“เจฟฟ์ มาจจิออนคัลดา” (Jeff Maggioncalda) ประธานกรรมการบริหารแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์รายใหญ่ระดับโลก “คอร์สเซรา” (Coursera) บอกอย่างภูมิใจว่าประเทศไทยมีฐานผู้เรียนที่ลงทะเบียนกับ Coursera แล้ว 940,000 คน คิดเป็นการเติบโต 21% ต่อปี เติบโต 4.5 เท่านับตั้งแต่ปี 2019 เบ็ดเสร็จแล้วมีการลงทะเบียนเรียนเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านครั้งในช่วงก่อน 31 มีนาคม 2024 ที่ผ่านมา
สถิติน่าตื่นเต้นนี้เกิดขึ้นเพราะหลายปัจจัย ทั้งความร่วมมือที่ Coursera กอดคอ 20 มหาวิทยาลัยไทยนำหลักสูตรทันสมัยของ Coursera ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บหน่วยกิต รวมถึงกระแสปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ดันให้การลงทะเบียนหลักสูตร GenAI ในไทยเพิ่มขึ้น 1,073% ใกล้เคียงกับ 1,060% ที่เพิ่มขึ้นระดับโลก
แม้ยอดการลงเรียนของคนไทยจะสูง แต่ทักษะของผู้เรียนไทยยังไม่เท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจากการทำสำรวจใน 110 ประเทศที่มีผู้เรียน Coursera พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 81 ในแง่ทักษะ และอยู่ในอันดับที่ 14 ของตารางชาติเอเชียแปซิฟิก ตรงนี้อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่คนไทยนิยมเรียนเพิ่มทักษะทั่วไป เช่น ด้านการตลาด สื่อโซเชียล ภาษา และการประชาสัมพันธ์ รองลงมาคือด้านการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ หรือ UX Design
***AI ใครเรียนอะไร?
ซีอีโอ Coursera มองว่าคลื่นความอยากเรียนรู้เรื่อง AI กำลังถาโถมใส่แทบทุกส่วนในสังคม บ้างอยากรู้เรื่องการเขียนโปรแกรม บางคนต้องการปรับทักษะ AI ให้เข้ากับอาชีพที่ทำ เรียกว่าแทบทุกเพศทุกวัยต่างมีความต้องการทักษะ GenAI มหาศาล ทำให้ Coursera พบว่ามีการค้นหาคอร์ส GenAI ในทุกๆ 2 นาทีตลอดปีที่ผ่านมา โดยเอเชียแปซิฟิกเป็นพื้นที่ที่มีการลงทะเบียนเรียน GenAI เพิ่มขึ้นในทุกนาทีบน Coursera
เมื่อถามว่าใครอยากเรียนอะไรเรื่อง AI เจฟฟ์บอกว่าการเรียนการสอนด้าน AI วันนี้ฮอตมากในธุรกิจที่ใช้ AI อย่างสถาบันการเงินและอุตสาหกรรมอื่น ยังมีมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับหลักสูตรให้ทันสมัยสกิลใหม่ ซึ่ง AI อาจจะไม่ใช่เนื้อหาที่เป็นวิชาการ แต่เป็นทักษะที่จำเป็นในนาทีนี้
ในขณะที่ผู้เรียน AI เป็นเสี้ยวเดียวของผู้เรียน Coursera ทั่วโลกที่ทำสถิติทะลุ 148 ล้านคนเรียบร้อย (อัตราการเติบโตของผู้เรียนต่อปีคือ 20% การลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้น 291 ล้านครั้ง) Coursera ก็หยิบ AI มายกระดับคอร์สที่มีกว่า 7,000 คอร์ส โดยแปลเป็นภาษาไทยกว่า 4,500 คอร์สด้วย AI ซึ่งเป็นการผลักดันให้มีการเรียนมากขึ้น
“ชัดเจนว่าสถานที่ทำงานทั่วโลกเห็นความสำคัญในการเรียนรู้ทักษะ AI นักศึกษามากกว่า 70% จะต้องเรียนด้าน Gen AI มีความคาดหวังให้มหาวิทยาลัยสอน Gen AI” เจฟฟ์กล่าว ”วันนี้ Top 5 คอร์สเรียนด้าน AI ประกอบด้วยคอร์สของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, AWS และ IBM ซึ่งไม่เพียงลงลึกในเนื้อหาที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาด้าน AI ที่บริษัทเหล่านี้พัฒนาขึ้น ยังมีทักษะการวางแผน การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนโปรแกรม และเนื้อหาอื่นจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ภาวะนี้ชี้ให้เห็นว่าความสนใจเรียนนั้นครอบคลุมทั้งคนทำงานและยังไม่ทำงาน เพราะเป็นโอกาสได้ค่าจ้าง และเงินเดือนสูงขึ้น”
ซีอีโอ Coursera ยอมรับว่าการใช้ AI แปลคอร์สเป็นภาษาไทยกว่า 4,500 คอร์สนั้นทำให้ต้นทุนธุรกิจของ Coursera ลดลง จากที่เคยต้องใช้งบนับหมื่นเหรียญสหรัฐต่อคอร์ส บริษัทสามารถแปลได้ภายในงบหลักสิบ ขณะเดียวกัน การแปลภาษายังทำให้ฐานลูกค้าของ Coursera เติบโตก้าวกระโดด เบื้องต้นคาดหวังว่า Coursera จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ต่อปี
***เก็บหน่วยกิต คู่ต้านทุจริต
การเติบโตหลายสิบเปอร์เซ็นต์ของ Coursera ในไทยและระดับโลกนั้นไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม เพราะรัฐบาลบางประเทศและมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ได้ควักสตางค์ซื้อคอร์ส Coursera แล้วนำมาเปิดกว้างให้ประชาชน รวมถึงเป็นหลักสูตรให้นักศึกษาเข้าเรียนและเก็บหน่วยกิตได้
แต่ในด้านการศึกษา ปัญหาคือความกังวลว่านักศึกษาอาจ “โกง” ใช้ AI ช่วยตอบข้อสอบ จึงทำให้เกิดระบบตรวจสอบความซื่อสัตย์ของนักเรียนอย่างหลากหลายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการเพิ่มฟีเจอร์ป้องกันการโกง ได้แก่ การบังคับให้เปิดกล้องระหว่างสอบ และการล็อกให้ AI ทำงานไม่ได้ โดยล่าสุดมีการพัฒนาระบบจับโกงลอกข้อสอบ AI สไตล์การสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ “วีว่า เอ็กแซมส์” (Viva Exams) ฟีเจอร์ AI ป้องกันการลอกข้อสอบ AI ตัวใหม่ ซึ่งเพิ่งมีการสาธิต หรือทำเดโมที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
“การป้องกันนี้จะทำงานเหมือนการสอบปกป้องงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอก ก่อนนี้เราพยายามตรวจจับการคัดลอกจากข้อความที่ AI เขียน แต่การตรวจจับนั้นวัดอะไรไม่ได้ ฟีเจอร์นี้จึงใช้ AI เป็นเครื่องมือพูดคุยกับนักเรียน ไม่ได้มุ่งตรวจเช็กเนื้อหา แต่เน้นตรวจระบบความคิด ซึ่งช่วยให้ครูอาจารย์ไม่ต้องตรวจอีกแล้วว่ามีการโกงหรือไม่”
เจฟฟ์บอกว่าการตรวจความคิดของผู้เรียนนั้นจะเริ่มต้นเมื่อมีการส่งงาน ระบบจะปรากฏข้อความขึ้นมาให้นักเรียนอธิบายตัวเองให้ได้ว่าคำตอบนี้มาจากอะไร เป็นการสนทนาเพื่อตรวจการเรียนที่เนื้อหาการเรียนจะเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยระบบจะมุ่งตรวจว่านักเรียนทราบคำตอบได้อย่างไร
“ครูไม่สามารถตรวจด้วยบทสนทนากับนักเรียนทุกคน ตรงนี้ AI จะสร้างรายงานให้ครูประเมินผลต่อได้ง่าย มีระบบประเมินเบื้องต้นว่านักเรียนควรได้เกรดผลการเรียนเท่าใด ซึ่งครูสามารถให้ความเห็นกับคำแนะนำว่าเห็นด้วยหรือไม่ เชื่อว่าระบบนี้จะสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างครูและนักเรียนได้มากขึ้น”
เจฟฟ์เล่าว่า ไอเดียตั้งต้นของ Viva Exams มาจากการสำรวจที่พบว่านักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่เคยลอกคำตอบจาก AI มหาวิทยาลัยอย่างออกฟอร์ดและแคมบริดจ์จึงเสนอให้มีการสอบปากเปล่า ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการเรียนการสอนในสมัยโบราณ เห็นได้จากโสเครติสที่ใช้การพูดคุยสนทนาเป็นระบบการเรียน ไม่ใช่การตรวจสอบเนื้อหาข้อความอย่างเดียว ดังนั้นแม้ระบบนี้จะเกิดจากไอเดียเก่าแก่ที่ผู้อื่นคิดขึ้น แต่ Coursera นั้นมีเทคโนโลยีของตัวเองที่ทำให้ระบบเกิดขึ้นและทำงานได้ในปัจจุบัน
“การสอบปากเปล่าช่วยตรวจความรู้ได้ดีกว่า เป็นสิ่งที่ควรเป็นมานานแล้ว แต่สถาบันการศึกษาอาจทำไม่ได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัด Coursera คิดต่างจากระบบอื่นที่มุ่งตรวจคำตอบ เราต้องการปรับแนวความคิด ซึ่งเทคโนโลยี AI ทำให้เกิดระบบสนทนาที่พูดได้เหมือนจริง ระบบสามารถยิงคำถามที่ไม่เหมือนกันให้นักศึกษาทุกคน”
ที่สุดแล้ว ซีอีโอ Coursera ชี้ว่า AI และเทคโนโลยีคอร์สออนไลน์นั้นทำให้ไทยเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสทางการศึกษาไม่แพ้ชาติอื่น ซึ่งทำให้ผู้คนจากซีกโลกตะวันตกต้องมาแข่งกับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เฉลียวฉลาด และอายุน้อย
“หากผมเป็นเด็กรุ่นก่อน ผมอาจจะเลือกเกิดในอเมริกาเพราะเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสทางการศึกษาและอาชีพมากกว่า แต่หากเป็นยุคนี้ ผมจะเลือกอยู่ในประเทศไทย เพราะมีโอกาสมากบนค่าครองชีพที่ต่ำกว่า ที่ผ่านมา โอกาสยังไม่กระจายเท่านี้ แต่เทคโนโลยีทำให้เรามีแต้มต่อมากขึ้น ดังนั้นในยุคนี้การเป็นคนในแถบอีเมิร์ชจิ้งมาร์เก็ตน่าจะดีกว่า” เจฟฟ์ทิ้งท้ายด้วยการตอบคำถามว่า หากเลือกได้ ซีอีโอ Coursera อย่างเจฟฟ์จะเลือกเกิดเป็นนักเรียนในยุคที่มี AI หรือไม่มี?