xs
xsm
sm
md
lg

'กสทช.' มติเอกฉันท์ ไม่หนุนงบถ่ายทอดโอลิมปิก-พาราลิมปิก Paris 2024

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกท. ชวด! 'กสทช.' มีมติเอกฉันท์ 7:0 เสียง ไม่สนับสนุนงบ 435 ล้านบาท ถ่ายทอดโอลิมปิก-พาราลิมปิก Paris 2024 ตามคำขอ

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.67 ที่สำนักงาน กสทช. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 เสียง ไม่สนับสนุนงบประมาณจำนวน 435 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) เพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เสนอ

ด้าน ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า การไม่สนับสนุนงบดังกล่าว เพราะเอกชนได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดไปแล้ว ซึ่งสภาโอลิมปิกระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ต้องนำไปออกอากาศผ่านฟรีทีวี จำนวน 200 ชั่วโมงด้วย และต้องทำตามกฎมัสต์แฮฟ (Must Have)

นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช. ให้เหตุผลถึงการไม่สนับสนุนงบประมาณ ดังนี้ 1.หากพิจารณาอนุมัติสนับสนุนเงินจาก กทปส. ไปจะทำให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ กสทช. เป็นผู้กำหนดให้ต้องปฏิบัติ กล่าวคือ การดำเนินการให้เป็นไปตามกฎมัสต์แครี่ (Must carry) อันจะส่งผลให้ กสทช. ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายได้

2.การที่ กสทช. ไม่อนุมัติให้มีการสนับสนุนเงินจาก กทปส. จะไม่กระทบต่อการถ่ายทอด และดำเนินการตามกฎ Must Have และกฎ Must Carry เพราะจากข้อมูลที่ปรากฏเป็นข่าวรายวันในสื่อต่างๆ นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า บริษัท แพลน บีฯ ได้ร่วมกันดำเนินการกับผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จำนวน 4 ช่องรายการ ได้แก่ ช่อง T Sports 7 ช่อง CH7 HD ช่อง 9 MCOT HD และช่อง PPTV HD 36 แล้ว ซึ่งการถ่ายทอดรายการผ่านผู้ให้บริการดังกล่าวมีกลไกกฎหมาย และเงื่อนไขใบอนุญาตของ กสทช. ที่รองรับให้สามารถออกอากาศรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 และรายการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 17 ผ่านกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ในกำกับดูแลของ กสทช. ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว และจากกรณีดังกล่าว ประชาชนย่อมมีทางเลือกในการเข้าร่วมรับชมในช่องทางที่เอกชนร่วมกันดำเนินการอย่างหลากหลาย หาก กสทช. พิจารณาเห็นชอบให้สนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. จะเป็นการเข้าแทรกแซงกลไกตลาดที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้วด้วย

3.ตามเอกสารร่างสัญญาระหว่างบริษัทแพลน บีฯ กับ กกท. ที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอในที่ประชุม กสทช. มีเนื้อหาเป็นการจำกัดขอบเขตสิทธิการเผยแพร่ภาพและแพร่เสียงไว้เฉพาะการออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา (T Sport 7) และช่องทางอื่นๆ ของสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา (T Sport 7) ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น การนำเอาเงินจากกองทุน กทปส. ที่ผู้รับใบอนุญาตทุกรายมีหน้าที่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุน กทปส. ไปสนับสนุนตามที่ กกท. เสนอโดยระบุให้สิทธิการถ่ายทอดสดแก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินเฉพาะสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา (T Sport 7) จะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน และสร้างความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ทั้งระบบ

4.การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์เกมส์ และการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ เป็นหน้าที่และภารกิจหลักของ กกท. และกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 และวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ โดยตรง ดังนั้น จึงเป็นภารกิจหลักของ กกท. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ดำเนินการโดยชัดแจ้ง นอกจากนี้ การจะกล่าวอ้างว่ามิได้กำหนดไว้ในแผนงานของ กกท. หรือ กองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ก็ไม่สามารถรับฟังได้เนื่องจาก เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าจะมีการดำเนินการในทุกๆ 4 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น