วันที่ 21-23 มิถุนายน 2567 แพทย์หญิง อัจจิมา สุวรรณจินดา แพทย์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง ผู้จัดงาน IMCAS ASIA กรรมการฝ่ายวิชาการและเลขาฯ สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย เป็นโต้โผให้สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรการจัดงานประชุมระดับโลกด้านแพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์พลาสติก เวชศาสตร์ความงามและฟื้นฟูความเสื่อม อิมคาส IMCAS (International Master Course on Aging Science) ประเทศฝรั่งเศส จัดงานประชุมนานาชาติอิมคาส IMCAS ASIA 2024 ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก โดยได้รับเกียรติจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเป็นประธานเปิดงานจัดประชุมวิชาการทางการแพทย์ระดับโลก
ทั้งนี้ การจัดงาน IMCAS ASIA 2024 ครั้งที่ 17 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการประชุมวิชาการทางการแพทย์การจัดประชุมนานาชาติ (MICE) ส่งเสริมให้สมาคมทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้เป็นสมาชิกองค์กรระดับนานาชาติ และส่งเสริมการจัดประชุมวิชาการทางการแพทย์ระดับโลก Word Congress ในประเทศไทย เพื่อนำไปต่อยอดในการบริการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐานสู่ระดับสากลสำหรับให้บริการแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากที่ต่างๆ ทั่วโลก แบบ hybrid (แบบ onsite และ online) 2,500 คน การจัดแสดงเครื่องมือทางการแพทย์ที่มาจากทั่วโลก 100 บูท และมีจำนวนผู้บรรยายที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 315 คน โดยเป็นการประชุมวิชาการที่มีการอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคล่าสุดทั้งในขั้นตอนการผ่าตัด (การปลูกถ่ายเต้านม การผ่าตัดเสริมจมูก การดูดไขมัน การเติมไขมัน ฯลฯ) และการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด (การสาธิตฉีดฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ การร้อยไหม และเลเซอร์ ฯลฯ) มีการสอนแสดงสด ร่วมกับด้านกายวิภาคศาสตร์ (anatomy) โดยถ่ายทอดสดจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศฝรั่งเศสมายังประเทศไทย โดยเฉพาะการฉีดฟิลเลอร์ ซึ่งแพทย์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจกายวิภาคศาสตร์ของหน้าเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้รับบริการ เนื่องจากเป็นหัตถการที่สามารถทำให้เกิดอันตรายจากภาวะฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือดทำให้เกิดผิวหนังตาย สูญเสียการมองเห็น หลอดเลือดสมองอุดตัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด การติดเชื้อที่ผิวหนังแบบเรื้อรัง เป็นต้น ในปัจจุบันการรักษาด้วยฟิลเลอร์ได้รับความนิยมสูง นอกเหนือจากที่แพทย์ต้องได้รับการเรียนการสอนอย่างถูกต้องในการทำการรักษาที่ปลอดภัย เพื่อยกระดับศักยภาพและมาตรฐานการรักษาในประเทศให้เทียบเท่ากับระดับสากลแล้ว ผู้รับบริการเองก็ควรจะเลือกแพทย์ที่มีความชำนาญทางด้านนี้เท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการบรรยายถึงอนาคตการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูความเสื่อม (regenerative medicine) ของประเทศไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษาเป็นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ต้องมีงานประชุมในเวทีระดับนานาชาติที่จะให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับแพทย์ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาเกินจริงจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้รับบริการ นอกจากนี้ ภายในงานยังส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้มีการจัดแสดงเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก ยกระดับศักยภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เครื่องมือและการให้บริการทางการแพทย์ให้เทียบเท่ากับระดับสากล