xs
xsm
sm
md
lg

สหายมองเจ้า

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผ่านไป 2 วัน ผมได้ถามสหายชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่เมืองไทยมานานนับปีว่า ในฐานะที่มาจากประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ เขามีความคิดความรู้สึกอย่างไรต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในครั้งนี้

เขาตอบว่า รู้สึกตกใจและใจหาย คำตอบของเขาจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากความรู้สึกของชาวไทยมากนัก แต่เพื่อความแน่ใจว่าเขาไม่ได้ตอบไปตามธรรมเนียมทางการทูต (โดยที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ทางการทูตแต่อย่างใด) ผมจึงถามย้ำอีกทีว่า อยากให้เขาตอบบนพื้นฐานที่เขาเป็นชาวคอมมิวนิสต์ ที่เป็นที่รู้กันว่าเป็นกลุ่มคนที่ปฏิเสธในเรื่องการแบ่งชนชั้น

คราวนี้เขาตอบว่า แม้ชาวคอมมิวนิสต์จะคิดเช่นนั้นก็จริง แต่กับกรณีสังคมไทยแล้วต้องถือเป็นข้อยกเว้น เขาให้เหตุผลว่า สมาชิกที่สังกัดสถาบันกษัตริย์ไทยนั้นไม่เหมือนประเทศอื่นๆ อยู่ตรงที่มิได้อยู่นิ่งเฉยดังสมาชิกของสถาบันกษัตริย์อีกหลายประเทศ สมาชิกของสถาบันกษัตริย์หลายพระองค์ทรงมีกิจกรรมอันมากมายที่เป็นไปเพื่อส่วนรวม ในขณะที่ประเทศอื่นมีไม่มากหรือไม่ชัดเจนเท่า

กิจกรรมบางด้านเป็นกิจกรรมที่เข้าถึงราษฎรโดยตรง ในขณะที่กิจกรรมอีกมากมายเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ผลที่ตามมาจากกิจกรรมเหล่านี้ประการหนึ่งก็คือ การทำให้สถาบันกษัตริย์ของไทยมีความใกล้ชิดและผูกพันกับประชาชนจนแทบจะเป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ของอีกหลายประเทศไม่มีปรากฏการณ์เช่นนี้

คำตอบจากสหายจีนคนนี้ ทำให้ผมอดคิดถึงการสนทนาครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อนขึ้นมาแทบจะทันที เป็นการสนทนาระหว่างผมกับคอมมิวนิสต์ลาวคนหนึ่ง ตอนนั้นผมถามเขาคล้ายๆ กับที่ถามสหายจีนของผม ว่าลาวเคยมีสถาบันกษัตริย์เหมือนกับไทยมาก่อน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ฉะนั้น ในฐานะที่ลาวอยู่ใกล้ชิดไทยจนเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันเช่นนี้ เขามองกรณีของไทยอย่างไร

คำตอบของคอมมิวนิสต์ลาวผู้นี้ก็คล้ายๆ กับที่สหายจีนตอบ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ เขาบอกว่า ในกรณีสถาบันกษัตริย์ลาวนั้น จริงๆ “เจ้ามหาชีวิต” (กษัตริย์ลาว) ก็เป็นกษัตริย์ที่ดีพระองค์หนึ่ง คือมีจิตใจเมตตากรุณา แต่ที่ไม่มีก็คือ กิจกรรมดังที่สถาบันกษัตริย์ไทยมี คอมมิวนิสต์ลาวผู้นี้ใช้คำว่า “กษัตริย์ลาวทรงอยู่เฉยๆ”

คำตอบของคนทั้งสองชาติที่เป็น “คอมมิวนิสต์” ด้วยกันทั้งคู่นี้ให้แง่คิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ไทยไม่น้อย ในความเห็นของผม ผมเห็นว่าแง่คิดที่ว่านั้นน่าจะแบ่งได้เป็น 2 ระดับด้วยกัน

ระดับแรก ถ้าสถาบันกษัตริย์ไทยไม่มีกิจกรรมดังเราเห็นในทุกวันนี้แล้ว ผลที่จะตามมาประการหนึ่งก็คือ การไม่เกิดความผูกพันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนอย่างที่เห็น เมื่อไม่ผูกพันหรือผูกพันน้อยแล้ว ระยะห่างก็เกิดขึ้น ภาวะเช่นนี้แม้ประชาชนจะรู้ตลอดเวลาว่าสังคมไทยมีสถาบันกษัตริย์อยู่ก็ตาม แต่การมีอยู่นั้นก็ไม่บังเกิดผลอันใดที่จะโน้มนำให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันกษัตริย์ได้

ในระดับนี้ทำให้คิดถึงกรณีสถาบันกษัตริย์ของกัมพูชา ในระหว่างที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนามนับแต่ปลายทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1990 นั้น สมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งอยู่นอกประเทศนับแต่การยึดครองได้ทรงปฏิบัติภารกิจเพื่อเอกราชและอิสรภาพของกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ตราบจนเวียดนามได้ถอนกำลังออกจากกัมพูชาไปแล้ว พระองค์จึงได้เสด็จกลับกัมพูชาอีกครั้งหนึ่งในฐานะกษัตริย์

กล่าวกันว่า ขนาดพระองค์ไม่ได้ทรง “อยู่เฉยๆ” เช่นนั้น แต่สำหรับชาวกัมพูชาแล้ว การที่พระองค์ไม่อยู่ในประเทศ ก็กลับมีค่าเท่ากับพระองค์ทรง “อยู่เฉยๆ” ถึงกว่าสิบปี ผลก็คือ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับกัมพูชานั้น ชาวกัมพูชาที่เกิดหรือเติบโตขึ้นในระหว่างการยึดครองตั้งคำถามว่า พระองค์คือใคร

จะเห็นได้ว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวพัน (หรือไม่เกี่ยวพัน) กับประชาชนนั้นมีความสำคัญอย่างมาก อย่างน้อยก็ในแง่ของความผูกพันที่พึงมีระหว่างกัน ซึ่งจะยังผลต่อการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ไม่มากก็น้อย

ในระดับต่อมา ถ้าสถาบันกษัตริย์ประเทศใดไม่เพียงจะไม่มีกิจกรรมใดๆ (อย่างที่สถาบันกษัตริย์ไทยมีในทุกวันนี้) ตรงกันข้าม กลับมีสมาชิกของสถาบันบางพระองค์ใช้ชีวิตไปในทางที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับภาวการณ์ของประเทศแล้ว ตรงนี้ก็อาจจะเกิดปฏิกิริยาเชิงลบจากประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาได้ไม่ยาก

ในระดับที่สองนี้ผมต้องการจะบอกว่า ขนาดในระดับแรกที่สถาบันกษัตริย์ไม่มีกิจกรรมใดที่มีความผูกพันกับประชาชน และก็ไม่มีกิจกรรมใดที่ไม่เหมาะสม ก็ยังสามารถทำให้เกิดระยะห่างระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนขึ้นมาได้ ฉะนั้น ยิ่งหากเป็นตรงกันข้ามด้วยแล้ว ระยะห่าง (ที่ไม่น่าจะดีอยู่แล้ว) ก็จะแปรสภาพเป็นปฏิกิริยาเชิงลบซึ่งยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์มากเข้าไปอีก

ที่ผมยกระดับที่สองขึ้นมาให้เห็นนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับกรณีของสังคมไทย แต่เกี่ยวกับทัศนะของชาวคอมมิวนิสต์สองคนที่ผมเล่ามา (โดยอ้อม) กล่าวคือ ชาวคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายซ้ายนั้นมักจะถูกมองว่าเป็นพวกที่มีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ คือถ้าไม่โค่นในทางปฏิบัติก็โค่นในทางทฤษฎี ยิ่งในประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ด้วยแล้ว บ่อยครั้งที่คนในประเทศเหล่านี้ (ไม่ว่าผู้นำหรือประชาชน) มักจะแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง ซึ่งยิ่งทำให้ผู้คนเชื่อว่าคอมมิวนิสต์ไม่เอาสถาบันกษัตริย์จริงๆ และทำให้พลอยรังเกียจคอมมิวนิสต์ขึ้นมาด้วย

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ๆ อย่างจีนหรือรัสเซีย (ถึงจะเป็นอดีตคอมมิวนิสต์ไปแล้วก็ตาม) นั้น ปรากฏว่า พวกที่โค่นล้มสถาบันกษัตริย์กลับไม่ใช่คอมมิวนิสต์

ในกรณีจีน ผู้ที่โค่นล้มคอมมิวนิสต์คือขบวนการปฏิวัติที่จะนำจีนไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งตอนนั้นนำโดย ดร.ซุนยัดเซ็น และระบอบสาธารณรัฐในอุดมการณ์ของ ดร.ซุนยัดเซ็น ก็คือระบอบประชาธิปไตย หาใช่คอมมิวนิสต์ไม่ ส่วนในกรณีรัสเซียเป็นพวกสภาดูมาร่วมกับพวกพรรคเมนเชวิคที่ต่อมาตั้งสภาของตนขึ้นมาเรียกว่าสภาโซเวียต พวกแรกนั้นเป็นขวา (เสรีนิยม?) ส่วนพวกหลังเป็นซ้าย แต่เป็นซ้าย “รัฐสภา” หาใช่ซ้าย “ปฏิวัติ” อย่างพรรคบอลเชวิคที่นำโดย เลนิน ไม่

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ของสองประเทศนี้ถูกโค่นลงไปนั้น ก็เพราะผู้นำของสถาบันนี้ใช้อำนาจ (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) ของตนอย่างไม่เป็นธรรม และสมาชิกของสถาบันหลายพระองค์ก็ใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความหรูหราฟุ่มเฟือย บางพระองค์ถึงกับงมงายไปในทางไสยศาสตร์ก็มี และจากสาเหตุข้อนี้เองที่ต่อมาเมื่อชาวคอมมิวนิสต์ของทั้งสองประเทศได้ขึ้นมาปกครองประเทศแล้ว ก็ได้ยกมาเป็นเหตุในการโจมตีสถาบันกษัตริย์อย่างรุนแรง เท่านั้นยังไม่พอ ยิ่งเมื่อ เลนิน สั่งปลงพระชนม์สมาชิกแห่งราชวงศ์โรมานอฟในปี 1918 (หลังจากยึดอำนาจได้ในปี 1917) ด้วยแล้ว ผู้คนไม่น้อยจึงเข้าใจว่าคอมมิวนิสต์เป็นผู้โค่นล้มสถาบันกษัตริย์

จากทัศนะของชาวคอมมิวนิสต์สองคนที่ผมเล่ามาข้างต้น ทำให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ของไทยยังไม่เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนในทั้งสองระดับข้างต้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นไปด้วยว่า บทบาทในเชิงปัจเจกของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์มักจะสัมพันธ์กับความเป็นสถาบันของสถาบันกษัตริย์ไปด้วยในตัว

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นเพราะบทบาทในเชิงปัจเจกของแต่ละพระองค์ในสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นดังที่เห็น ประชาชนจึงได้ผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาก และทำให้ความเป็นสถาบันมีความมั่นคงอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงทัศนะของชาวคอมมิวนิสต์หรือซ้ายต่างชาติสองคนที่ผมยกมาเล่าเท่านั้น แม้อดีตชาวคอมมิวนิสต์หรือซ้ายไทยก็เปลี่ยนทัศนะของตนไปแล้วไม่น้อยเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะมีทัศนะอย่างไรก็ตาม ทัศนะนั้นก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยมีความผูกพันของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่จริง

ผมจึงหวังว่า เรื่องที่เล่ามานี้คงไม่เพียงทำให้ชาวไทยเกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศที่เศร้าโศกของการถวายความอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในขณะนี้เท่านั้น แต่ยังหวังว่าคงให้ข้อคิดแก่คนที่ไม่ใช่ซ้ายอีกจำนวนไม่น้อยที่ใฝ่ฝันอยากจะไต่เต้าขึ้นมาเป็น “เจ้าองค์ใหม่” ภายใต้ระบบทุนนิยมเสรีอีกด้วยไม่มากก็น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น