xs
xsm
sm
md
lg

“ประเสริฐ” ย้ำ รบ.เข้มความมั่นคงทางไซเบอร์ พร้อมเสริมนโยบายหลังไทยขยับ 7 อันดับความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รมต.ประเสริฐ” ย้ำ รัฐบาล “แพทองธาร” ให้ความสำคัญความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมเสริมนโยบายเพิ่มความปลอดภัยด้านดิจิทัล โดยปี 2024 นี้ ไทยขึ้นอันดับ 7 กลุ่มประเทศต้นแบบด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จัดโดย Global Cybersecurity Index

วันนี้ (25 ก.ย.) นายประเสริฐ จัทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า รัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จาก Global Cybersecurity Index (GCI) ประจำปี 2024 (https://www.itu.int/en/ITU-D/Cybersecurity/Pages/global-cybersecurity-index.aspx) โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก จากทั้งหมด 194 ประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 37 อันดับ จากอันดับที่ 44 ในปี 2020 สะท้อนถึงพัฒนาการที่โดดเด่นของไทยในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์

การจัดอันดับครั้งนี้จัดขึ้นโดย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะทางของสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ โดย ITU วัดผลสัมฤทธิ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศต่างๆ ผ่านการให้คะแนนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านกฎหมาย (Legal), ด้านเทคนิค (Technical), ด้านหน่วยงานและนโยบาย (Organizational), ด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) และด้านความร่วมมือ (Cooperation) ซึ่งประเทศไทยทำคะแนนได้ 99.22 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม แบ่งเป็น ด้านกฎหมาย 20 คะแนน, ด้านเทคนิค 20 คะแนน, ด้านหน่วยงานและนโยบาย 19.22 คะแนน, ด้านการพัฒนาศักยภาพ 20 คะแนน และด้านความร่วมมือ 20 คะแนน ประเทศไทยยังได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศต้นแบบ (Tier1 - Role Modelling) ในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้าพัฒนาความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินการตามนโยบาย The Growth Engine of Thailand ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมี 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) เพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) 2) สร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ 3) เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล (Human Capital) ทั้งนี้ การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นคงและปลอดภัย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดแผนการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์โดยจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (NCSEC) เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และการโจมตีทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับนานาชาติในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการเป็นพันธมิตรในโครงการระหว่างประเทศเพื่อเสริมทักษะและความรู้ให้กับบุคลากร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ประเทศไทยมีพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งและปลอดภัยในทุกมิติ พร้อมผลักดันให้ประเทศก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น