เมนเนจเอนจิน (Manage Engine) บริษัทโซลูชันจัดการไอทีองค์กรสัญชาติอินเดีย-อเมริกา ประกาศลงทุนต่อเนื่องช่วยลูกค้าไทยสู้ความท้าทายหลายด้านในภาคเทคโนโลยี เผยความเสียหายทางการเงินจากปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี 3 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคการเงิน พร้อมวางโร้ดแม็ป 2 ปีเปิดสำนักงานในไทย สานฝัน 5-10 ปีดันโปรเจ็กต์ดาต้าเซ็นเตอร์สู้ศึกระยะยาว
นายอรุณ กุมาร์ ผู้อำนวยการภูมิภาคของ ManageEngine กล่าวว่าแม้จะมีความท้าทาย แต่ตลาดเทคโนโลยีในไทยมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ไทยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคการเงิน (BFSI) หน่วยงานภาครัฐ การดูแลสุขภาพ และการศึกษา เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบออนไลน์ แม้แต่ภาคการผลิตและยานยนต์ก็เริ่มเข้าสู่โหมดดิจิทัลมากขึ้น การปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น กฎหมาย PDPA ของไทย, GDPR ของยุโรป, Cyber Essentials ของอังกฤษ และกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์อื่นๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งบประมาณด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม
“Manage Engine หวังเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือในระยะยาวสำหรับประเทศไทย เราไม่ได้มองแค่การขายซอฟต์แวร์ แต่ต้องการคืนกลับสู่ประเทศด้วย ทั้งการทำงานอย่างใกล้ชิดกับตลาดในท้องถิ่น จ้างพนักงานคนไทย และมอบความรู้ระดับโลก เพื่อให้ลูกค้าในแต่ละตลาดมีความปลอดภัยสูงสุด”
Manage Engine นั้นเป็นธุรกิจส่วนหนึ่งของโซโหคอร์ปอเรชั่น (Zoho Corporation) ที่ให้บริการองค์กรชั้นนำกว่า 9 ใน 10 ของบริษัทที่จัดอยู่ในกลุ่ม Fortune 100 ปัจจุบันบริษัทมีศูนย์ข้อมูล 18 แห่ง สำนักงาน 20 แห่ง และพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 200 รายทั่วโลก
*** ”หน่วยงานภาครัฐ” สุดเสี่ยง
นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชันนัล เซ็นเตอร์ จำกัด เผยว่า มูลค่าความเสียหายทางการเงินจากปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และ 3 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคการเงิน โดยเฉพาะการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐรวมกัน จะคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งหมด
“นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีจากประเทศเพื่อนบ้าน และความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain risk) เราจำเป็นต้องยกระดับทักษะ (upskill) และปรับทักษะใหม่ (reskill) ของบุคลากร มิฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานในอนาคต”
ในภาวะที่องค์กรไทยกำลังเร่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและกระแส AI ยักษ์ใหญ่อย่าง Manage Engine จึงย้ำว่าไทยไม่ควรลืมปัจจัยด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและกฎระเบียบต่างๆ นี่เองเป็นเหตุผลที่ Manage Engine ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของตัวเองและเสนอทางเลือกให้ลูกค้าสามารถติดตั้งระบบแบบ On-premise หรือใช้งานบนคลาวด์ได้ เพื่อให้ข้อมูลของลูกค้าไม่ตกอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท AI อื่น และสร้างโมเดล AI ของตัวเองเพื่อความสบายใจขององค์กร
*** ตลาดไทยไปต่อ
สำหรับประเทศไทย Manage Engine มีพันธมิตรในไทย 2 รายที่ทำงานร่วมกันมานาน และมี Reseller หรือบริษัท SI มากกว่า 10 รายในตลาด คาดว่าทีมเหล่านี้จะมีการขยายเพิ่มและแข็งแกร่งขึ้นผ่านการฝึกอบรมทางเทคนิค รวมถึงการทำโครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรแห่งอนาคตจากประเทศไทย และทำงานร่วมกับภาครัฐด้วย
“พฤติกรรมการนำไปใช้งานขององค์กรไทยที่เป็นลูกค้า Manage Engine มีทั้งแบบที่เปลี่ยนมาใช้โซลูชัน Manage Engine แทนระบบเดิม และแบบเริ่มต้นใช้งานใหม่ (greenfield investment) โดยบางองค์กรขนาดใหญ่ในไทยตัดสินใจเปลี่ยนระบบเดิม ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เริ่มต้นใช้ Manage Engine จากการเป็นเครื่องมือฟรี และเริ่มลงทุนเมื่อธุรกิจเติบโต” อรุณ กล่าว
อรุณย้ำว่าบริษัทที่ทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันหรือตัดสินใจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์มาเป็นอันดับแรก เพราะหากพบเหตุข้อมูลรั่วไหลเพียงแค่ 1 หรือ 2 ครั้งก็อาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและทำให้ธุรกิจล่มได้ โดยยืนยันว่าโซลูชัน Manage Engine สามารถให้บริการ End-to-End IT Solution ที่ช่วยให้การทำงานของแผนก IT มีประสิทธิภาพ รวดเร็วขึ้น ลดปัญหาคอขวด และเพิ่มความปลอดภัย รวมถึงมีเทคโนโลยี AI และ Automation ติดตั้งมาให้พร้อมใช้งานโดยที่ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเพิ่ม และสามารถอัปเกรดความสามารถเหล่านี้ได้ต่อเนื่อง
“Manage Engine มีจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งคือ การลงทุนใน R&D ด้วยงบกว่า 50% ของรายได้ ทำให้มีฟีเจอร์ใหม่มีพัฒนาการอยู่เสมอ ปัจจุบัน Manage Engine มีฐานลูกค้าในไทยมากกว่า 500 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 2 ปีข้างหน้า Manage Engine มีแผนจะเปิดสำนักงานในประเทศไทย และจะรับสมัครพนักงานเพิ่มทั้งในส่วนของบริการหลังการขายและก่อนการขาย”
ที่สุดแล้ว Manage Engine มีแผนเปิดศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปีนี้ ซึ่งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในแผน และประเทศไทยก็อยู่ในแผนระยะยาว 5-10 ปี ที่จะมีศูนย์ข้อมูลและทีมงานท้องถิ่นด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ถือเป็นแผนการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาของ Manage Engine ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.