xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกของโลก! Facebook ไทยส่งรถเข็นไป Shopee

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมต้า (Meta) บริษัทแม่เฟซบุ๊ก (Facebook) ท้าชนไลน์ระเบิดศึกติ๊กต็อก แจ้งเกิด 3 ฟีเจอร์ใหม่ช่วยคนไทยทักแชตซื้อของง่าย-ดูไลฟ์สดชอปปิ้งสะใจยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเปิดให้ผู้ใช้ระบบแชตแมสเสนเจอร์ (Messenger) ส่งรถเข็นหรือรายการเลือกซื้อสินค้าไปยังบ้านอีคอมเมิร์ซฮิต “ช้อปปี้” ได้โดยไม่ต้องกดเปลี่ยนแอปยุ่งยาก มั่นใจฟีเจอร์ไม่แข่งกันเองกับ Facebook Shops ที่ยังโตดีอยู่ ภูมิใจฟีเจอร์เปิดตัวที่ไทยครั้งแรกในโลกหลังคนไทยแห่ใช้ Facebook ถามรายละเอียดธุรกิจมากกว่าคู่แข่งทุกราย เล็งจับมือเพิ่มค่ายอีคอมเมิร์ซอื่นปีหน้า

แพร ดำรงค์มงคลกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย Facebook ไทยแลนด์ กล่าวเปิดตัวชุดเครื่องมือใหม่ที่เป็นโซลูชันด้านการส่งข้อความเชิงธุรกิจ หรือ Business Messaging การทักแชตซื้อขายสินค้าว่าเป็นเครื่องมือที่เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในประเทศไทย ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นการสร้างอีโคซิสเต็มแบบองค์รวมที่สะดวกพร้อมสำหรับธุรกิจ ด้วยการนำเสนอวิธีการใหม่ ที่ช่วยให้ธุรกิจไทยสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า ผ่านเครื่องมือที่ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้สำเร็จ

“91% ของธุรกิจในประเทศมีความพึงพอใจกับการใช้งาน Messenger เพื่อติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และธุรกิจกว่า 76% กล่าวว่าสามารถหา lead หรือกลุ่มเป้าหมายที่มีคุณภาพได้จากการวางโฆษณาบน Facebook ที่คลิกไปสู่การสนทนาบน Messenger ซึ่งตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของ Messenger ที่มีต่อการเติบโตของธุรกิจ และการสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้าในประเทศไทย”

แพร ดำรงค์มงคลกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย Facebook ไทยแลนด์
***LINE - TikTok ตามไม่ทัน!

ก้าวใหม่ของ Meta เกิดขึ้นในวันที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกลายเป็นหนึ่งในช่องทางหลักในการขับเคลื่อนการค้นพบสินค้า โดย Meta เผยว่าผู้บริโภคในประเทศไทยนิยมใช้ Facebook และ Messenger เป็นช่องทางการสื่อสารกับธุรกิจมากกว่าช่องทางอื่นๆ ตามข้อมูลล่าสุดจาก Meta พบว่า 56% ของผู้บริโภคในประเทศไทยติดต่อธุรกิจผ่าน Messenger เป็นประจำทุกสัปดาห์ ในขณะเดียวกัน ยังมีการรายงานว่า 69% รู้สึกสบายใจกับการสื่อสารกับธุรกิจผ่านแชตบอต AI อีกด้วย

“Facebook และ Messenger เป็นแพลตฟอร์มแถวหน้าของการปฏิรูปธุรกิจเชิงดิจิทัล และถูกหลอมรวมเป็นส่วนสำคัญของรากฐานของการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคและธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ โดย 50% ของ Gen Z ในประเทศไทยมีการใช้งานแพลตฟอร์มภายในเครือของ Meta เพื่อติดต่อกับร้านค้าในขั้นตอนต่างๆ ของเส้นทางการซื้อสินค้า นอกจากนี้ Instagram ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีนัยสำคัญต่อ Gen Z โดย 45% ของ Gen Z ชาวไทยมีการแชร์ความสนใจส่วนตัวและติดต่อกับธุรกิจต่างๆ ผ่านทาง Instagram Direct” Meta ย้ำ

ไม่ใช่ LINE ไม่ใช่ TikTok แต่ Meta เผยว่าผู้บริโภคในประเทศไทยนิยมใช้ Facebook และ Messenger เป็นช่องทางการสื่อสารกับธุรกิจมากกว่าช่องทางอื่นๆ
ล่าสุด Meta ประกาศความร่วมมือล่าสุดกับช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ชั้นนำ โดยได้นำเสนอ 'ฟีเจอร์ชอปปิ้งบน Messenger' ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ให้ร้านค้าสามารถเชื่อมต่อแคตตาล็อกของร้านบน Shopee เข้ากับ Messenger เพื่อให้นักชอปสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างไร้รอยต่อ ไม่มีสะดุด

***ปักตระกร้าลงแชต

ธัญญธร เหล่าวัชระ หัวหน้าฝ่ายจัดการร้านค้าธุรกิจ ช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่าฟีเจอร์ใหม่ทำให้บริษัทสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการชอปปิ้งด้วยฟีเจอร์ชอปปิ้งบน Messenger ซึ่ง Shopee ร่วมมือกับ Meta ทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ Facebook และ Messenger เพื่อกระตุ้นการค้นหา และการมีส่วนร่วมกับผู้ซื้อ ในขณะที่สามารถใช้ประโยชน์จากแคตตาล็อก ระบบการชำระเงิน และระบบจัดการคำสั่งซื้อของ Shopee ทำให้ผลตอบแทนจากค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น

ในเชิงเทคนิค ฟีเจอร์ชอปปิ้งบน Messenger ที่พัฒนาร่วมกับช้อปปี้ถือเป็นการนำความสามารถของ Discovery Engine ของ Meta เข้ามาผสมผสานกับฟีเจอร์อีคอมเมิร์ซของช้อปปี้ในประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อของที่ไร้รอยต่อ ตั้งแต่การส่งข้อความไปสู่การซื้อสินค้า

ผู้ใช้ฟีเจอร์ชอปปิ้งบน Messenger ที่พัฒนาร่วมกับช้อปปี้ จะได้เห็นข้อความแชตแจ้งว่าได้ส่งรถเข็นไปยังช้อปปี้แล้วบน Messenger
ธุรกิจสามารถเชื่อมแคตตาล็อกสินค้าของตนเองขึ้นไปอยู่บน Facebook ได้แล้ว และผู้ซื้อสามารถดูแคตตาล็อกสินค้าเหล่านี้ภายในกล่องข้อความ และสั่งซื้อได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องออกจากแชต

ในส่วนนี้ผู้ใช้สามารถยกระดับประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาได้ด้วยโฆษณาที่คลิกไปยัง Messenger โดยร้านค้ารายงานว่าต้นทุนต่อยอดซื้อ (cost-per-purchase) ด้วยวิธีนี้จะลดลง 23% และผลตอบแทนการใช้จ่ายค่าโฆษณา (ROAS) เพิ่มขึ้นถึง 87%


การเปิดเชื่อมแคตตาล็อคสินค้าบน Facebook ทำได้แล้วผ่านการให้บริการจากพันธมิตรด้านโซลูชันของ Meta ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2567 เป็นต้นไป

***Live Shopping ต้องมา


นอกจากการร่วมมือกับ Shopee ที่ไทยเป็นประเทศแรกของโลกนี้ Meta ยังได้ร่วมทดสอบระบบชุดเครื่องมือ Live Shopping กับ V Rich App ผู้ให้บริการโซลูชันอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยที่มีผู้ใช้บริการหลักหมื่นราย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นพบสินค้าและปิดการขายผ่านไลฟ์สตรีมได้ดียิ่งขึ้น โดยฟีเจอร์ดังกล่าวจะเริ่มให้บริการแก่ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยผ่านความร่วมมือกับแอปพลิเคชันอื่นนอกจาก V Rich App เช่น ZWIZ.AI, Kaojao และบริษัทพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ ของ Meta ต่อไป




จุดเด่นของฟีเจอร์ใหม่ Live Shopping คือประสิทธิภาพการโฆษณาที่ดีขึ้น เพราะผู้ใช้งานสามารถจ่ายเงินยกระดับประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาได้ด้วยโฆษณาที่คลิกไปยัง Messenger โดยร้านค้าที่ทดลองใช้ รายงานว่าต้นทุนต่อยอดซื้อ (cost-per-purchase) ลดลง 23% และผลตอบแทนการใช้จ่ายค่าโฆษณา (ROAS) เพิ่มขึ้นถึง 87%

ผลคือธุรกิจสามารถเชื่อมแคตตาล็อกสินค้าของตนบน Facebook ได้แล้วผ่านการให้บริการจากพันธมิตรด้านโซลูชันของ Meta ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2567 เป็นต้นไป

หลักการของเครื่องมือ Live Shopping คือธุรกิจที่โฆษณาบน Facebook Live จะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ Live Shopping ขณะที่ผู้ชมไลฟ์สตรีมจะกดเลือกดูสินค้าที่นำเสนอได้ไปพร้อมๆ กัน รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน Messenger ได้ง่าย จุดนี้ Facebook ได้ขยายบริการให้ธุรกิจสามารถใช้การบูสต์วิดีโอไลฟ์สตรีมได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อใช้งานร่วมกับฟีเจอร์ Live Shopping ผู้โฆษณาจึงมีชุดเครื่องมือเพิ่มเติมจาก Meta ที่ช่วยสร้างโอกาสที่ต่อเนื่องให้ลูกค้าเข้าถึงได้ตลอดเวลา ตั้งแต่การค้นพบแบรนด์ไปสู่การตัดสินใจซื้อ


***AI มาไทยต้องภาษาไทย

ขณะนี้ Meta อยู่ระหว่างการทดสอบความสามารถของ AI ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนเป็นลูกค้าของธุรกิจในอนาคต และการกระตุ้นการพิจารณาผลิตภัณฑ์ของลูกค้าให้มากขึ้นผ่านการแชต โดย Llama 3 โมเดลภาษาขนาดใหญ่ล่าสุดของ Meta เบื้องต้นยังรองรับภาษาอังกฤษ แต่คาดว่าจะรองรับภาษาไทยทันทีที่ลงตลาดแดนสยาม

แพรทิ้งท้ายว่า
การใช้ Llama 3 พัฒนานั้นทำให้เกิด “AI Agent” ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถใช้ตัวช่วยนี้ในการสานสัมพันธ์กับลูกค้า ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดเวลาในการทำงานได้ 

ผลคือ AI จะทำความรู้จักธุรกิจผ่านแคตตาล็อกสินค้า และลูกค้าจะสามารถแชตกับ AI เพื่อเรียกดูแคตตาล็อก พิจารณาสินค้าต่างๆ จนกระทั่งตัดสินใจซื้อได้


กำลังโหลดความคิดเห็น