไปถึง 2,005,000,000 บาท ถ้าหากว่าครอบครัวต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลคนที่บาดเจ็บคนละ 20,000 บาท ต้องสูญเสียค่าดูแลไปถึง 98,060,000 บาท หรือถ้าคิดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพคนจำนวนดังกล่าวศพละ 25,000 บาท จะเป็นเงินถึง 10,025,000 บาท

จากตัวเลขดังกล่าวประมาณการที่ต้องสูญเสีย และต้องมีรายได้ รายจ่ายประมาณไม่ต่ำกว่า 2,113,085,000 บาท ถ้าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น จำนวนเงินดังกล่าวนับว่าไม่น้อย สามารถนำไปพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองได้ในหลาย ๆ เรื่อง ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะมีวิธีการอื่นที่นอกเหนือจากรายงานตัวเลข รอลุ้นตัวเลขว่าจะออกเลขอะไร แล้วทุกอย่างก็จบสิ้นไปหลังจากปีใหม่ผ่านพ้นไปไม่ถึงหนึ่งเดือน เหตุการณ์ดังกล่าวรู้สึกปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและต้องรออีกในเทศกาลต่อไปจึงจะพบกับความตายในเวอร์ชั่นใหม่อีกต่อไป...

ผู้เขียนมองว่า ความตายของคนไทย เป็นความตายที่ง่าย ราคาถูก พร้อมกับการลืมบทเรียนของชีวิตที่ประเมินค่ามิได้ ที่ต้องได้รับจากความตายครั้งแล้วครั้งเล่า และยังเห็นว่าบ้านนี้ เมืองนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ออกมารับผิดชอบว่าทุกเทศกาล การเดินทางกลับบ้านเกิดจะต้องปลอดภัย จะไม่มีการตาย 0 เปอร์เซ็นต์ จะพบเห็นในอนาคตหรือไม่…

อะไรที่ทำให้ตัวเลขการตายของคนไทยวนเวียนเช่นนี้ทุก ๆ เทศกาลผู้เขียนมองว่า

1. พฤติกรรม นิสัยของคนไทย : ที่ขาดการระมัดระวัง ประมาท หลายคนไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์ข้างหน้าไม่ว่า อุบัติเหตุ บาดเจ็บ ตาย คงไม่ใช่ตนแต่เป็นคนอื่น หลายคนคิดอย่างนี้ อุบัติเหตุคือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น หลายคนต้องประสบเคราะห์กรรม หลายคนต้องสูญเสียเพราะการกระทำตนเอง และผู้อื่นเป็นผู้กระทำ เช่น เมาแล้วขับ คนขับรถบางคนไม่เคารพกฎจราจร มีผู้คนที่ไม่ได้เมา ไม่ได้ขับ แต่ผลพลอยได้คือ บาดเจ็บ ตาย เหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ไม่ว่าจะเป็นการพิการตลอดชีวิต การสูญเสียที่หาสิ่งใดมาตีค่าและความหมายของชีวิต...

เหล้าคือสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ของการสังสรรค์ พบปะกันของคนไทย เมื่อได้กินเข้าไปแล้ว ไม่พอเพียงหยุดไม่ได้ ปริมาณของแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น การขาดสติ ประมาท ควบคุมรถไม่ได้ก็เกิดขึ้นตามมา อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับจากวันดังกล่าวร้อยละ 23.45 รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 81.11 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 16.01 – 20.00 น.

2. สภาพรถและถนน : คุณภาพรถบ้านเราต่างจากหลายประเทศ ทั้งนี้ก็มีทั้งคุณภาพและราคาของรถ ระบบความบกพร่องของรถที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าจะมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น บ้านเราใช้รถญี่ปุ่นมากกว่ารถยุโรปซึ่งมีราคาแพงและระบบความปลอดภัยต่างกัน หลายคนใช้รถมือสอง รถดัดแปลง รถที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่มักจะได้ยินประจำก็คือ รถที่ติดตั้งแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐานหรือความบกพร่องระบบอื่น ทำให้เกิดเหตุระเบิด ดังที่เป็นข่าวมาในหลาย ๆ เหตุการณ์

รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ ในระบบต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ตลอดระยะเวลาการใช้งาน หลาย ๆ คนคงจะเคยเห็นเมื่อรถเสียหรือมีอุบัติเหตุอยู่ระหว่างทาง เช่น หม้อน้ำรั่ว ความร้อนขึ้นสูง เบรกแตก ยางแตก กระจกแตก ซึ่งไม่รวมทั้งเหตุการณ์ที่มีความตั้งใจของคนร้ายในการปากระจกรถ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมืองในขณะนี้ ใครจะเป็นผู้จัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง...

สภาพถนนบ้านเรา มีซ่อม ๆ ขุด ๆ ปะ ๆ ตลอดทั้งปี และแทบทุกสายของถนนก็จะมีลักษณะเดียวกัน การประสานงานของหน่วยงานแต่ละหน่วยงานบกพร่อง มีชาวบ้านหลายคนพูดว่า หน่วยงานนี้เจาะ หน่วยงานนั้นขุด หน่วยงานโน้นปะ ระบบการสร้างถนน ความมีมาตรฐานของถนน การคอร์รัปชันกันในการสร้างทางยังมีอยู่ในบ้านเราอย่างไม่รู้จบ สัญลักษณ์ให้ระมัดระวัง ตักเตือน ระบบไฟฟ้า เครื่องหมายจราจร ความมีมาตรฐานของถนนในหลาย ๆ จังหวัดยังห่างไกลจากถนนของจังหวัดสุพรรณบุรี

ระบบดินฟ้าอากาศ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น เช่น ฝนตกหนัก หมอกลงจัด ขับรถกลางคืน รวมทั้งการใช้สารกระตุ้นในการขับรถที่ไม่มีการพักผ่อนของคนขับรถ เพื่อเร่งในการทำรอบการวิ่งให้ทันตามเวลา ไม่คุ้นเคยสภาพทาง ไม่สามารถมองเห็นทางชัดเจนในการขับรถ หรือมิฉะนั้นสภาพถนนลื่น ถนนที่มีการซ่อมแซมบ่อย ๆ การเผาหญ้าข้างถนน สุนัขวิ่งตัดหน้ารถ ก็เป็นสภาพที่ทำให้มีอุบัติเหตุ ความตายเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ

3. ความตายเป็นเรื่องไกลตัว : หลาย ๆ คน ต่างก็คิดว่าเรื่องความตายคงไม่ใช่ตนและคนใกล้ชิด ทางพระเรียกว่า ความประมาท พุทธศาสนาสอนในเรื่องให้พิจารณาถึงความตายทุก ๆ วันว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครรอดพ้นความตายไปได้ ซึ่งเป็นสัจธรรมที่ทุกคนทราบดี แต่ว่าในชีวิตแห่งความเป็นจริง หลาย ๆ คนมีชีวิตที่ประมาท ทั้ง ๆ ควรจะมีชีวิตอยู่ไปอีกนานเท่านานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับตนเองและสังคมต่อไป

อุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่หาทางหลีกเลี่ยงและสามารถป้องกันได้ หากว่าไม่ประมาท ทุก ๆ คน ทุก ๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบชีวิตของคนในสังคม หากแต่ว่าเอาใจใส่ จริงจังกับปัญหาความตายที่ป้องกันได้ ตัวเลขของการตาย บาดเจ็บ อุบัติเหตุคงจะไม่เกิดขึ้นจำนวนมาก...

ผู้เขียนเห็นว่า คงจะมีเมืองไทยเมืองเดียวที่ช่วงเทศกาลหยุดยาวหลายวัน จะดูตัวเลขดังกล่าวอย่างเอาจริงเอาจังในเรื่องดังกล่าว และหวังว่าผู้รู้ ผู้ชำนาญการในด้านต่าง ๆ บ้านเรามีเป็นจำนวนมากที่ผ่านการศึกษาดูงานในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน พลเมือง คงจะหาหนทาง ทางออกที่จะทำให้คนไทยตาย บาดเจ็บ อุบัติเหตุที่ป้องกันได้จากฝีมือของมนุษย์ลดน้อยลง จะหวังพึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) และกองบังคับการตำรวจทางหลวงและกระทรวงคมนาคม หน่วยงานเหล่านี้คงจะไม่พอสำหรับชีวิตที่มีค่า...

หลาย ๆ ครอบครัวคงไม่มีใครปรารถนาให้คนที่ตนรัก ครอบครัวที่ต้องการให้อยู่ยาวนานต้องจบชีวิตลงไปในเหตุการณ์ดังกล่าว ใคร หน่วยงานใด จะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในชีวิตที่มีคุณค่า เมื่อเกิดมาเป็นคนไทยควรจะวนเวียนอยู่กับความตายกับเทศกาลหรือไม่...
กำลังโหลดความคิดเห็น