สื่อสิงคโปร์รายงาน ไทยกับสิงคโปร์สแกนจ่ายเพิ่มขึ้น 4 เท่า หลังนักท่องเที่ยวเยือนหลังโควิดเพิ่ม ร้านอาหารโคฟู่เผยนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซียนิยมสแกนจ่าย ประหยัดค่าแลกเงิน ส่วนบริษัทฯ ชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อได้จริง ทำให้ราคาอาหารแข่งขันกับรายอื่นได้
วันนี้ (30 พ.ค.) สำนักข่าวซีเอ็นเอ (CNA) ของสิงคโปร์รายงานว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) มองเห็นการเติบโตที่ดีของบริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR Code (Cross-Border QR Code Payment) หรือการโอนเงินผ่านการสแกนจ่ายด้วยรหัส PayNow จากประเทศต่างๆ อันเนื่องมาจากจำนวนผู้มาเยือนสิงคโปร์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งสามารถชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องแลกเงิน และไม่ต้องเปิดใช้งานบัตรเครดิตก่อนเดินทางอีกต่อไป
ข้อมูลจากธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุว่า การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดระหว่าง PayNow ของสิงคโปร์ กับพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทย ได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่มีการเปิดตัวบริการดังกล่าว ปัจจุบันยังเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างบุคคลกับร้านค้ากับประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าสามารถชำระเงินข้ามพรมแดนให้กับร้านค้าโดยใช้ PayNow ของสิงคโปร์ กับ DuitNow ของมาเลเซีย
นายชาน เจียนไก (Chan Jiankai) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการแผนกอาหารและร้านกาแฟของโคฟู่ (Koufu) บริษัทอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีกับธุรกิจศูนย์อาหาร เปิดเผยกับซีเอ็นเอ ว่า บริษัทฯ ได้เสนอทางเลือกแก่ลูกค้าโดยการชำระเงินผ่านระบบ NETS QR ของสิงคโปร์ กลายเป็นวิธีชำระเงินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ซึ่งสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมแลกเงินได้ ขณะที่บริษัทฯ สามารถชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และสามารถแข่งขันด้านราคาอาหารแก่ผู้บริโภคได้
โดยตั้งแต่ปี 2565-2566 จำนวนการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านระบบ NETS QR เพิ่มขึ้น 5 เท่า จากประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี เป็น 100,000 ครั้งต่อปี และยังสามารถประหยัดต้นทุนให้กับลูกค้า เพราะค่าธรรมเนียมประมวลผลการชำระเงินด้วย QR Code ถูกกว่า เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมธุรกรรมจากบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่ โดยการชำระเงินข้ามพรมแดนของ Koufu มากกว่า 60% มาจากแอปพลิเคชัน WeChat Pay และ Alipay ของจีน
"การลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ช่วยให้เราชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อได้จริง สิ่งนี้ช่วยให้เรารักษาราคาอาหารให้อยู่ในระดับแข่งขันกับรายอื่นได้ ... ในอนาคตคาดว่าคนส่วนใหญ่จะใช้โทรศัพท์มือถือในการชำระเงิน และการเปิดประตูสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่นี้จะช่วยเราได้" นายชานกล่าว ซึ่งหมายความว่านักท่องเที่ยวและชาวสิงคโปร์จะยังคงซื้ออาหารของทางร้านได้ในราคาย่อมเยา
อีกด้านหนึ่ง การเชื่อมโยงระบบชำระเงินข้ามแดนยังช่วยให้สมาคมสิงคโปร์อินเดียน (Singapore Indian Association) ที่สั่งซื้อเสื้อฟุตบอลและเครื่องแต่งกายคริกเก็ตจากเมืองเล็กๆ ในประเทศอินเดีย สามารถชำระเงินโดยตรงให้กับเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยการเชื่อมโยงระหว่างระบบ PayNow ของสิงคโปร์ กับระบบ Unified Payments Interface หรือ UPI ของอินเดีย จากเดิมการโอนเงินแบบปกติ ยอดเงินจะส่งจากสิงคโปร์ไปยังอินเดียใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน แต่ขณะนี้เพียงกดมือถือปุ่มเดียว เงินไปยังบัญชีปลายทางประเทศอินเดียเกือบทันที
นายมานีซ ตริปาฐี (Maneesh Tripathi) สมาชิกคณะกรรมการหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียนสิงคโปร์ กล่าวเสริมว่า หากใครมีรหัส UPI สามารถมองหาไอดีได้ เพื่อให้มั่นใจเป็นพิเศษว่าชื่อบัญชีปลายทางนั้นถูกต้อง สามารถเห็นชื่อภายใต้รหัส UPI จากนั้นก็ชำระเงินให้ผู้ค้าในเมืองเล็กๆ ของอินเดียโดยตรง หากธนาคารในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมระบบการชำระเงินข้ามแดนจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางการค้า เพราะแม้แต่ในอินเดีย จุดศูนย์ถ่วงของธุรกิจเริ่มลดลง และเมืองเล็กๆ กำลังเริ่มสร้างซัพพลายเชนมากขึ้น และหวังว่าวงเงินโอนต่อวันจะเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม การที่สิงคโปร์ตั้งเป้าที่จะขยายการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR Code ไปยังประเทศและดินแดนอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นเรื่องท้าทาย เฉกเช่นนางออง-อัง ไอ บูน (Ong-Ang Ai Boon) ผู้อำนวยการสมาคมธนาคารในสิงคโปร์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงดังกล่าวมีปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ระบบการชำระเงินของทั้งสองประเทศมีความเข้ากันได้ในทางเทคนิคหรือไม่ รวมทั้งการปฎิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ สิงคโปร์จำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของการเข้าถึงข้อมูลของระบบการชำระเงินทั้งสองประเทศ ที่ผ่านมาได้เรียนรู้มากมายจากการเชื่อมโยงการชำระเงินกับประเทศไทย อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งจะนำบทเรียนเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ทำงานร่วมกับ BIS Innovation Hub Centre เชื่อมโยงระบบการชำระเงินแบบหลายระบบไปในวงกว้าง เพื่อขยายบริการระบบการชำระเงินของสิงคโปร์ออกไปยังนอกประเทศ ช่วยให้การโอนเงินข้ามพรมแดนรวดเร็วขึ้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง และประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ประเทศไทยกับสิงคโปร์เปิดให้บริการระบบชำระเงินข้ามแดนผ่าน QR Code หรือ Cross-Border QR Code Payment มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. 2564 ปัจจุบันคนไทยที่ไปท่องเที่ยวประเทศสิงคโปร์ สามารถสแกนจ่ายผ่านแอปพลิเคชันธนาคารไทย 3 แห่ง ได้แก่ Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย, Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ และ KMA ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กับคิวอาร์โค้ดที่มีสัญลักษณ์ NETS QR สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อรายการ และ 500,000 บาทต่อวัน
ส่วนลูกค้าธนาคาร DBS และ OCBC สิงคโปร์ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สามารถสแกนจ่ายผ่านพร้อมเพย์ QR Code สำหรับร้านค้าโดยเฉพาะ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงศรี ในรูปแบบผ่านเครื่อง EDC หรือคิวอาร์โค้ดสำหรับร้านค้า เช่น BBL Merchant NextGen, K SHOP, ถุงเงิน, แม่มณี และกรุงศรีมั่งมี โดยสแกนจ่ายได้สูงสุด 2,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน (หรือประมาณ 60,000 บาทต่อวัน)
ปัจจุบันประเทศไทยให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR Code แล้ว 8 ประเทศหรือดินแดน เช่น ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และล่าสุด สปป.ลาว