รมว.ดีอี ปรับแนวทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) สู่วอร์รูม ทำงานเชิงรุกจัดการภัยดิจิทัล โดยเฉพาะการจัดตั้งหน่วยงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนกว่า 300 หน่วยงานในการร่วมตรวจสอบ และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงสถานการณ์ภัยหลอกลวงออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งพบว่าปริมาณการหลอกลวงที่ได้รับการแจ้งเข้ามาลดปริมาณลง แต่กลับกลายเป็นว่ามีความเสียหายเพิ่มขึ้น
“จากปริมาณที่ลดลงแสดงว่าคนไทยเริ่มรู้เท่าทันภัยดิจิทัลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมิจฉาชีพปรับแนวทางที่จะมุ่งโจมตีกลุ่มเป้าหมายที่มีโอกาสหลอกลวงในปริมาณที่สูงขึ้นทั้งการหลอกซื้อสินค้าปลอม และหลอกว่าเป็นการติดต่อจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ”
ขณะเดียวกัน เนื่องจากการยกระดับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ จึงได้วาง 3 แนวทาง เพื่อจัดการปัญหานี้ ประกอบด้วย 1.การจัดตั้ง Task Force Command Center ทำให้สามารถทำงานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เนื่องจากภัยที่เกิดขึ้นเริ่มเป็นข้อมูลเฉพาะทางมากขึ้น และเป็นอันตรายร้ายแรง
“การตั้งศูนย์นี้ขึ้นจะช่วยให้ประชาชนสามารถติดต่อเข้ามาแจ้งภัยออนไลน์ผ่านคอลเซ็นเตอร์เบอร์เดียว ซึ่งทีมงานจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างธนาคาร เพื่อทำการอายัดบัญชีที่หลอกลวง โดยตั้งเป้าว่าจะลดระยะเวลาลงให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่ใช้ระยะเวลา 7-15 วัน”
2.นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการวิเคราะห์ และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารในประเด็นต่างๆ ทั้งการตรวจสอบลิงก์ ร่วมกับฐานข้อมูลของ Anti Fake News Center เพื่อให้สามารถแสดงผลแจ้งเตือนผู้ใช้งานได้ทันที และ 3.การเสริมความรู้ Cyber Vaccine กลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มถูกหลอกลวงอย่างเด็กเยาวชน และผู้สูงอายุ
โดยในส่วนของการเสริมความรู้ มีนโยบายที่จะเพิ่มอัตรากำลังให้แก่ศูนย์ดิจิทัลในแต่ละอำเภอ เนื่องจากปัจจุบันผู้ที่คอยเข้ามาให้ความรู้จะเป็นอาสาสมัครไม่ได้รับค่าตอบแทน ทำให้เชื่อว่าเมื่อสามารถให้ค่าตอบแทนได้ศูนย์ดิจิทัลเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการเข้าถึงประชาชนในแต่ละอำเภอมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังได้ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงกลาโหม เพื่อเข้าไปกวาดล้างเสาสัญญาณเถื่อนตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของการดำเนินการเชิงรุกของกระทรวง เพราะเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำให้ประชาชนไม่ถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมีการใช้เทคโนโลยีระบบ Social Listening Tool เพื่อรวบรวมข้อมูล เพื่อแจ้งเตือนข่าวปลอมใน 4 หมวดหมู่ข่าว ประกอบด้วย 1.ข่าวกลุมภัยพิบัติ 2.ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร หุ้น 3.ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ และ 4.ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคมขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ รวมถึงรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอมจากประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดตามช่องทางสื่อสาร ของศูนย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566) แบ่งเป็นช่องทางเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com ในการเรียกดูข้อมูลกว่า 16 ล้านครั้ง ตามด้วยจำนวนผู้ติดตาม LINE OA @antifakenewscenter จำนวน 2.7 ล้านราย Facebook Anti-Fake News Center Thailand 1 แสนราย Twitter (X) @AFNCThailand 1.6 หมื่นราย และช่องทางใหม่อย่าง Instagram และ TikTok
สถิติของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่เปิดศูนย์จนถึงปัจจุบัน พบว่า คนอายุ 35-44 ปี ให้ความสนใจติดตามข่าวสารจากศูนย์มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ และยังพบด้วยว่าคนที่แชร์ข่าวปลอมมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากกลุ่มอายุดังกล่าวจะใช้สื่อในการติดต่อค้นหาเพื่อนเก่าๆ ครอบครัว หรือกลุ่มลูกหลาน โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ LINE ในการติดต่อสื่อสาร และส่งต่อข้อมูลให้กัน ทำให้พวกเขาติดกับดักข่าวปลอมได้ง่าย