xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. เปิดตัว 'ท่านพี่ฟ้องดู' แจ้งปัญหาค่าโทร.บิลผิด สายสื่อสารรุงรัง ผ่านไลน์ 12 ส.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงาน กสทช. เปิดตัว 'ท่านพี่ฟ้องดู' รับแจ้งปัญหาค่าโทรศัพท์ SMS บิลไม่ตรงตามจริง สายสื่อสารรกรุงรัง ผ่านไลน์ พร้อมใช้งาน 12 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.67 ที่สำนักงาน กสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. เปิดตัวแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) หรือชื่อภาษาไทยว่า ท่านพี่ฟ้องดู เพื่อใช้แจ้งปัญหาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ไอดี @traffyfondue

สำหรับด้านกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ การแจ้งตรวจสอบเหตุขัดข้องที่เกิดจากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และการแจ้งให้ช่วยตรวจสอบการเรียกเก็บค่าบริการที่เกิดข้อสงสัย ส่วนปัญหาด้านกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ การได้รับความข้อความรบกวนจาก SMS และต้องการให้ปิดกั้นการได้รับข้อความ SMS จากบริการที่ผู้ใช้ไม่ได้สมัครรับบริการ การคิดค่าบริการผิดพลาด การถูกเรียกเก็บค่าบริการที่ชำระแล้ว หรือถูกเรียกเก็บชำระค่าบริการหลังจากที่ได้ทำการยกเลิกบริการนั้นๆ การแจ้งถึงความประสงค์ในการคงสิทธิเลขหมาย MNP (Mobile Number Portability) หรือย้ายค่ายเบอร์เดิม และปัญหาสายสื่อสาร

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า ทราฟฟี่ฟองดูว์ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เมื่อนำมาใช้งานจะช่วยให้การรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาต่างๆ รวดเร็ว ลดขั้นตอน และลดค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกัน ช่วยให้หน่วยงานที่รับแจ้งแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ป้องกันผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ โดยจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ส.ค.67


"เดิม กสทช.รับร้องเรียนผ่านคอลเซ็นเตอร์ หมายเลข 1200 และเว็บไซต์ของสำนักงาน เฉลี่ยต่อเดือน แบ่งเป็นกิจการโทรทัศน์ 10 เรื่อง และกิจการโทรคมนาคม 600 เรื่อง คาดว่าหลังใช้ทราฟฟี่ฟองดูว์ จะช่วยลดขั้นตอน และค่าใช้จ่ายลงได้ 50% และใน 6 เดือนถึง 1 ปี จะมีการประเมินผล และนำมาถอดบทเรียน วิเคราะห์ เพื่อนำไปพัฒนาระบบในปี 68 และในอนาคตจะขยายผลไปถึงการแจ้งปัญหาเรื่องการโฆษณาเกินจริง" ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าว

สำหรับทราฟฟี่ฟองดูว์ เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดย สวทช. เพื่อสื่อสารปัญหาเมืองระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ ประชาชนแจ้งปัญหาผ่านไลน์ โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน มีข้อมูล เช่น ภาพถ่าย และตำแหน่งที่ชัดเจน ทำให้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ปัจจุบันเพิ่มเทคโนโลยี AI ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานมากขึ้น มีหน่วยงานใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย.67) ช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมือง

ทั้งนี้ เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำไปใช้ มีสถิติรับเรื่องร้องทุกข์ (มิ.ย.65-ก.ค.67) มากกว่า 947,769 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้นมากกว่า 733,372 เรื่อง คิดเป็น 77% เวลารับเรื่องร้องเรียนเฉลี่ย 0.5 วัน เร็วขึ้น 1.8 เท่า เวลาแก้ปัญหา 3.8 วัน ซึ่งเร็วขึ้น 4 เท่า








กำลังโหลดความคิดเห็น