xs
xsm
sm
md
lg

'ทรู' ทำถึง! ทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ทรู' โชว์ทดสอบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา ในพื้นที่ได้รับแจ้งเตือนจริงครั้งแรก พร้อมเปิดศูนย์กลางบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติ 24 ชั่วโมง พร้อมรับทุกสถานการณ์

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.67 ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดการทดสอบ "LIVE-Cell Broadcast Service" ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้าน นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน โดยระบบนี้จะส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันทันทีและแม่นยำ

ด้วยจุดเด่นสำคัญของระบบ CBS ที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนภัยได้ในวงกว้างและรวดเร็ว รองรับ 5 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ครอบคลุมผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ส่งข้อความแจ้งเตือนภัยได้แม้โทรศัพท์มือถือไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และสามารถส่งข้อความแจ้งเตือนภัยได้ในรูปแบบข้อความ ตัวอักษร รูปภาพ และเสียง ทั้งยังมีสัญญาณเสียงและข้อความที่แสดงบนหน้าจอ รวมถึงรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความ ทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย

สำหรับระบบ CBS ของทรู ตั้งเตือนได้ 5 ระดับ ตามฟังก์ชันการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ โดยระดับสูงสุดคือการแจ้งเตือนระดับชาติที่ทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที ถัดมาคือการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย ระบบยังมีการแจ้งเตือนคนหายหรือคนร้าย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์และรายงานถ้าพบคนหายหรือคนร้าย นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น และการแจ้งเตือนทดสอบตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ เพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ดีใจกับคนไทยที่กำลังจะมีระบบ CBS พร้อมกันนี้ ต้องขอบคุณผู้ให้บริการที่แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาและรับผิดชอบต่อสังคม อย่างไรก็ตาม ในอีก 1-2 วันนี้ จะมีการประชุมร่วมกับ 14 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.วางรูปแบบระบบ ที่ต้องจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ 2.กำหนดศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ที่เดียวว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ และ 3.การแจ้งเตือน เพื่อให้บริการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือได้ในช่วงต้นปี 2568 ใต้วงเงินงบประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อ 3 ปี จากสำนักงาน กสทช.

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปลื้มใจที่การทดสอบระบบ CBS ครั้งนี้มันเวิร์ก โดยระบบ CBS นี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ สำนักงาน กสทช. ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ ตอนนี้ผู้ให้บริการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของช่องทางแล้ว ถัดจากนี้ต้องเร่งต่อยอดให้สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งรับปากว่า สำนักงาน กสทช. จะสนับสนุนเรื่องงบประมาณอย่างเต็มที่ ผ่านเงินบัญชี 3 (USO โทรคมนาคม) ของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กสทช. เพื่อขอความเห็นชอบโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนและประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยในสังคมต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น