xs
xsm
sm
md
lg

ดีอี-บช.ก. ยึดอุปกรณ์ STARLINK ลักลอบนำเข้า-ใช้งาน หนุนแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอี-บช.ก. ยึดอุปกรณ์ STARLINK ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ลักลอบนำเข้า-ใช้งานฝ่าฝืนกฎหมาย หนุนขบวนการ 'โจรออนไลน์' ข้ามแดนกัมพูชา-พม่า

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการแถลงข่าวการตรวจยึดของกลาง อุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองเลขาธิการรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมแถลงข่าวด้วย

นายประเสริฐ กล่าวว่า เนื่องจากมีการดำเนินมาตรการปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี กระทรวงดีอี โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC 1441) จึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอศ.ได้เปิดปฏิบัติการเข้าตรวจยึดอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต Starlink ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชุดสื่อสารในการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบดาวเทียมที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และ กสทช.ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสามารถตรวจยึดได้จำนวน 58 ชุด

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดอุปกรณ์ต้องสงสัยที่ร้านรับส่งพัสดุใน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ซึ่งระบุที่อยู่ปลายทางใน อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยคาดว่าอุปกรณ์เหล่านี้อาจเป็นของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่ต้องการส่งออกไปชายแดนประเทศไทยจากฝั่งชายแดนประเทศกัมพูชาไปยังชายแดนประเทศพม่า เพื่อเตรียมนำมาใช้ในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ อุปกรณ์ทั้งหมดถือเป็นสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายโดยผิดกฎหมายโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดไว้


ทั้งนี้ กองทัพเรือโดยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ได้เข้าตรวจสอบยึดกล่องพัสดุ จำนวน 6 กล่อง ที่มีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink จำนวน 30 ชุดบรรจุอยู่หน้าร้านรับส่งพัสดุ พื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.67

"จากมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยการแก้ไขปัญหาเสาสัญญาณและสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อข้ามประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพปรับรูปแบบการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและปราบปราม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องปรับรูปแบบตามโดยมุ่งเน้นการเพิ่มมิติการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า อุปกรณ์นี้มีราคาอยู่ระหว่าง 20,000 ถึง 50,000 บาท และผู้ใช้จะต้องชำระค่าแพกเกจรายเดือนเพื่อใช้งาน ซึ่งอุปกรณ์จะรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยตรงจากดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.ให้ดำเนินการในไทย ปัจจุบันมีเพียงบริษัท OneWeb เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. สำหรับบริการลักษณะนี้ แต่ยังไม่ได้เริ่มให้บริการแก่ประชาชน








กำลังโหลดความคิดเห็น