แพร่/ลำปาง – เครือข่ายหมอพื้นบ้านเมืองลำปาง-แพร่ผนึกกำลังเปิดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่เขลางค์นคร พร้อมเตรียมเปิดงาน “ข่วงผญา” ที่แพร่ นอภ.เกาะคา กระตุ้นสังคมไทยสนใจการแพทย์แผนไทยมากขึ้น หลังคิดเป็นสิ่งงมงายมาช้านาน
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปางแจ้งว่า เครือข่ายหมอพื้นบ้าน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ได้ร่วมกันจัดงานข่วงผญา ถ่ายทอดองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อเร็วๆ นี้ 2 ครั้งที่โรงเรียนนากิ๋ม แม่ไฮ ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง และวัดพระธาตุจอมปิง ต.นาแก้ว อ.เกาะคา จ.ลำปาง ตามโครงการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์พื้นบ้าน จ.ลำปาง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนมาก
ในงานนอกจากได้รับความรู้การจัดนิทรรศการภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านแล้ว ยังได้รับการสาธิตการแพทย์พื้นบ้านที่นำเอาสรรพวิชาเข้ามาผนวกร่วมกัน เช่น ความเชื่อด้านจิตใจสิ่งลี้ลับ จารีตวัฒนธรรมประเพณี หลักพุทธศาสนา รวมทั้งภูมิปัญญาการใช้พันธุ์ไม้ในป่ามาใช้ประโยชน์ทางยารักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดอีกด้วย
การจัดงานดังกล่าว เกิดจากการทำแผนงานร่วมกันระหว่างหมอพื้นบ้านใน อ.เกาะคา จ.ลำปาง และหมอพื้นบ้านใน จ.แพร่ ที่ต้องการนำวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมของไทยที่ใช้มาหลายชั่วอายุคนได้กลับมารับใช้สังคมอีกครั้ง เป็นการผสมผสานองค์ความรู้สมัยใหม่ - ภูมิปัญญาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การสนับสนุน ของมูลนิธิสุขภาพไทย ที่ทำงานร่วมกันใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก
นายชนะเกียรติ เจริญหล้า นายอำเภอเกาะคา จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ตนมีโอกาสไปเป็นประธานเปิดงานทั้ง 2 งาน เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพเชิงรุกให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งการเจ็บไข้ หรือ ป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการเจ็บป่วยหนัก
เช่น โรคนิ่ว โรคไต มะเร็ง โรคความดัน สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวยาสมุนไพร มีการใช้ผักพื้นบ้านและอาหารเป็นยาต้านสารก่อมะเร็ง ละลายนิ่ว เป็นต้น เป็นการทำงานควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญภูมิความรู้ดังกล่าวสามารถสร้างสรรค์ยาได้จากวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งสิ้น
“ที่ผ่านมาเราคิดว่าวิธีการของหมอพื้นบ้านเป็นวิธีที่งมงาย แต่ปัจจุบันสิ่งที่เราคิดว่างมงาย ถูกต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตรไปแล้วหลายตัว”
ดังนั้น วันนี้เราจึงควรหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการแพทย์พื้นบ้าน ที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ในชุมชน ซึ่งหมอพื้นบ้านบางประเภทกำลังหมดไปเนื่องจากกาลเวลาและไม่มีการถ่ายทอด แต่ถ้าชุมชนสามารถฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการยกระดับภูมิปัญญาในชุมชนให้มีความหมายขึ้นมาและนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และเกิดการดูแลสุขภาพกันเองในชุมชน เป็นการลดค่าใช้จ่ายและน้อมนำเอาหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างแท้จริง
นางสาวกรรณิการ์ ชมภูศรี ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการแพทย์พื้นบ้าน จ.ลำปาง กล่าวว่า การรวมตัวของหมอพื้นบ้านในจังหวัดลำปาง ได้รับความสนใจจากประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบ หมอพื้นบ้านอยู่ในชุมชนเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแก่ชุมชน
ในขณะเดียวกันเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์พื้นบ้าน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. นาแส่ง สถานีอนามัยนาแส่ง องค์กรเอกชน รวมทั้งหน่วยงานราชการเข้ามาทำงานร่วมกัน
สำหรับ ผลที่ได้ไม่เพียงการรักษาพยาบาลในชุมชนเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การให้ความสำคัญ ด้านวัฒนธรรมไทย การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าของชุมชน ทำให้สามารถใช้สมุนไพรได้อย่างต่อเนื่อง หมอพื้นบ้านในภาคเหนือจะร่วมกันจัดงานข่วงผญารวมภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านขึ้น ที่ศูนย์การเรียนรู้วัดทุ่งศรี ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ในงานจะมีการประสานงานหมอพื้นบ้านในจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ อาทิ หมอพื้นบ้านจากจังหวัดน่าน เชียงใหม่ และพะเยา เข้าร่วมด้วย