xs
xsm
sm
md
lg

งามตะลึงบนผ้าไหม เติมฝันสาวให้สวยย้อนยุค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - เพราะความรักในศิลปะไทย ผลักดันให้ “ธัญลักษณ์ อุ่มลำยอง” มุ่งมั่นฝึกฝนฝีมือ จนสร้างสรรค์ผลงานภาพจิตรกรรมไทยบนผ้าไหมให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และยิ่งรวมกับแนวคิดนอกกรอบ วาดภาพลูกค้าแต่งชุดไทยลงผืนผ้าไทย ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น

“ดิฉันสนใจงานศิลปะ และวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่มีโอกาสเรียนศิลปะอย่างจริงจัง เพราะครอบครัวไม่สนับสนุน ต้องหันเหชีวิตมาเป็นครู แต่ก็พยายามฝึกฝนเองมาตลอดทั้งจากหนังสือ และขอคำแนะนำจากผู้รู้ เพราะดิฉันฝันอยากทำงานศิลปะไทยให้เป็นที่ยอมรับ เพราะรู้สึกว่า สังคมไทยไม่ยกย่องกันเอง หันไปยกย่องศิลปะตะวันตก ทั้งที่ศิลปะไทยก็งดงามไม่แพ้กัน” ธัญลักษณ์ เล่าถึงแรงบันดาลใจ

จนปี 2546 เธอตัดสินใจตามล่าความฝัน ยึดอาชีพศิลปินเต็มตัว โดยเขียนภาพจิตรกรรมไทยลงบนผ้าไหม เน้นแนวเกี่ยวกับศาสนา นางตามความเชื่อ นางในวรรณคดี และวิถีไทย เป็นต้น โดยจุดเด่น คือ ทุกภาพใบหน้าหญิงไทยจะมีรอยยิ้มเสมอ เพราะอยากให้ผู้มองเห็นพบความสุข อบอุ่น และรู้สึกเป็นมิตร และถ่ายทอดความอ่อนโยนอ่อนหวานของหญิงไทย

ผลตอบรับภาพจิตรกรรมไทยบนผ้าไหม ดีอย่างต่อเนื่องขยายวงจากคนใกล้ชิดกว้างออกไปด้วยกระแสบอกปากต่อปาก ประกอบกับผลงานยังไปคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด OTOP Product Champion ประเภทเครื่องประดับตกแต่ง ปี 2547 ช่วยให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

ยิ่งกว่านั้น เมื่อธัญลักษณ์ประยุกต์ผลงานแนวใหม่เอาใจตลาด ด้วยการวาดใบหน้าลูกค้าใส่เครื่องแต่งกายย้อนยุค ทำให้ผลงานได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว

“แนวคิดนี้เกิดจากเวลาเราเห็นภาพวาดหญิงไทยในอดีต หรือภาพนางในตำนานทุกคนจะสวยมาก ก็กลับมาคิดว่า ผู้หญิงทุกคนก็อยากสวยอย่างนี้เช่นกัน เลยลองมาวาดภาพลูกค้าใส่ชุดไทย ให้เขาได้สวยแบบนางในอดีต ตามที่เคยฝันไว้” ธัญลักษณ์ อธิบาย

ทั้งนี้ การวาดภาพลูกค้าในชุดไทยย้อนยุคนั้น เธอตั้งกติกาส่วนตัวว่า ต้องให้ทุกคนออกมาสวย โดยจะให้คำแนะนำว่า บุคลิกหรือเค้าโครงหน้าควรจะแต่งกายด้วยชุดในยุคสมัยใด บางคนใบหน้าหรือรูปร่างอาจไม่ดีนัก ก็จะพยายามหามุมให้วาดออกมาแล้วสวยจนได้ ในขณะเดียวกันก็ยังดูรู้ว่าเป็นตัวเขาอยู่

อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า จะไม่ยอมวาดใบหน้าลูกค้าไปเป็นตัวละครในวรรณคดี อย่างนางเงือก กินรี และไม่ยอมวาดเป็นนางเอกในวรรณคดีเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะหากทำเช่นนั้นเท่ากับนำศิลปะไทยไปใช้ในทางไม่เหมาะสม และไม่คารวะต่อภูมิปัญญาไทย

สำหรับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงฐานะค่อนข้างดี ทั้งคนไทยและต่างชาติ เนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมด ต่อภาพใช้เวลาวาดประมาณ 10 วัน ราคาค่อนข้างสูงอยู่ที่หลักหมื่นบาทต่อภาพ

เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงมาก ปัญหาของเธอ คือ ไม่สามารถทำได้ทันตามความต้องการของลูกค้า เพื่อจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้เปิดหลักสูตรสอนเพนท์ภาพ คิดค่าเรียน 10,000 บาท ใช้เวลาเรียน 1 วันต่อสัปดาห์ รวมประมาณ 3-4 เดือน เพื่อสร้างเครือข่ายทำงานได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 20 คน

ธัญลักษณ์ เล่าต่อว่า การคัดเลือกผู้มาเรียนจะดูจากทัศนคติต้องชื่นชมศิลปะไทยจากหัวใจ และมีความทุ่มเทอย่างสูง ซึ่งหวังว่าลูกศิษย์จะช่วยมาเป็นเครือข่าย เผยแพร่ศิลปะไทยให้เป็นที่ชื่นชมของคนในวงกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องว่า ต้องมายึดติดกับงานที่เธอสอนเท่านั้น

“เจตนาที่แท้จริง เราไม่ได้มองเชิงพาณิชย์เป็นอันดับแรก แต่คิดอยากให้มีคนมาช่วยกันเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยให้เป็นที่รู้กันมากที่สุด เคยมีคนถามว่า เปิดสอนอย่างนี้ ไม่กลัวจะถูกแย่งลูกค้าหรือ ดิฉันตอบว่า ไม่กลัวเลย เพราะดิฉันอยากให้ศิลปะไทยเป็นที่นิยม ถ้าทำคนเดียว โอกาสก็ยาก ดังนั้น ถ้าลูกศิษย์คนใด อยากร่วมเป็นสมาชิกก็ยินดี หรือจะออกไปพัฒนางานหรือต่อยอดผลงานให้มีความหลากหลาย และดียิ่งขึ้นไป ดิฉันก็จะยิ่งยินดี” เจ้าของผลงาน กล่าว

เธอ ทิ้งท้ายว่า ความฝันสูงสุด อยากทำมูลนิธิรวมกลุ่มลูกศิษย์ หรือศิลปินที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โดยมีพิพิธภัณฑ์รวบรวมผลงานภาพของทุกคนแสดง เพื่อเผยแพร่ศิลปะไทย อีกทั้ง อยากจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ สอนแก่ผู้พิการ เพื่อไว้เป็นวิชาเลี้ยงชีพต่อไป

โทร.085-930-6352 , 087-718-1155
กำลังโหลดความคิดเห็น