xs
xsm
sm
md
lg

‘พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย’ ช่วยชุมชนเข้าถึงไฟ-เน็ต จาก GULF-AIS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GULF-AIS ร่วมกับ สวพส. ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน นำร่องโครงการพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย (Green Energy Green Network for THAIs) ในชุมชนบ้านดอกไม้สด และชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนขยายเพิ่มอีก 5 แห่งในปีนี้ และเพิ่มเป็น 50-60 แห่งใน 3 ปีข้างหน้า

ผ่านการนำจุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรภาคเอกชน และการทำงานกับภาครัฐอย่าง สวพส. ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แก่ชุมชน พร้อมตั้งเป้าการทำงานร่วมกันมุ่งขยายผลโครงการต่อเนื่องในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำธุรกิจไม่ใช่แค่หารายได้ แต่อยากสร้างโครงข่ายดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะโครงการอย่าง Digital for THAIs ที่จะนำประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้คนไทยมีความสะดวกสบายมากขึ้น

ที่ผ่านมา AIS ใช้เงินลงทุนกว่าล้านล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแรง ซึ่งปัจจุบันมีโครงข่ายโทรศัพท์มือถือที่ครอบคลุม 98% ของประชากร โดยมีเครือข่าย 5G ครอบคลุมมากกว่า 90% ของประชากร และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบ้านครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมด 20 ล้านครัวเรือนในไทย


“AIS ได้กำหนด 3 แกนสำคัญในการทำธุรกิจที่สอดคล้องสังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย 1.การช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น 2.การช่วยส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีให้คนไทยอย่างเท่าเทียม และ 3.ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง”

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับ GULF และ สวพส. เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้


ทั้งนี้ AIS และพาร์ตเนอร์จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชน

สิ่งที่ AIS ตั้งใจคือ อยากให้บริการมากกว่าแค่ติดต่อสื่อสาร ด้วยการเปิดให้พาร์ตเนอร์เข้ามาใช้โครงข่ายดิจิทัล เพียงแต่ในเวลานี้ยังมีสัดส่วนการใช้งานน้อยอยู่ และเปิดกว้างให้พันธมิตรที่สนใจเข้ามาใช้งาน ส่วนในประเด็นของการลดความเหลื่อมล้ำ มีความท้าทายที่ไม่สามารถทำจำนวนมากๆ พร้อมกันได้ อย่างชุมชนที่ สวพส. แจ้งว่ามี 2,200 กว่าแห่ง ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่เบื้องต้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ในช่วงแรกจะเเข้าไปยัง 30 ชุมชนก่อน


ขณะที่งบประมาณที่ใช้ในการเข้าไปลงทุนติดตั้งสถานีฐานในแต่ละแห่งจะอยู่ที่ราว 3-5 ลัานบาท ซึ่งนับเฉพาะในส่วนของการตั้งเสา และพลังงานสะอาด ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งสัญญาณเข้าไป ซึ่ง AIS พร้อมที่จะลงทุนในส่วนนี้อยู่แล้ว

อย่างในชุมชนมอโก้โพคี จะมีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของผู้นำชุมชนที่ได้รวมกลุ่มคนในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกไร่ข้าวโพดมาปลูกเมล็ดกาแฟ โดยหวังให้เมล็ดกาแฟของชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้น อันจะสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง


น.ส.ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ในปีนี้ ทาง GULF ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

สำหรับพื้นที่ดอยมอโก้โพคีทาง GULF ได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชนสานต่องานรักษาผืนป่าและพัฒนาอาชีพในการปลูกกาแฟให้คนในชุมชน GULF จึงได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานสะอาด

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน และในอนาคตชุมชนจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปกาแฟ นับว่าเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน


นายสมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย จะเป็นต้นแบบสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการนำศักยภาพขององค์กรมาสร้างประโยชน์ที่จะช่วยดูแลด้านสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ และบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จะนำมาสู่การเติบโตร่วมกันของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น