xs
xsm
sm
md
lg

'กสทช.' ไฟเขียว 'NT' ใช้คลื่น Ka-Ku ผ่าน OneWeb ย้ำต้องเป๊ะตามมาตรฐาน ITU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'กสทช.' อนุมัติ 'NT' ใช้คลื่น Ka-Ku ผ่านดาวเทียม OneWeb คุมเข้มมาตรฐานสากล ป้องกันรบกวนสัญญาณระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.67 ที่ประชุม กสทช. มีมติ 6 เสียง อนุมัติให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ใช้คลื่นความถี่ในย่าน Ka และ Ku เพื่อใช้ในกิจการประจำที่ผ่านดาวเทียม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม สำหรับบริการสัญญาณดาวเทียมผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ร่วมกับ OneWeb โดยมีรายละเอียดสำคัญ และออกข้อบังคับต่างๆ ดังนี้

1.การใช้คลื่นความถี่ Ka ตามข้อบังคับสากล
ผู้ได้รับอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน Ka จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับวิทยุ (Radio Regulations) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยเฉพาะในมาตรา 22 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันการรบกวนสัญญาณและการจำกัดระดับพลังงานการส่งสัญญาณ (epfd) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งสำหรับการส่งข้อมูลแบบ Uplink และรับข้อมูลแบบ Downlink

2.สิทธิและหน้าที่ในการให้บริการระหว่างประเทศ
กสทช. ได้เน้นย้ำถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ได้รับอนุญาตที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนด เช่น การได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เฉพาะในเขตพื้นที่ที่กำหนด และต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศในการใช้คลื่นความถี่สำหรับการสื่อสารดาวเทียม

3.เงื่อนไขการตั้งสถานีภาคพื้นดิน
ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการตั้งสถานีภาคพื้นดิน (Earth Station) ในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ กสทช. สถานีภาคพื้นดินนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับส่งสัญญาณดาวเทียมสำหรับผู้ใช้บริการ Uplink และ Downlink โดยต้องใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

4.การอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ตามระบบ "มาก่อนได้ก่อน"
การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับบริการดาวเทียม OneWeb จะใช้ระบบ "มาก่อนได้ก่อน" (First come, first served) โดยผู้ประกอบการที่ต้องการใช้คลื่นความถี่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อ กสทช. และปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับการอนุมัติจาก กสทช.

5.การตรวจสอบและรายงานผล
ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการตรวจสอบและรายงานผลการใช้งานคลื่นความถี่ โดยจะต้องรายงานต่อ กสทช. ถึงผลการใช้งานและการปฏิบัติตามข้อบังคับวิทยุ รวมถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบของ ITU เพื่อรักษาความปลอดภัยและป้องกันการแทรกแซงสัญญาณระหว่างประเทศ

6.เงื่อนไขการให้บริการดาวเทียมสำหรับต่างประเทศ
การให้บริการรับส่งสัญญาณดาวเทียมระหว่างประเทศผ่านเครือข่าย OneWeb จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของ กสทช. โดยเฉพาะการใช้คลื่นความถี่ย่าน Ka และ Ku ซึ่งจะต้องยื่นขออนุญาตล่วงหน้าและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม จากข้อบังคับเหล่านี้ กสทช. ได้เน้นย้ำถึงการใช้คลื่นความถี่ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันปัญหาการแทรกแซงสัญญาณระหว่างประเทศ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ส่งผ่านดาวเทียม OneWeb

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก NT ระบุว่า มติดังกล่าวเปิดทางให้เอ็นทีเดินหน้าบริการเกตเวย์ที่ จ.อุบลราชธานี เชื่อมต่อสัญญาณกับดาวเทียม LEO ของ OneWeb เพื่อตลาดบรอดแบนด์ใน 8-9 ประเทศ ลูกค้าองค์กร คาดว่าจะสร้างรายได้หลักร้อยล้านบาท ส่วนการให้บริการต่างประเทศของ OneWeb คาดว่าจะเริ่มได้ในอีก 6 สัปดาห์

"แม้การอนุมัติจาก บอร์ด กสทช.จะผ่านแล้ว แต่ยังมีการคัดค้านเรื่องสัญญาที่อาจทำให้ NT เสียผลประโยชน์ ต้องรอการตีความจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทำให้การบริการในประเทศต้องชะลอไปก่อน" แหล่งข่าวกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

บอร์ด NT สั่งรื้อสัญญา OneWeb!!
'OneWeb' ลุยบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม ลงทุน 900 ล้าน ตั้งสถานีเกตเวย์อุบลฯ ดันไทยเป็นฮับ เปิดบริการ ก.ย.67
มติเอกฉันท์ 'กสทช.' เคาะใบอนุญาต 'OneWeb' ประกอบกิจการดาวเทียมบรอดแบนด์ในไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น