xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม ‘AI’ ในมุม Apple ต้องง่าย และปลอดภัย? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกสายตาในแวดวงเทคโนโลยีต่างจับตาความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของแอปเปิล (Apple) ในการประกาศทิศทางในอนาคตของการนำ AI มาใช้งานภายใต้คำเรียกว่า ‘Apple Intelligence’ หรือระบบอัจฉริยะส่วนบุคคล ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน iPhone iPad และ Mac ของทุกคน

โดยภายหลังการเปิดตัว และนักลงทุนเริ่มเห็นถึงอนาคตของ AI ได้ส่งผลให้หุ้นของ Apple มีการขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำสถิติสูงที่สุด จนทำให้มูลค่าบริษัทแซงไมโครซอฟท์กลับมาเป็นผู้นำตลาดในเวลานี้ด้วย

​จากในช่วงที่ผ่านมาทั้งกระแสของ Galaxy AI จากซัมซุง และบรรดา AI PC จากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เริ่มเข้ามาแสดงให้เห็นถึงยุคใหม่ของสมาร์ทโฟน และพีซีที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในช่วงหลังจากนี้

​ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล อธิบายถึงแนวทางในการพัฒนา Apple Intelligence ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการนำ AI มาใช้งานคือต้องทำให้ใช้งานได้สะดวก และเข้าถึงได้ง่ายที่สุด โดยที่ผ่านมาแอปเปิลมีการศึกษาการนำ AI มาใช้งานร่วมกับแมชชีนเลิร์นนิ่งมาอย่างต่อเนื่อง

​“การผสมผสาน AI แบบเจเนอเรทีฟ ร่วมกับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ จะช่วยเปิดโอกาสในการใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Apple ให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม บนหลักการในการให้บริการที่อยู่บนมาตรฐานของ Apple โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล”


ส่งผลให้การประมวลผลหลักของ Apple Intelligence (AI) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนตัวอุปกรณ์ (On Device) ไม่ว่าจะเป็น iPhone รุ่นที่ใช้งานชิป A17 Bionic รวมถึง iPad และ Mac ที่ใช้ชิป Apple Silicon M1 ขึ้นไป ซึ่ง AI จะเริ่มให้บริการในภาษาอังกฤษ สำหรับประเทศสหรัฐฯ ก่อนในช่วงปลายปีนี้ และมีแผนที่จะขยายไปให้บริการในภาษาอื่นๆ ในปีหน้า

​แน่นอนว่า การพัฒนา AI ของ Apple ในรอบนี้ จะถูกหยิบไปเปรียบเทียบกับระบบปฏิบัติการของคู่แข่งอย่าง Microsoft Windows ที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดตัว Copilot+ PC ออกมา ซึ่งจะเริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้

​เนื่องจากปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการใช้งาน AI ในคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนต่างๆ ในท้องตลาดนั้นแทบไม่แตกต่างกัน จากการให้บริการของ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง ChatGPT (รวมถึง Copilot ของ Microsoft ที่ใช้ชุดโมเดลภาษาเดียวกัน) และ Gemini ในฝั่งของ Google ในการช่วยทำงาน อย่างการสรุปข้อมูล เขียนตอบอีเมล ปรับภาษาให้สละสลวยมากขึ้น ช่วยเขียนบทความ นำเสนอไอเดียใหม่ๆ ในการสร้างคอนเทนต์ แปลภาษา ไปจนถึงการสร้างสรรค์รูปภาพ และแก้ไขรูปภาพ และวิดีโอจาก AI



เบื้องหลังของการประมวลผล AI ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือ การนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือ คอมพิวเตอร์มาเรียนรู้ความน่าจะเป็นของข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เป็นทั้งข้อความ รูปภาพ และเสียง ก่อนตอบคำถามที่ผู้ใช้งานสั่งการเข้าไป ซึ่งต้องใช้การประมวลผลของ NPU ระดับสูง ทำให้ปัจจุบันมีอุปกรณ์เพียงไม่กี่รุ่นที่รองรับการประมวลผลภายในตัวเครื่อง โดยไม่ส่งข้อมูลขึ้นไปที่คลาวด์

​แต่สิ่งที่ Apple ทำให้เกิดความแตกต่างคือ การประมวลผลส่วนใหญ่ หรือแทบทั้งหมดจะเกิดขึ้นบนอุปกรณ์ของผู้ใช้ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญในการให้ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลกับผู้ใช้งาน หรือในกรณีที่ต้องการโมเดลที่ใหญ่กว่าอุปกรณ์ Apple มีระบบการประมวลผลบนคลาวด์แบบปิด (Private Cloud Compute) เพื่อนำมาช่วยประมวลผลคำขอที่ซับซ้อน โดยที่ยังคงปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้


โดย Apple Intelligence ที่อยู่ในเครื่องจะทำการวิเคราะห์คำขอก่อนว่าสามารถประมวลผลบนอุปกรณ์ได้หรือไม่ ถ้าต้องการความสามารถในการประมวลผลที่มากขึ้นจะส่งเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปอาศัยพลังของ Private Cloud Compute แทน ซึ่งเป็นระบบคลาวด์ที่ Apple ออกแบบขึ้นมาให้มีความโปร่งใส และจะไม่จัดเก็บคำขอที่เรียกขึ้นไปใช้งานของผู้ใช้เวลาเลย ที่สำคัญคือเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าปลอดภัย

​เหตุผลที่ Apple สามารถพัฒนา AI ที่ประมวลผลในอุปกรณ์ได้ ย่อมมาจากการออกแบบอีโคซิสเต็มแบบปิดที่ควบคุมได้ในทุกส่วน ตั้งแต่การผลิตชิปเซ็ตที่ใช้ในอุปกรณ์ การออกแบบฮาร์ดแวร์ ไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อเนื่องไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ประมวลผล ทุกอย่างอยู่ในมือของ Apple อยู่แล้ว

​ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Apple จะสามารถนำโมเดลภาษาสำหรับ Generative AI ผสมผสานเข้าไปในทุกๆ แอปพลิเคชันที่อยู่ในอุปกรณ์อย่าง iPhone iPad และ Mac เพราะทั้ง 3 อุปกรณ์ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการที่ Apple พัฒนาขึ้นมาเอง ทำให้ได้เปรียบกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด ที่ต้องทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์จำนวนมากกว่าจะผลิตออกมาเป็นคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องให้ผู้บริโภคใช้งาน

***เลือก ChatGPT เพราะมองว่าดีที่สุดในเวลานี้


อย่างไรก็ตาม Apple ไม่ได้ปิดอีโคซิสเต็มสำหรับ AI ไว้ใช้งานภายในเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีการทำงานร่วมกับ OpenAI ในการนำ ChatGPT มาให้ใช้งาน ในกรณีที่ Siri หรือผู้ช่วยส่วนตัวมองว่า คำสั่ง หรือคำถามที่เกิดขึ้น Generative AI อย่าง ChatGPT จะให้คำตอบที่ดีกว่า จะมีคำถามขึ้นมาให้ยืนยันว่าจะส่งข้อมูลไปประมวลผลจากทาง ChatGPT แทน

​เมื่อผู้ใช้งานกดคำสั่งยืนยัน เท่ากับเป็นการยอมรับว่าข้อมูลที่ Siri ส่งออกไปถาม ChatGPT จะถูกส่งไปประมวลผลบนคลาวด์สาธารณะ ซึ่งนับเป็นมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลคนละรูปแบบกับที่ Apple ใช้งาน ดังนั้นในการประมวลผลจึงจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้ด้วย

​เครก เฟเดอริกกี รองประธานอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์ แอปเปิล ย้ำว่าการเลือกทำงานกับ ChatGPT ในช่วงเวลานี้ เพราะคิดว่าเหมาะสมที่สุด ส่วนในอนาคตไม่ได้ปิดกั้นที่จะทำงานร่วมกับผู้พัฒนา AI รายอื่นๆ เพราะสุดท้าย Apple ต้องการนำประสบการณ์ที่ดีที่สุดมาให้แก่ผู้ใช้งาน


กำลังโหลดความคิดเห็น