xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส-ไปรษณีย์ไทย ผนึก 50 องค์กรมุ่งสู่ ESG สร้างเครือข่ายการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส และไปรษณีย์ไทยเร่งขับเคลื่อนกลยุทธ์ ESG ดึง 50 หน่วยงานองค์กรรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ ร่วมจัดงาน ESG Day : Networking for sustainable growth สร้างเครือข่ายการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อคนไทย เพื่อร่วมกันออกแบบและแชร์กลยุทธ์แนวทางด้าน ESG ที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทย โดยไปรษณีย์ตั้งเป้าหมายการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญในสังกัดที่ได้นำหลัก ESG หรือ Environment Social and Government ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยหลัก ESG เป็นแนวคิดเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนและคำนึงถึง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งดีอีเอสได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดนำแนวคิด ESG มาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรและดำเนินธุรกิจ

“ไปรษณีย์ไทยมุ่งเน้นส่งเสริมการนำดิจิทัลมาใช้ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม เช่น การลดความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่น ลดความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านระบบการดำเนินงานเอกสารดิจิทัล Digital Post ID มิติด้านสังคม เช่น การขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการของไปรษณีย์ไทยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ผ่านการสะสมแต้มของสมาชิก EMS Point และมิติธรรมาภิบาล กับการผลักดันหน่วยงานให้เป็นต้นแบบความโปร่งใส และส่งเสริมให้มีเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำไปใช้กับการดำเนินงานทุกขั้นตอน และในปีนี้ดีอีเอสได้กำหนดแผนงานนี้เป็นส่วนงานที่ต้องสานต่ออย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่ก้าวหน้าด้วยดิจิทัลควบคู่กับความยั่งยืน”

ด้าน ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กล่าวว่า การนำกรอบ ESG เป็นเครื่องมือในการพิจารณาความเสี่ยงขององค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจไทย เช่น ไปรษณีย์ไทย สอดคล้องกับทั้งนโยบายของประเทศที่เน้นประเด็น Bio-Circular Green Economy และพันธกรณีและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเสริมสร้างหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้งนี้ ในการนำกรอบ ESG มาใช้ยังต้องดำเนินการควบคู่กับหลักการชี้แนะของสหประชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเน้นการพิจารณาห่วงโซ่คุณค่า หรือห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) และการตรวจสอบผลกระทบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence)

การจัดงาน ESG Day ของไปรษณีย์ไทยในครั้งนี้เป็นกิจกรรม CSR ที่สร้างประโยชน์ให้ทุกภาคส่วน โดยคาดหวังว่ารัฐวิสาหกิจต่างๆ จะเป็นเจ้าภาพจัดงานลักษณะนี้ในปีต่อๆ ไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน และได้ฝากข้อพิจารณาให้รัฐวิสาหกิจในด้าน ESG หลายประการ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานภายในที่มีพันธกิจด้าน ESG อย่างชัดเจน การร่วมกันตรวจสอบและกำหนดประเด็นความเสี่ยง ESG ที่มีนัยสำคัญ (Materiality) การจัดทำตัวชี้วัด ESG และการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน เป็นต้น


ส่วน ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้ดำเนินการตามหลัก ESG โดยนำเข้ามาปรับใช้กับองค์กรอย่างครบถ้วน ทั้งมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ไปรษณีย์ไทยได้ตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยทยอยปรับเปลี่ยนยานยนต์เชื้อเพลิงมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถขนส่งไปรษณีย์ รถตู้ และจักรยานยนต์ โดยจะเริ่มการทดลองขับในช่วงปีนี้จำนวน 250 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 20,000 คัน เพื่อทดลองประสิทธิภาพของการนำจ่ายพัสดุของไปรษณีย์ จึงขยายบริการในพื้นที่อื่นๆ เริ่มแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และชลบุรี การลดภาระด้านเอกสารกระสาร เช่น จดหมาย และเอกสารสำคัญมาจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล ด้วยแอปพลิเคชันพร้อมโพสต์ Prompt Post รวมถึงการตั้งเป้ารีไซเคิลขยะจากอีคอมเมิร์ซ ทั้งกล่องพัสดุและซองที่ไม่ได้ใช้แล้วในโครงการ reBOX เพื่อลดปัญหาคาร์บอนฟุตพรินต์ ปริมาณขยะประเภทกระดาษ พร้อมสร้างประโยชน์ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มมากขึ้น และได้นำพลังงานใหม่ๆ เช่น โซลาร์รูฟท็อป

นอกจากนี้ ทางไปรษณีย์ไทยพร้อมสนับสนุนการสร้างสังคมที่ดีขึ้นตามมิติทางด้านสังคมโดยมีแคมเปญเพื่อนแท้ร่วมทาง (Road Safety) ที่บุรุษไปรษณีย์จะเป็นต้นแบบด้านการขับขี่ปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนน การสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ในโครงการไปรษณีย์สร้างสุข และการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม Thailandpostmart และไปรษณีย์ทั่วประเทศ มียอดจำหน่ายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการบนเว็บไซต์กว่า 7,000 ราย และมีสินค้ากว่า 10,000 รายการ รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมอาชีพให้แก่บุคคลอีกหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นคนพิการ นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้มีโอกาสได้เรียนรู้แนวทางการสร้างอาชีพต่อไป และในส่วนของมิติองค์กร ไปรษณีย์ไทยได้ยึดมั่นเรื่องความโปร่งใส บริหารงานภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่มขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

“ไปรษณีย์ไทยมุ่งมั่นเป็นพลังโครงข่ายเชื่อมโยงปัจจัยสำคัญของการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยจากคุณค่าของสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และคุณธรรม เพราะเราเชื่อว่าพลังแห่งความสัมพันธ์ที่สมดุลและการส่งมอบคุณค่าการให้บริการจะนำพาสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน”


กำลังโหลดความคิดเห็น