“เพิ่มสุข” ปลัดกระทรวง อว. บรรยายพิเศษ "นวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา" ในเวที “การประชุมวิชาการระดับชาติสวนดุสิต 2024” เน้นสร้างความเข้มแข็ง ดึงศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยตามแนวนโยบาย BCG อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บรรยายพิเศษ เรื่อง "นวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา" ภายใน “การประชุมวิชาการระดับชาติสวนดุสิต 2024 โดยมี ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วม ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า BCG ในประเทศไทยเริ่มมาหลายปี ซึ่งมีความจริงจังในเชิงนโยบายของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย โดยในยุคที่ผ่านมามีการ Kick off เรื่องของ BCG ซึ่งมีหลายประเด็นและเป็นการสร้างแพลตฟอร์มและแสดงศักยภาพของประเทศไทยซึ่งแตกต่างจากนานาประเทศ หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่สำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคนเพื่อมีสมรรถนะ เราผลิตบัณฑิตที่มีความรู้มีความสามารถ ประเทศไทยเราเล็งเห็นความสำคัญของ BCG เราได้ดำเนินการอย่างดีและได้รับการยอมรับจากที่ประชุมนานาชาติ เรามีคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนั้น กระทรวง อว. ซึ่งเป็นกระทรวงขนาดใหญ่ มีมหาวิทยาลัยภายใต้ 154 มหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ผู้มีความรู้และมีคณะ สาขาวิชามากมาย เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อน BCG ถ้ามองในภาพของการปฎิบัติก็น่าจะไปได้ในทิศทางที่ดี แต่ว่าการทำงานจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำอีกพอสมควร ที่สำคัญ เรายังมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG จำนวน 11 คณะแบ่งตามสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ การเกษตร อาหาร ยาและวัคซีน เครื่องมือแพทย์ พลังงาน วัตถุและเคมีชีวภาพ ซึ่งแต่ละคณะจำเป็นต้องได้แรงสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย
นายเพิ่มสุข กล่าวต่อว่า ในเรื่องของ BCG นั้น ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ซึ่งจะช่วยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก โดยมีแนวทางที่ชัดเจนผ่านยุทธศาสตร์ของประเทศ 4 ข้อ ได้แก่ (1) การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ (2) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง (3) การสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และ (4) การยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพดีด้วยการใช้ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ด้าน ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่าน เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นประธานต่อจิกซอร์เปิดงานร่วมกัน รวมทั้ง ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมเป็นเครือข่ายและเจ้าภาพจัดงาน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานวิจัยอันเกิดจากความรู้ความสามารถ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ก่อเกิดการถ่ายทอดประสบการณ์ของนักวิจัยรุ่นพี่ให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นนวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้เพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานหรือการศึกษา มีการสร้างเครื่อข่ายเชิงวิชาการที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยร่วมกัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อไป