xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ เรารู้ผลการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าพรรคการเมืองใดจะไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนบ้าง

ผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่แปลกใจ พรรคพลังประชาชนควรได้ที่นั่งมากกว่านี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งมามากเกินคาด แม้ว่าในกรุงเทพฯ จะถูกแย่งที่นั่งไปบ้าง แต่ก็มีชลบุรีมาแทน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อสังเกตบางประการคือ

1. นับวันการต่อสู้จะเป็นระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคเล็กๆ มีโอกาสเติบโตน้อยมาก

2. พรรคการเมืองมีเสียงแบ่งกันเป็นภาคๆ ชัดเจนกว่าที่เป็นมา แต่ก่อนมีเฉพาะภาคใต้ ขณะนี้ภาคอีสานเริ่มมีความชัดเจนว่าเป็นฐานเสียงของพรรคพลังประชาชน นอกนั้นยังมีภาคเหนือบางจังหวัดอีก

3. นโยบายของพรรค โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมที่ให้ผลประโยชน์โดยตรงกับประชาชนมีผลในการสร้างคะแนนนิยมอย่างมาก

4. เงินยังมีบทบาทสูง พรรคเล็กๆ ที่มีทุนน้อยหรือนายทุนลังเลใจที่จะใช้เงินมากๆ จะพ่ายแพ้พรรคที่มีทุนและทุ่มทุนในการเลือกตั้ง

5. รัฐบาลไม่ได้เข้าแทรกแซงในการเลือกตั้ง ทำให้พรรคพลังประชาชนสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่

6. พรรคการเมืองเล็กๆ บางพรรค แท้ที่จริงก็คือกิ่งก้านสาขาของพรรคไทยรักไทยเก่านั่นเอง ดังนั้นการรวมตัวภายหลังการเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นได้ง่าย

ในการจัดตั้งรัฐบาล เราจะได้คนหน้าใหม่ๆ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีหลายคน เพราะคนของพรรคไทยรักไทยไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ แต่ที่จะเป็นปัจจัยลบสำหรับรัฐบาลใหม่ก็คือ หากนายสมัครได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าถูกศาลพิพากษาจำคุก เราก็จะมีนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ติดคุก เรื่องนี้ทาง พ.ต.ท.ทักษิณ คาดคะเนมาก่อนแล้ว ดังนั้นคนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัครก็น่าจะเป็น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งมีบุคลิกภาพนุ่มนวล สุภาพ สุขุมกว่านายสมัครแยะ

บารมีของนายสมัครนั้นไม่เหลือแล้ว จะเห็นได้ว่าในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ยังได้ที่นั่งมากมาย

การเมืองหลังการเลือกตั้งจะขาดเสถียรภาพ เพราะพรรคเล็กๆ อาจถอนตัวได้ง่าย และมีปัญหาเฉพาะหน้า 2-3 เรื่อง คือ การนิรโทษกรรม และคดีต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ สำหรับกรณีหลังนี้ จะทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกมากขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวนอกสภาจะมีสูง

เศรษฐกิจของไทยในปี 2551 จะยังไม่ดีขึ้น เพราะปัจจัยความไม่มั่นคงทางการเมืองมีสูง คาดได้ว่าตลอดปี 2551 ความขัดแย้งทางการเมืองจะยังคงขยายตัวมากขึ้น บทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในทางการเมืองจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เพราะจะเป็นการมีบทบาทอยู่ข้างหลัง ไม่ได้ออกหน้า จึงยากที่จะหาเหตุด้านความรับผิดชอบ

ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การรัฐประหารระยะสั้นๆ นั้นไม่ได้ผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่สถานการณ์ก็จะกลับไปเหมือนเดิม แต่ผลของการเลือกตั้งก็ไม่น่าจะเป็นเครื่องชี้ว่าประชาชนไม่เห็นด้วย หรือไม่ยอมรับการรัฐประหาร

การเมืองไทยยังคงอยู่ในวงจรน้ำเน่าเหมือนเดิมตราบที่ประชาชนยังเห็นว่า การเลือกตั้งและการมีพรรคการเมืองเป็นการได้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม พรรคการเมืองที่ขึ้นมามีอำนาจก็จะอัดฉีดเงินลงสู่หมู่บ้านมากขึ้น เพื่อหวังรักษาและสร้างฐานเสียง

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญได้ให้บทบาทแก่กลุ่มประชาชนและองค์กรอาสาสมัครมากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้วางเงื่อนไขไว้ให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามหลายอย่าง การยกระดับบทบาทขององค์กรเอกชนนี้ทำให้พื้นที่การเมืองขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าองค์กรเอกชนอาสาสมัครจะไม่มีบทบาทอำนาจทางการเมืองโดยตรง แต่การที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิไว้ทำให้องค์กรเหล่านี้เป็นตัวแปรที่สำคัญในการถ่วงดุลเหนี่ยวรั้งอำนาจของพรรคการเมือง

สื่อมวลชนยังคงเป็นส่วนสำคัญทางการเมืองในยุคนี้ และจะมีการใช้สื่อเพื่อการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น

รัฐบาล (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดจัดตั้งขึ้นก็ตาม) จะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ และไม่น่าจะอยู่ได้เกิน 6 เดือน ระยะเวลาที่จะมีความเคลื่อนไหวอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งมากที่สุด น่าจะเป็นหลังเดือนมิถุนายน 2551 เพราะเป็นระยะเวลาที่ คตส.หมดอายุลง และคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และของนายสมัคร จะถึงเวลาที่จะมีผล

เมืองไทยก็เป็นอย่างนี้ การเมืองไทยที่มีคนอย่างนายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรี จะเห็นอนาคตว่าดีหรือไม่ดีอย่างไรนั้น คงมองไม่ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น