xs
xsm
sm
md
lg

LINE ลุยต่อ ปั้น "แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย" ปี 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Edited - อัปเดตความเคลื่อนไหว 1 ปีแผนคว้าดาว “สร้าง Open Platform เพื่อคนไทย” ที่ ไลน์ (LINE) เคยประกาศอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2023 ระบุสามารถเลือก 50 พันธมิตรไทยเข้าพัฒนาโซลูชันบน LINE และเริ่มทดลองใช้กับ LINE ในภูมิภาคอื่นแล้ว เผยขั้นต่อไปพร้อมเปิดกว้างให้นักพัฒนาร่วมสร้างโซลูชันเหมือนมี "แอปสโตร์" บน LINE ขณะนี้กำลังคุยประเด็นไลเซนส์ และโมเดลส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งจะมีทั้งฟรีและไม่ฟรี มั่นใจยิ่งมีโซลูชันที่หลากหลายและยูสเคสมากขึ้น LINE จะมีประโยชน์มากขึ้น

นายรัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า LINE ยังคงสานต่อจุดมุ่งหมายในการเป็นแพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบริการดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจที่แตกต่างกันไป และนักพัฒนาเข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวม นอกจากนั้น ยังมุ่งช่วยให้ธุรกิจและแบรนด์เดินหน้าเติบโตต่อได้ในระยะยาวท่ามกลางความไม่แน่นอน ด้วยทิศทางการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อภาคธุรกิจในอนาคต

“เราโฟกัสกับการทำให้เกิดโซลูชันใหม่ได้มากขึ้น เพื่อตอบความต้องการได้มากขึ้น เรามีกำลังไม่พอ จึงต้องการให้แบรนด์สามารถปลดล็อกตรงนี้ได้ด้วยตัวเอง แบรนด์อาจจะมีกำลังสร้างโซลูชันได้ด้วยการจ้างพันธมิตร หรือมีทีมไอทีของตัวเองในการสร้าง ที่เราทำคือให้พลังกับเขา ที่จะสามารถสร้างโซลูชันใหม่บนระบบอีโคซิสเต็มของ LINE ได้”

***อ้ารับพันธมิตรภายนอก

ย้อนไปเมื่อตุลาคมปี 2023 บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นเปิดไฟเขียวให้ LINE ประเทศไทยนำร่องปลุกปั้น “แพลตฟอร์มเปิด” เพื่อเป็นเหมือนแอปสโตร์ด้านการตลาดและบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ก่อนประเทศอื่น การประกาศครั้งนั้นสร้างความตื่นเต้นในวงการธุรกิจไทย เพราะนี่คือสัญญาณของการอ้าแขนรับพันธมิตรคนนอกของ LINE เพื่อผลักดันธุรกิจ B2B ของ LINE ประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก จากฐานตลาด LINE OA (LINE Official Account) หรือบัญชีที่แบรนด์น้อยใหญ่เปิดไว้สื่อสารกับผู้ใช้ LINE ซึ่งเติบโตจาก 2 ล้านเป็น 6 ล้านบัญชีในช่วงไม่กี่ปีหลังโควิด-19

รัฐธีร์ ฉัตรดำรงค์ศักดิ์
แผนการในส่วนนี้ของ LINE คือการพยายามทำให้เกิดการสร้างโซลูชันใหม่บน LINE เพื่อให้ LINE มีประโยชน์สูงสุด เหมือนที่แอปเปิล (Apple) สามารถเพิ่มประโยชน์ให้สินค้าตัวเองด้วยนานาแอปพลิเคชันบนร้านแอปสโตร์ (AppStore) กรณีของ LINE โซลูชันที่แบรนด์หรือนักพัฒนาทั่วไปลงมือสร้างกันเอง อาจจะทำให้แบรนด์ได้รู้จักลูกค้ามากขึ้น ทำให้ข้อมูลถูกเก็บผ่านแอปที่พัฒนาขึ้นได้โดยตรง

ตัวอย่างเช่น ธนาคารที่เริ่มแจ้งยอดเงินเข้าออกทาง LINE ผ่านโซลูชันที่พัฒนาขึ้น อาจพบว่าลูกค้าธนาคารเปิด LINE เข้าใช้งานบ่อยขึ้น ธนาคารจึงมีโอกาสในการขายมากขึ้นอีก ลักษณะนี้จะนำไปสู่ช่องทางการหารายได้ใหม่ ที่จะเกิดขึ้นจากโซลูชันบนแพลตฟอร์มเปิด ซึ่งหมายถึงว่า LINE กำลังเปิดกว้างในการเชื่อมต่อกับเครื่องมือใหม่ๆ

LINE เรียกแพลตฟอร์มนี้ว่า “ไลน์ โอเอ พลัส” (LINE OA Plus) ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีโซลูชันในแพลตฟอร์มนี้เปิดให้บริการและใช้งานแล้วจริงอย่าง MyShop, MyCustomer ซึ่งทาง LINE ไต้หวัน ได้เริ่มทดลองสร้างโซลูชันบนแพลตฟอร์ม OA Plus นี้แล้วด้วยเช่นกัน

“ตัวอย่างเช่น LINE ไต้หวัน ที่มีการสร้างบริการชอปปิ้งบน LINE ผ่าน LINE OA อย่างเดียว แม้จะอยากลองสร้างโซลูชันใหม่แต่สร้างไม่ทัน จึงสนใจในตัวแพลตฟอร์ม OA Plus และลองเริ่มสร้างบางโซลูชันขึ้นบนแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเมื่อแบรนด์ได้ลองใช้ ก็พบว่ามีการจับจ่ายมากขึ้น”

เบื้องต้น LINE ไม่เผยว่ามุ่งหวังให้แพลตฟอร์มนี้เริ่มทำรายได้ให้ LINE เมื่อใดหรือเท่าใด แต่จากกรอบเวลาที่เคยประกาศไว้ พบว่า LINE วางแผนสร้างแพลตฟอร์ม OA Plus ให้ได้ในเวลา 3 ปี ซึ่งอาจเป็นเวลาที่โซลูชันบนแพลตฟอร์มนี้จะเริ่มสร้างรายได้กลับไปที่นักพัฒนาและตัว LINE เอง ซึ่งจะเสริมกับ 2 ทิศทางที่ LINE เน้นมาตลอด คือการเพิ่มฟังก์ชั่นผู้ช่วยส่วนตัวที่เพิ่มความสะดวกในการชอปปิ้งผ่าน LINE OA ให้กับผู้ใช้ และการเพิ่มฟังก์ชั่นในการทำ Chat Commerce บน LINE ให้กับแบรนด์ รวมถึงทิศทางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ LINE เน้นให้แบรนด์สามารถต่อยอดธุรกิจได้จากการเชื่อมต่อ MyCustomer API, LINE SHOPPING API และ Mini App

LINE อัปเดตความเคลื่อนไหวเรื่องการสร้างแพลตฟอร์มเปิดนี้ในงาน THAILAND NOW & NEXT: Thriving through The Economic Instability ซึ่งจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้แบรนด์ปรับตัวได้ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในมุมมองน่าสนใจที่มีการเผยแพร่ในงาน คือผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของไทยที่เติบโตแบบผันผวนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

***ทางออกแบรนด์ ฝ่าพิษเศรษฐกิจ

ผู้บริหาร LINE ระบุว่าแม้ในปี 2024 คาดว่าจะมีการฟื้นตัวด้วยอัตราการเติบโตประมาณ 2.3% ถึง 2.6% จากแรงสนับสนุนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น หากแต่หนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 90% รวมถึงปัจจัยลบภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในภูมิภาคอาเซียน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหลายเหล่านี้ ชี้ว่าประเทศไทยรวมถึงธุรกิจต่างๆ กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาค ดังนั้นแบรนด์จึงต้องศึกษาผู้บริโภคยุคใหม่ เพื่อให้สามารถทำตลาดได้ดีขึ้นท่ามกลางขวากหนามเหล่านี้

ชินตา ศรีจินตอังกูร
น.ส.ชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader หรือหัวหน้าส่วนงานในประเทศไทย บริษัท นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคมีรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนจากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังไปสู่การใช้จ่ายแบบพิถีพิถันและตั้งใจมากขึ้น โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะปรับตัวกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการประเมินการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ขณะที่สภาวะเงินเฟ้อในไทย ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อสิ่งตอบแทนที่เท่าเดิม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ทำให้ผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง พร้อมที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่มองว่าคุ้มค่ากว่า พบว่ากลุ่มใหญ่ในสังคมไทยมากกว่า 50% ยังระมัดระวังและมีความกังวลในการใช้จ่าย

“ผู้บริโภคส่วนมากยังให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายที่เน้นความเรียบง่าย การวางแผน และการหลีกเลี่ยงความสิ้นเปลือง หลายคนนิยาม “ความคุ้มค่า” แบบใหม่ ผู้บริโภคไม่ได้มองแค่เรื่องราคาที่ถูกลง แต่ยังพิจารณาถึงคุณค่าในรูปแบบอื่นๆ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงได้ เช่น เป็นสินค้าใหม่ เป็นสินค้าที่สร้างความยั่งยืน เป็นสินค้าที่มาจากธรรมชาติ เป็นต้น“

น.ส.ศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล ผู้อำนวยการธุรกิจองค์กร LINE ประเทศไทย มองว่าหลายธุรกิจได้ตระหนักและปรับกลยุทธ์เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้อินไซต์การใช้งานดาต้าบนแพลตฟอร์ม LINE ของธุรกิจต่างๆ ในไทยเปลี่ยนไปด้วย หลายแบรนด์ใช้ช่องทางโฆษณาแบบผสมผสาน โดยใช้ทั้งช่องทางโฆษณาแบบสร้างการรับรู้และขายของคู่กันไป ซึ่งในกรณีของการลงโฆษณา LINE Ads พบว่ามีการใช้กลุ่มเป้าหมายใหม่ในการยิงโฆษณา ทั้งการทดลองเลือกกลุ่มเป้าหมายในเซกเมนต์ใหม่ๆ นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายโดยตรงที่เคยเลือกใช้ เพื่อขยายฐานผู้มีแนวโน้มสนใจสินค้าของแบรนด์ได้กว้างและครอบคลุมขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์ ที่ลองขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ที่สนใจเรื่องแต่งงาน ครอบครัว หรือเสียงเพลง

ศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล
อีกเทรนด์ที่ LINE เห็นในประเทศไทย คือการให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลด้วยตัวเองหรือ 1st Party Data โดยใช้เครื่องมือ MyCustomer ทำหน้าที่เป็นถังเก็บ รวบรวม และบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อนำมาจำแนก แบ่งกลุ่มเป้าหมาย ในการสื่อสารและใช้ทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ธุรกิจกลุ่มการเงินและประกัน ที่มีการอัปเดตข้อมูลบัญชี การทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้ใช้แต่ละราย หรือนำเสนอบริการอันหลากหลายให้เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคนผ่าน LINE OA

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แบรนด์ไม่มีข้อมูล 1st Party Data เป็นของตนเอง ก็สามารถใช้ Mission Stickers หรือสติกเกอร์ของแบรนด์ที่ลูกค้าต้องทำภารกิจให้เสร็จสิ้นก่อนจะสามารถดาวน์โหลดนำสติกเกอร์เหล่านี้ไปใช้ได้ (เช่น การตอบแบบสอบถาม) จุดนี้ผู้บริหารชี้ว่าแบรนด์จะสามารถเก็บข้อมูล 1st Party Data ได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นเกิน 50% ทีเดียว

***ล็อกเป้าละเอียดยิบ


โรดแมปการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมือ-โซลูชันต่างๆ บน LINE ภายในปี 2024-2025 จะเน้น 3 กลุ่มสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มการระบุกลุ่มเป้าหมายที่ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้น

วีระ เกษตรสิน (ซ้ายสุด)
นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ LINE ประเทศไทย แบ่งแผนพัฒนาเครื่องมือของ LINE ในปีหน้าออกเป็น 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มบริการด้านโฆษณา กลุ่มโซลูชันด้านดาต้า และกลุ่มเครื่องมือเพื่อติดตามผล โดยกลุ่มบริการด้านโฆษณาจะมีการเพิ่มรูปแบบใหม่และเพิ่มตัวเลือกในการระบุกลุ่มเป้าหมายที่ละเอียด ครอบคลุมมากขึ้น ล่าสุด ได้เปิดให้แบรนด์สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายตามความสนใจในกลุ่มผู้ติดตามบน LINE OA แล้ว และจะมีการขยายไปสู่กลุ่มผู้ใช้งาน LINE OpenChat ผู้ใช้งานบริการอื่นๆ บน LINE รวมถึง LINE TODAY ในอนาคต

สำหรับกลุ่มโซลูชันด้านดาต้า LINE จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการดาต้าได้ดีและสะดวกยิ่งขึ้นบน MyCustomer ผ่านความสามารถใหม่ๆ เช่น การจับคู่ข้อมูลด้านโปรไฟล์ของลูกค้ากับผู้ติดตามใน LINE OA การมีระบบอัตโนมัติมาช่วยดำเนินงานการตลาดให้ การเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบภายนอกได้ และการสร้างกลุ่มเป้าหมายคาดการณ์โดย AI ในขณะที่ MyCustomer | CRM มีแผนเปิดกว้างการเชื่อมต่อกับช่องทางการขายอื่นๆ มากขึ้น รวมไปถึงกับแอป LINE MAN อีกทั้งยังมีการเพิ่มฟังก์ชันการสร้างกิจกรรมพิเศษตามกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ

สำหรับกลุ่มเครื่องมือเพื่อติดตามผล LINE จะเดินหน้าผลักดันการใช้งาน Conversion API เพื่อช่วยแบรนด์เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามผลพฤติกรรมผู้บริโภคได้แม่นยำ ครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น