xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีUS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บีบีซีนิวส์/เอเอฟพี – บรรดาผู้สมัครชั้นนำต่างเร่งตระเวนโฉบเฉี่ยวไปทั่วมลรัฐไอโอวาเมื่อวานนี้(2) เพื่อเสาะแสวงหาทุกคะแนนเสียงสุดท้าย หนึ่งวันก่อนหน้าการเลือกตั้งขั้นต้นหาตัวแทนของแต่ละพรรคใหญ่ ในมลรัฐแถบภาคตะวันตกกลางของสหรัฐฯแห่งนี้ ซึ่งเป็นเสมือนการตัดริบบิ้นอย่างเป็นทางการ สำหรับกระบวนการเลือกสรรผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯประจำปี 2008
ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ยังจะดำรงตำแหน่งไปจนกระทั่งถึงวันที่ 20 มกราคม 2009 ทว่าการแข่งขันเพื่อที่จะเข้าครองทำเนียบขาวต่อจากเขา ก็กำลังเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทุกขณะแล้ว
บรรดาผู้หวังที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป จากทั้ง 2 พรรคการเมืองหลักของอเมริกา นั่นคือ เดโมแครต และ รีพับลิกัน เวลานี้ต่างกำลังต่อสู้กันเพื่อให้ได้เป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้ง
กระบวนการในการคัดเลือกตัวผู้สมัครในคราวนี้จะเริ่มต้นกันอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ด้วย “คอคัส” ที่ไอโอวา ซึ่งนับว่ารวดเร็วยิ่งกว่าการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในอดีตที่ผ่านมา
ต่อไปนี้คือบางคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน:

**การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไร ?

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2008

**ในวันนั้นจะมีการเลือกตั้งอะไรกันบ้าง ?

เลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ, ขณะเดียวกันก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา และหนึ่งในสามของที่นั่งในวุฒิสภา

**ใครบ้างที่ลงชิงชัยเพื่อเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป ?

การเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อที่น่าสนใจในแง่ของคนที่ไม่ได้ลงแข่งขันด้วย นั่นคือ เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1928 ที่ทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีซึ่งกำลังดำรงตำแหน่งอยู่ ไม่ได้ประกาศลงชิงชัยเพื่อเป็นผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งสมัยต่อไป
สำหรับผู้ที่ลงแข่งขันและได้รับการกล่าวขวัญถึง
ทางด้านพรรคเดโมแครต มีอยู่ 3 คนซึ่งโดดเด่นกว่าเพื่อน ได้แก่
--ฮิลลารี คลินตัน ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน
--บารัค โอบามา วุฒิสมาชิกผิวดำจากมลรัฐอิลลินอยส์
--จอห์น เอดเวิร์ดส์ ผู้เคยลงชิงตำแน่งรองประธานาธิบดีปี 2004 ในทีมของ จอห์น แคร์รี

ทางด้านพรรครีพับลิกัน ยังออกจะพร่าเลือนมากกว่า แต่ผู้ที่มีคะแนนนำในโพลหยั่งเสียง ได้แก่
--รูดี จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก
--ไมก์ ฮักคาบี อดีตผู้ว่าการมลรัฐอาร์คันซอ
--จอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิกมลรัฐแอริโซนา
--มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการมลรัฐแมสซาชูเซตส์
--เฟรด ธอมป์สัน นักแสดงและอดีตวุฒิสมาชิก

อย่างไรก็ตาม เรตติ้งที่วัดกันก่อนหน้านี้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาแค่ชั่วข้ามคืน ทันทีที่พวกผู้สนับสนุนของ 2 พรรคการเมืองหลัก เริ่มต้นกระบวนการในการคัดเลือกตั้งผู้สมัคร โดยในปีนี้จะเริ่มต้นที่มลรัฐไอโอวา วันที่ 3 มกราคม

**พรรคไหนมีโอกาสชนะมากที่สุด ?

“แนวโน้มจากผลการหยั่งเสียงระดับชาติครั้งใหญ่ๆ ต่างเทมาทางข้างพรรคเดโมแครตอย่างเด็ดขาดแน่นอน” ศูนย์วิจัย พิว รีเสิร์ช เซนเตอร์ เขียนระบุเอาไว้ในรายงานเมื่อเดือนตุลาคม
รายงานนี้กล่าวต่อไปว่า “ความไม่พอใจต่อสภาพของประเทศชาติกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนยิ่งกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เรตติ้งความยอมรับในประธานาธิบดีบุชก็ได้หล่นฮวบจาก 50% เหลือ 30% ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และความได้เปรียบที่ชาวพรรคเดโมแครตมีเหนือกว่าชาวพรรครีพับลิกัน ในเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกผูกพันอยู่กับพรรคนั้น ไม่เพียงแต่เพิ่มขึ้นมากอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น แต่ยังอยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกกันในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย”
กระนั้นก็ตาม ยังคงมีคำถามอยู่ว่า ชาวพรรคเดโมแครตจะคัดสรรหาผู้สมัครซึ่งสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเช่นนี้ได้หรือไม่ จำนวนมากมายมหาศาลเลยย่อมขึ้นอยู่กับทักษะและบุคลิกภาพของผู้สมัครนั้นๆ ตลอดจนการที่เขา(หรือเธอ) จะสามารถรับมือกับการท้าทายต่างๆ ซึ่งบังเกิดขึ้นระหว่างการรณรงค์หาเสียงได้ดีเพียงใด

**ประเด็นปัญหาหลักๆ ในการชิงชัยคราวนี้มีอะไรบ้าง ?

ในระดับทั่วประเทศแล้ว ผลโพลบ่งชี้ว่าผู้มีสิทธิออกเสียงถือว่า เรื่องอิรัก, เศรษฐกิจ, โครงการดูแลสุขภาพ, การศึกษา, การงาน, และความมั่นคงแห่งชาติ คือสิ่งซึ่งมีความสำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา
อย่างไรก็ตาม มันยังเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละมลรัฐอีก โดยเรื่องผู้อพยพกำลังเป็นประเด็นปัญหาเผ็ดร้อนที่สุดในบางบริเวณของสหรัฐฯ
สำหรับประเด็นปัญหาทางสังคม อาทิ การทำแท้ง, การวิจัยด้านสเตมเซลล์, และการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน ดูจะมีความสำคัญน้อยลงสำหรับผู้ออกเสียง เมื่อเทียบกับช่วงการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2004

**ผู้สมัครจะกลายเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อย่างไร ?

แต่ละพรรคจะจัดการประชุมใหญ่ (party convention) กันในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน 2008 เพื่อลงมติเลือกผู้ที่พรรคจะส่งลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน ทว่าในทางเป็นจริงแล้ว ผู้แทนที่เข้าไปร่วมการประชุมและลงมติในที่ประชุมใหญ่ จะประกาศให้คำมั่นสัญญากันชัดเจนแล้วว่าจะไปเลือกใคร ดังนั้น การแข่งขันชิงชัยกันจริงๆ จึงเน้นกันในช่วงการคัดเลือกผู้แทนของแต่ละมลรัฐที่จะไปร่วมการประชุมใหญ่พรรค
การคัดเลือกผู้แทนของมลรัฐเพื่อไปร่วมการประชุมใหญ่พรรคนี้ มีวิธีการใหญ่ๆ อยู่ 2 วิธี กล่าวคือ มลรัฐส่วนใหญ่ใช้วิธีจัดให้ผู้สนับสนุนพรรคมาออกเสียงกันทั่วทั้งมลรัฐ ที่เรียกกันว่า “ไพรมารี” (primary) เพื่อตัดสินกันไปเลยว่าพวกเขาอยากให้ผู้สมัครคนไหนได้เป็นตัวแทนของพรรคลงชิงเก้าอี้ทำเนียบขาว ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้นจะจัดให้มีการประชุมในที่สาธารณะตามจุดต่างๆ ทั่วทั้งมลรัฐ การประชุมเช่นนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “คอคัส” (caucus) แต่รวมความแล้วว่า ผู้แทนที่จะไปเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคซึ่งได้รับการคัดเลือกจากแต่ละมลรัฐ ไม่ว่าด้วยวิธี “ไพรมารี” หรือ “คอคัส” ก็ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเขา(หรือเธอ)จะไปโหวตให้ผู้สมัครคนไหนในที่ประชุมใหญ่
แต่ละมลรัฐจะได้รับการจัดสรรจากทางพรรคว่าให้มีผู้แทนเข้าร่วมประชุมใหญ่ได้กี่คน และเมื่อมลรัฐต่างๆ ทยอยทำ “ไพรมารี” หรือ “คอคัส” แล้วแต่กรณี ไปสักระยะหนึ่ง ก็มักจะทราบชัดเจนว่าผู้สมัครคนไหนที่ได้คะแนนสนับสนุนจากผู้แทนที่จะไปร่วมการประชุมใหญ่จนมากเพียงพอที่จะชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว สำหรับปีนี้เป็นที่คาดหมายกันว่าน่าจะทราบว่าผู้สมัครคนไหนจะเป็นผู้ชนะกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

**หลังจากการประชุมใหญ่พรรคแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกก่อนหน้าวันเลือกตั้ง ?

พรรคเดโมแครตจะจัดการประชุมใหญที่โคโลราโดตอนปลายเดือนสิงหาคม ส่วนพรรครีพับลิกันจะจัดที่มินนิอาโปลิสตอนต้นเดือนกันยายน
ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคใหญ่ทั้ง 2 มีกำหนดจะโต้วาทีกันทางทีวีในวันที่ 26 กันยายน, 7 ตุลาคม, และ 15 ตุลาคม
นอกจากนั้น พวกเขายังจะรณรงค์หาเสียงกันอย่างเข้มข้นในมลรัฐซึ่งถือเป็นสมรภูมิสำคัญ

**ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะได้เป็นประธานาธิบดีใช่หรือไม่ ?

ไม่แน่เสมอไป ในทางเทคนิคแล้ว ประชาชนผู้ออกเสียงแต่ละคนไม่ได้ลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่พวกเขาเลือก “ผู้เลือกตั้ง” (elector) ซึ่งให้สัญญาไว้ชัดเจนว่าจะไปโหวตให้ผู้สมัครคนไหน และผู้เลือกตั้งเหล่านี้ คือผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีตัวจริง ผู้เลือกตั้งเหล่านี้มีจำนวน 538 คน โดยที่มลรัฐใหญ่จะได้รับจัดสรรจำนวนผู้เลือกตั้งมากกว่ามลรัฐเล็ก
ในแทบจะทุกมลรัฐใช้กติกาที่ว่า ผู้สมัครคนไหนที่ชนะได้คะแนนเสียงข้างมากจากผู้ออกเสียง (popular vote) ในมลรัฐนั้นๆ ก็จะได้คะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college vote) ของมลรัฐดังกล่าวไปทั้งหมดเลย แม้ว่าจะเฉือนชนะผู้สมัครคนอื่นเพียงนิดเดียวก็ตามที ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ลงท้ายผู้สมัครคนหนึ่งได้เสียงคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า และได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป แม้จะได้คะแนนเสียงจากประชาชนผู้ออกเสียงทั้งหมดทั่วประเทศ น้อยกว่าคู่แข่งขันก็ตามที

**มลรัฐที่มีสมรภูมิสำคัญคือที่ไหนบ้าง ?

ตามแบบแผนการออกเสียงในปีหลังๆ มานี้บ่งชี้ว่า มลรัฐแถบชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งตะวันตกแทบทั้งหมดจะลงคะแนนให้เดโมแครต และมลรัฐอื่นๆ ที่เหลือส่วนใหญ่จะโหวตให้รีพับลิกัน อย่างไรก็ตาม มีมลรัฐจำนวนหนึ่งซึ่งการออกเสียงอาจจะเหวี่ยงไปมาไม่แน่นอน อาทิ ฟลอริดา, โอไฮโอ, และ เพนซิลเวเนีย (ซึ่งแต่ละมลรัฐมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งตั้งแต่ 20 เสียงขึ้นไป) นอกจากนั้นก็เป็น แอริโซนา, โคโลราโด, ไอโอวา, มิสซูรี, นิวเม็กซิโก, เนวาดา, เทนเนสซี, เวอร์จิเนีย, และ วิสคอนซิน

**เลือกตั้งคราวนี้จะมีผู้สมัครจากฝ่ายที่ 3 อันเข้มแข็งหรือไม่ ?

บุคคลที่ถูกจับมองตามากที่สุดว่าอาจเป็นผู้สมัครฝ่ายที่ 3 ในสมัยนี้ได้คือ ไมเคิล บลูมเบิร์ก อภิมหาเศรษฐีผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้เขาปฏิเสธเรื่อยมาว่าไม่คิดที่จะลงแข่งขันก็ตามที
ในอดีตที่ผ่านมา ผู้สมัครฝ่ายที่ 3 สามารถทำให้ผลเลือกตั้งผันแปรไป ถึงแม้ตัวเขาเองไม่ได้เป็นผู้ชนะ เพราะเขาอาจมีอิทธิพลดึงคะแนนเสียงจากผู้สมัครของพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่งหรือทั้ง 2 พรรคก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น