รายงาน
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่
"เดินทางจากเกาหลีเหนือเข้าจีน ก่อนที่จะมาพักรอที่เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อรอคิวลงเรือเร็ว (สปีดโบต) หรือเรือสินค้าล่องมาตามแม่น้ำโขง ถึงสามเหลี่ยมทองคำ แล้วว่าจ้างเรือหางยาวของคนลาว ส่งขึ้นฝั่งชายแดนเชียงแสน จ.เชียงราย แล้วหาจังหวะปรากฏตัวให้เจ้าหน้าที่จับกุม เพื่อขอลี้ภัยไปประเทศที่ 3 โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่"
นั่นเป็นคำให้การที่มักเป็นก๊อบปี้เดียวกันของผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวเกาหลีเหนือ ที่ปรากฏในบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร สภ.เชียงแสน / เชียงของ / เมืองเชียงราย หรือแม้แต่ สภ.อื่น ๆ ในพื้นที่ชั้นในตามแนวเส้นทางที่มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ที่จับกุมชาวเกาหลีเหนือ หรือโสมแดงลักลอบเข้าเมืองได้ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ตั้งแต่ปี 47-48 - 49 - 50 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่า ปัญหานี้จะยังดำรงอยู่ในปี 2551 เช่นกัน
จากบันทึกการจับกุมและการให้ปากคำผ่านล่ามของชาวเกาหลีเหนือที่ถูกจับกุมในเขตท้องที่ สภ.เชียงแสน สามารถจำแนกวิธีการเดินทางเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. หลบหนีผ่านแดนมาทางสิบสองปันนา มาขึ้นเรือเร็วบริเวณท่าเรือกวนเหล่ย ทางตอนใต้สุดของมณฑลหยุนหนัน(ยูนนาน) ต่อจากนั้น จะมีเรือเร็ว หรือ สปีดโบตมารับ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง ถึงสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อมาถึงจะขึ้นฝั่งในเขตท้องที่ อ.เชียงแสน
2. โดยสารมากับเรือสินค้าซึ่งเป็นเรือใหญ่ และเมื่อเดินทางมาใกล้ชายแดนไทย จะแวะพักบริเวณหมู่บ้านในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป.ลาว) ต่อจากนั้นจะมีผู้จัดหาเรือเร็วติดธงชาติลาวมารับ เพื่อนำส่งขึ้นฝั่งในเขต อ.เชียงแสนต่อ
"โทโมฮารุ เอบิฮารา" อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ในฐานะ ตัวแทนขององค์กรช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือ และผู้ประสานงานสมาคมช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ถูกเกาหลีเหนือลักพาตัว ประจำประเทศไทย ซึ่งเคยถูกเชิญเป็นล่ามให้ชาวเกาหลีที่ถูกจับกุมหลายครั้ง ยืนยันว่า ช่องทางผ่านแม่น้ำโขง เข้าไทย ดูเหมือนจะปลอดภัยมากที่สุดสำหรับผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือที่เดินทางออกจาก จีน เมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น ๆ
พล.ต.ต. ทรงธรรม อัลภาชน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ยืนยันว่า ชาวเกาหลีเหนือทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อขอลี้ภัยต่อไปยังประเทศเกาหลีใต้ หรือประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นเหมือนกับผู้ลักลอบเข้าเมืองชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้เป้าหมายของกลุ่มคนดังกล่าวเพียงแค่ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านแต่ด้วยปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก่อให้เกิดภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาให้แก่เจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจภูธรและตรวจคนเข้าเมือง
"หน้าที่ของเราคือทำตามกฎหมายและคำนึงสิทธิมนุษยชนพร้อมกันไป เมื่อเข้ามาก็ต้องจับกุม สถานะของเขาก็คือ ผู้หลบหนีเข้าเมืองตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย แต่หากดำเนินการตามขั้นตอนครบแล้ว เขาก็มีสิทธิที่จะขอลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 ได้ แม้จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่ก็เป็นภาระขึ้นเรื่อยๆ"
ส่วนการเดินทางผ่าน สปป.ลาว - พม่า ที่ก่อนหน้านี้ก็มีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีชาวเกาหลีเหนือ เริ่มใช้เส้นทางจากหยุนหนัน - สปป.ลาว ผ่านถนน R3a เข้ามาที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่มีระยะทาง 240 กม.ซึ่ง สภ.เชียงของ ก็เริ่มจับกุมได้แล้วหลายรายนั้น
แต่ทั้ง 2 ช่องทางล้วนไม่ปลอดภัย เนื่องจากพม่ามีความใกล้ชิดทางการทูตกับเกาหลีเหนือมาก ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงปี 50 ที่ผ่านมาว่า ทางการพม่าจับชาวเกาหลีเหนือได้ แล้วส่งกลับเกาหลีเหนือทันที ซึ่งก็เหมือนการส่งกลับแดนประหาร ส่วน สปป.ลาว ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2550 มีรายงานข่าวผ่านเครือข่ายช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือ www.northkoreanrefugees.com ระบุว่า มีคนเกาหลีเหนือ 8 คนถูกทางการลาวจับกุมได้ที่บริเวณพรมแดนจีน-ลาว เขตเมืองบ่อหาน และถูกส่งไปควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง แขวงหลวงน้ำทา
ทำให้ประชากรเกาหลีเหนือลี้ภัยผ่านประเทศไทย ที่แม้จะยึดกฎหมายคือ เมื่อมีชาวต่างด้าวหลบหนีเข้ามา ก็จะจับกุมและส่งดำเนินคดีฐานหลบหนีเข้าเมือง ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และต่อจากนั้นเมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุด ชาวเกาหลีเหนือเหล่านั้นก็จะยื่นขอลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 ได้โดยสะดวก
ส่วนช่องทางผ่านเวียดนาม ก็เคยเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นเมื่อ 2547 เมื่อคราวการส่งมอบผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือ 450 คน ซึ่งรู้กันดีว่าผ่านเวียดนามเข้าเกาหลีใต้ พร้อมกับมีการให้ข่าวอย่างครึกโครมทั่วโลก ทำให้เกาหลีเหนือออกมาต่อว่าต่อขานเวียดนามอย่างรุนแรง จนทำให้เวียดนามต้องเปลี่ยนท่าทีต่อการเปิดไฟเขียวให้ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือเดินทางผ่าน
ทำให้การเดินทางจาก จีน ผ่านน้ำโขงเข้าไทยทางชายแดนเชียงราย (สามเหลี่ยมทองคำ) กลายเป็นเส้นทางที่สะดวก - ปลอดภัยที่สุด และที่สำคัญคลื่นผู้อพยพเหล่านี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โทโมฮารุ เอบิฮารา บอกอีกว่า เท่าที่เขาติดตามความเคลื่อนไหวคลื่นอพยพของชาวเกาหลีเหนือ เชื่อว่า ยังมีคนที่พักรออยู่ใน จีน อีกไม่น้อยกว่า 2-400,000 คน
"ทั้งหมด มีเป้าหมายที่จะเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทย เพื่อขอลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 โดยเฉพาะเกาหลีใต้ อเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ แน่นอนว่า ทั้งหมดต้องการให้เจ้าหน้าที่ไทยจับกุม แล้วเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายไทย ก่อนขอลี้ภัยตามลำดับ แทนการระหกระเหินอยู่ในประเทศอื่น ๆ ที่เป็นเส้นทางอพยพ ซึ่งต้องผ่านมือขบวนการค้ามนุษย์ ถูกละเมิดสิทธิครั้งแล้วครั้งเล่า"
ก่อนจะขึ้นฝั่งแม่น้ำโขงแถบชายแดนเชียงราย หลายคนต้องหลบอยู่ในจีน มากกว่า 5-6 ปี ถูกขาย - ถูกหลอก มาแล้วหลายทอด โดยโทโมฮารุ เอบิฮารา ยืนยันว่า เท่าที่เคยสัมภาษณ์ผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือ บางคนบอกว่า เธอถูกขายมาแล้ว 5 ครั้งตอนที่เดินทางผ่านจีน บางช่วงถูกขายไปเป็นภรรยาของชาวจีนในท้องถิ่น บางครั้งถูกขายไปเป็นกรรมกรแรงงาน ร้ายแรงที่สุดก็คือถูกขายไปเป็นโสเภณี โดยเฉพาะในจีน เป็นที่รับรู้กันว่า มีขบวนการค้ามนุษย์อยู่มากหน้าหลายตา
จากหลักฐานในมือของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย บ่งชี้ว่า การอพยพเข้าเมืองของชาวเกาหลีเหนือตลอดระยะที่ผ่านมานั้น ผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ ผู้อพยพหลายคนให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ไทย ทั้งตำรวจภูธร - ตม. ว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางตกประมาณ 1.5-2 แสนบาท ส่วนใหญ่จะมีการตกลงกันหากเดินทางไปถึงเกาหลีใต้ได้จะได้เงินทุนประมาณ 1-3 ล้านบาทไทย เงินก้อนดังกล่าวทางเครือข่ายที่ช่วยเหลือจะได้รับไปจำนวนหนึ่ง
รวมถึงบรรยายสรุปของเจ้าหน้าที่ในเชียงราย หลายหน่วย ก็บ่งชี้ตรงกันว่า จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาหลบหนีเข้าเมืองบางราย พบเบอร์ติดต่อประสานงานระหว่างผู้หลบหนี กับเครือข่ายเป็นระยะๆ ตลอดการเดินทางมาถึงชายแดนไทย และที่สำคัญเบอร์ที่ปรากฏมีแต่หมายเลขปลายทางต่างประเทศ ที่มีรหัส 009... นำหน้าทั้งสิ้น ไม่มีหมายเลขในประเทศไทยแม้แต่หมายเลขเดียว
สอดคล้องกับข้อมูลของ โทมาฮารุ เอบิฮารา ที่บอกว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีเงินทุนให้แก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งเงินจำนวนนี้เอง ที่จะถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้วยการสัญญาที่จะจ่ายให้แก่ผู้ช่วยเหลือเมื่อได้เงินก้อนดังกล่าว และจากนี้ไป ปัญหาผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือ จะเป็นภาระแก่ไทยหนักขึ้น เพราะนอกจากจะมีผู้พักรอในจีนอีกมากถึง 2-400,000 คนแล้ว ปลายทางคือ เกาหลีใต้ ยังอาจจรองรับได้จำกัด ซึ่ง โทมาฮารุ เอบิฮาร่า ระบุว่า ศูนย์อพยพในเกาหลีใต้ รองรับได้เพียงปีละพันกว่าคน หรือเต็มที่ก็เกิน 2 พันคน จากศูนย์อพยพที่มีอยู่
นั่นหมายถึง ชาวเกาหลีเหนือที่พักรอใน จีน หากทะลักออกมาเมื่อใด ก็ย่อมมีโอกาสที่จะตกค้างอยู่ในประเทศไทยแทน เพราะปลายทางปิด
นอกจากนี้ประเด็นปัญหาทางการเมือง-ความอดอยากแร้นแค้น ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นในเกาหลีเหนือ ซึ่งเฉพาะปี 2550 โครงการอาหารโลก (WFP) ได้รับการร้องขอจากเกาหลีเหนือให้ช่วยเหลือกรณีการขาดแคลนอาหารในปี 50 เพิ่มอีก 1 ล้านตัน ทำให้ช่วงปี 49-50 WFP ได้จัดหาอาหารให้เกาหลีเหนือรวม 150,000 ตัน แต่ก็ช่วยประชากรได้เพียง 3%เท่านั้น ย่อมเป็นตัวเร่งทำให้ชาวเกาหลีเหนือต้องหนีออกนอกประเทศมากขึ้นทุกขณะ
ดังที่เกิดขึ้นแล้วช่วงปลายปี 50 โดยเจ้าหน้าที่ ตม.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ระบุว่า ขณะนี้มีผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือ กว่า 60 คน ที่ยังรอความหวังที่จะถูกส่งไปกรุงเทพฯ - ประเทศที่ 3 หลังลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ผ่านด่านชายแดนสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และถูกจับกุมตัวมาได้ร่วม 3 เดือน เหมือนเพื่อนร่วมชาติที่ถูกส่งไปก่อนหน้านี้แล้วกว่า 200 คนในรอบปี 50
สำหรับสภาพกลุ่มผู้อพยพชาวโสมแดงล็อตนี้ ที่รอความหวังเดินทางไปยังประเทศที่ 3 ผ่านระบบการส่งตัวบุคคลต่างด้าวของเจ้าหน้าที่ไทย มีสภาพผอมโซอิดโรย แม้จะได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ก็ตาม
เจ้าหน้าที่ ตม.แม่สาย รายหนึ่ง ระบุว่า สาเหตุที่กลุ่มผู้อพยพเกาหลีเหนือกลุ่มนี้ ยังถูกควบคุมตัวอยู่ เนื่องจากทางหน่วยกำลังรองบประมาณจากหน่วยเหนือ เพื่อนำมาเจียดเป็นค่าจ้างรถตู้ลำเลียงผู้ต้องหาจากด่าน อ.แม่สาย เข้าไปยังศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายประมาณคันละ 14,000-15,000 บาทต่อรถ 1 คัน ในการลำเลียงผู้ต้องหาครั้งละ 10-15 คน เช่นเดียวกับที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 49-50 ซึ่งสามารถส่งตัวชาวเกาหลีเหนือไปแล้วกว่า 200-300 คน
กรณีนี้ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นที่ห้องกักกัน ตม.แม่สาย เท่านั้น แต่ยังเกิดที่ ตม.กาญจนบุรี และกรุงเทพมหานคร (ซอยสวนพลู) ด้วย