xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด NT สั่งรื้อสัญญา OneWeb!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



งามไส้! บอร์ด NT สั่งรื้อสัญญา OneWeb หลังพบ 'สรพงษ์ ศิริพันธุ์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดาวเทียมและโครงข่ายดอดเซ็นสัญญา ส่อผิดทั้งขั้นตอน-ทำรัฐเสียผลประโยชน์ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฎหมายพิจารณาให้รู้ผลภายใน 30 วัน พร้อมแจ้ง กสทช. ว่าอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงสัญญา ซึ่งจำเป็นต้องส่งร่างสัญญาที่แก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน จึงจะสามารถลงนามในสัญญาได้

แหล่งข่าวจากบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า สัญญาที่เซ็นระหว่าง 'สรพงษ์ ศิริพันธุ์' รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดาวเทียมและโครงข่าย NT กับบริษัท เน็ตเวิร์ค แอคเซส แอสโซซิเอท จำกัด (Network Access Associates) หรือ OneWeb บริษัทที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศอังกฤษ มีข้อพิรุธที่ส่อให้เห็นว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องใน 2 ประเด็นหลัก คือ ผิดขั้นตอนตามกฎหมายและผลประโยชน์ตอบแทนที่ NT ควรจะได้รับไม่ถูกต้องและไม่สมเหตุสมผล

"สัญญานี้ไม่ผ่านการพิจารณาจากบอร์ด NT และไม่ส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนเหมาะสมหรือไม่ แต่รอง กจญ.สรพงษ์ กลับไปลงนามด้วยข้ออ้างว่า เป็นสัญญาตามธุรกิจปกติ"

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 เรื่องการปรับปรุงแก้ไขมติ ครม. เกี่ยวกับการส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา (ให้ส่วนราชการต่างๆ ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนลงนามสัญญา ส่วนร่างสัญญาของรัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดให้สัญญาบางประเภทเท่านั้นที่ต้องส่งไป เช่น การดำเนินการที่ต้องผูกพันกับนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เป็นการดำเนินการเป็นปกติธุระของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ส่วนกรณีอื่นจะอยู่ในดุลพินิจของรัฐวิสาหกิจที่จะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาหรือไม่ก็ได้)

"สัญญากับ OneWeb มันชัดเจนว่า ผูกพันกับนิติบุคคลต่างประเทศ มันจะเป็นสัญญาปกติธุระของรัฐวิสาหกิจตรงไหน"

นอกจากประเด็นลักไก่ไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ด และไม่ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาถึงความถูกต้องเหมาะสมแล้ว ยังมีประเด็นที่ NT ได้รับผลตอบแทนที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมด้วย โดยที่กลุ่มอดีตผู้นำแรงงาน บริษัท NT ได้ทำหนังสือร้องเรียนประธานบอร์ด NT เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 เรื่องขอให้ตรวจสอบความถูกต้องของการนำดาวเทียมต่างชาติ (OneWeb) มาให้บริการในประเทศไทยของ NT

โดยระบุว่า ตามที่ กสทช.ได้มีมติอนุญาต NT ให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb การเพิ่มบริการโทรคมนาคมและการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมนั้น กลุ่มอดีตผู้นำแรงงาน NT รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ มีความกังวลต่อผลประโยชน์ของ NT และผลประโยชน์ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทางกลุ่มได้รับทราบข้อมูลมาว่า การทำข้อตกลงระหว่าง NT กับบริษัทต่างชาติ (OneWeb) มีประเด็นที่เป็นปัญหามีความสุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย กระทบต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงเป็นสัญญาที่เสียเปรียบบริษัทต่างชาติ (OneWeb) โดยขอให้บอร์ด NT ตรวจสอบตามประเด็นดังนี้

1.สัญญาระหว่าง NT กับบริษัทต่างชาติ (OneWeb) เป็นการสมยอมและสนับสนุนให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เช่น การที่บริษัทต่างชาติเป็นผู้ทำธุรกิจและให้บริการตัวจริงสามารถกำหนดว่าจะให้บริการต่อใคร ในลักษณะใด โดยผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือต่างชาติและมี NT เป็นเพียงตัวกลางหรือไม่ ซึ่งอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมาย มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 พ.ร.บ.กสทช.พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เพราะหากการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อกฎหมายจริงอาจต้องระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ

2.การบริหารจัดการและการควบคุมโครงข่ายของบริษัทต่างชาติ (OneWeb) ที่ให้บริการต่อผู้ใช้บริการในประเทศไทยนั้น NT สามารถควบคุมโครงข่าย OneWeb ที่นำมาให้บริการด้วยตนเอง หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของบริษัทต่างชาติ (OneWeb) แต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อมาตรา 44/1 ของ พ.ร.บ.กสทช.ที่กำหนดว่า "ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้" และอาจส่งผลกระทบทางด้านความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากการควบคุมระบบโทรคมนาคมอยู่ภายใต้การควบคุมของคนต่างชาติ


3.ขอให้ตรวจสอบการทำสัญญาระหว่าง NT และ OneWeb ว่า NT อาจถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการต่างชาติ (OneWeb) หรือไม่

ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ด NT เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา บอร์ดได้มีมติให้นำสัญญาทั้งหมดในการดำเนินโครงการดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit - LEO) OneWeb ระหว่าง NT กับ OneWeb รวมทั้งประเด็นข้อร้องเรียนจากผู้นำแรงงาน NT วันที่ 7 มิถุนายน 2567 เสนอคณะกรรมการกฎหมาย คดีและข้อพิพาทเพื่อพิจารณาให้เกิดความรอบคอบและป้องกันความผิดพลาดในภายหลัง พร้อมทั้งแจ้งให้ สำนักงาน กสทช. รับทราบว่า NT อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงสัญญาดังกล่าว เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะจัดส่งร่างสัญญาที่แก้ไขปรับปรุงให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนดำเนินการลงนาม และส่งให้ สำนักงาน กสทช. พิจารณาต่อไป

โดยย้ำว่า ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

"คณะกรรมการกฎหมายมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 30 วันเพื่อกลับมาแจ้งให้บอร์ดทราบ"

แหล่งข่าวกล่าวว่า สัญญามีความคลุมเครือว่า ตกลงแล้ว NT มีฐานะเป็นพันธมิตรการจัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง (DP หรือ Distribution Partner) หรือต้องขายผ่านมิวสเปซ กับแอดวานซ์ เทคโนโลยี โดยจำกัดที่จะให้บวกราคาเพิ่มจากต้นทุนที่ได้จาก OneWeb 17% แต่ภายใน 1 ปีจะได้รับไม่เกิน 2.3 แสนเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8 ล้านบาท) เท่านั้น นอกจากนั้น การยกเลิกสัญญาทาง OneWeb สามารถยกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว ในขณะที่ NT ไม่สามารถทำได้

"สัญญาไม่เป็นธรรมมาก หากผลการพิจารณาจากคณะกรรมการกฎหมายกลับมาว่ามีความผิดจริง ก็จำเป็นต้องตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงผู้บริหารที่ไปลงนามในสัญญาต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่น่าสงสัยมากว่าตอนเป็นสัญญาตั้งสถานีภาคพื้นดิน กจญ.เป็นคนลงนาม แต่พอสัญญาบริการ กจญ.กลับไม่เซ็น แต่เป็นรองสรพงษ์ เป็นคนเซ็น"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ประชุม กสทช. มีมติ 1.อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี 2.อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม (satellite network capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT (3 สิงหาคม 2568) และ 3.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมระยะเวลา 5 ปีโดยให้ไปหารือกรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นการปรับเงื่อนไขใบอนุญาตให้สอดคล้องกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น