'ประเสริฐ' ลุยปราบโกงออนไลน์! มั่นใจความร่วมมือหน่วยงานรัฐ-เอกชน ติดตามความคืบหน้าทุกสัปดาห์ ช่วยลดปัญหาได้ เชื่อข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีให้มีผลงานชัดเจนใน 30 วัน ทำได้ฉลุย
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบอาชกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 3 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้มีผลงานชัดเจนใน 30 วัน ว่า จากการหารือมีผลการประชุมเพื่อการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์ มีข้อสรุปดังนี้
1.มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า
- การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีที่ต้องสงสัยและบัญชีม้าในระบบธนาคาร โดยสมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งทำการตรวจสอบเหตุต้องสงสัย 19 ข้อ และทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีต้องสงสัยระหว่างธนาคาร เพื่อระบุและทำการระงับบัญชีธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมามีการระงับไปแล้ว 3-4 แสนบัญชี ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการปิดบัญชีม้าไปแล้ว 318,298 บัญชี และศูนย์ AOC ระงับหรือปิดไปแล้ว 112,699 บัญชี
- การเพิ่มมาตรการควบคุมการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย โดยเพิ่มการตรวจสอบ CDD (Customer Due Diligence) เป็นการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า โดยมีกระบวนการประเมินและบริหารความเสี่ยง ก่อนอนุมัติเปิดบัญชีลูกค้า จากเดิมที่มีการทำ KYC (Know Your Customer) ในการเปิดบัญชีใหม่เท่านั้น
- การอายัดบัญชีทันทีกรณีที่ผู้เสียหายแจ้งเหตุกับ AOC 1441 และผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์เรียบร้อยแล้ว จากเดิมระงับชั่วคราว 3 วัน และต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
- ธนาคารส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้า บัญชีต้องสงสัย หรือข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยให้ AOC 1441 และให้ AOC 1441 เป็น Platform โดยทำระบบ Automation เพื่อ AOC นำข้อมูลที่ได้ใช้ AI วิเคราะห์และใช้แก้ปัญหาโจรออนไลน์ต่อไป
2.มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า
- การกวาดล้างซิมต้องสงสัยและซิมม้า กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 ก.พ.67 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้วจำนวน 2.57 ล้านหมายเลข และยังไม่มายืนยันตัวตนอีกจำนวน 2.5 ล้านหมายเลข ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการระงับ 2.5 ล้านหมายเลขที่ไม่ได้มายืนยันตัวตน นอกจากนี้ ในส่วนของ สตช. และกระทรวงดีอีได้ประสานเพื่อระงับซิมม้า หรือซิมต้องสงสัยไปแล้วกว่า 8 แสนหมายเลข
- การเข้มงวดในการเปิดใช้ซิมใหม่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช.เพื่อป้องกันการนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา พบการปล่อยปละละเลยการเปิดใช้ซิมใหม่จำนวนมาก ตลอดจนมีการสวมรอยใช้พาสปอร์ตชาวต่างชาติ หรือขโมยบัตรประชาชนคนไทยมาเปิดซิมจำนวนมาก
- กสทช. ผู้ให้บริการโทรคมนาคมส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับซิมม้า ซิมต้องสงสัย หรือข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยให้ AOC 1441 โดยทำระบบ Automation เพื่อ AOC นำข้อมูลที่ได้ไปใช้ AI ในการวิเคราะห์ และใช้แก้ปัญหาโจรออนไลน์ต่อไป
- กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมเร่งทำฐานข้อมูล พร้อมตรวจสอบผู้ส่ง SMS จำนวนมาก (Sender Name)
3.การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยร่วมกับกระทรวงกลาโหม กสทช. และ สตช. เพื่อปิดกั้น และจับกุมผู้กระทำความผิด
4.มาตรการกำกับดูแลแก้ไขปัญหาการซื้อขาย Crypto แบบ P2P (Peer to Peer) ที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการที่คนร้ายใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางโอนเงินออกนอกประเทศถึง 70-80% ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมมือกับกระทรวงดีอี สตช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยการปิดกั้นเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน Platform ให้บริการ crypto ที่ผิดกฎหมาย และผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตในการทำ KYC และกำกับดูแลอย่างเข้มข้นสำหรับการหลอกลงทุน ก.ล.ต. มีสายด่วน หลอกลงทุน ซึ่งมีผู้แจ้งเข้ามาและมี Sec Check First ช่วยเช็กข้อมูลถูกต้อง
5.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ โดย สตช. ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีเป้าหมายชัดเจน และบูรณาการแผน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการสืบสวน สอบสวน และขยายผลการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในระยะ 2 สัปดาห์ของเดือนเมษายนนี้ ได้มีการจับกุมผู้ต้องหาคดีออนไลน์แล้วจำนวน 207 ราย โดยแบ่งเป็นเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 83 ราย และ 6.การบูรณาการข้อมูล และอื่นๆ โดยให้ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อบูรณาการข้อมูล ทำงานแบบ Automation และใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล
"กระทรวงดีอี และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการติดตามตรวจสอบการดำเนินการในทุกสัปดาห์ เพื่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจนต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว
ด้าน นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินการควบคุมและกำกับดูแลการซื้อขายเงินสกุลนดิจิทัล หรือ Crypto ผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัด โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบประวัติลูกค้า (KYC) ที่มีความเข้มงวดเทียบเท่ากับมาตรฐานที่ใช้ในธนาคารพาณิชย์ เพื่อป้องกันการฟอกเงินและการกระทำผิดทางการเงินอื่นๆ ผู้ประกอบการจะต้องรายงานธุรกรรมต่างๆ ให้สำนักงานเพื่อการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแพลตฟอร์มธุรกิจ Crypto ที่ไม่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย ก.ล.ต. มีนโยบายในการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อกล่าวโทษและมีแผนจะปิดแพลตฟอร์มเหล่านั้นภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะประสานงานกับกระทรวงดีอีเพื่อดำเนินการปิดการใช้งานต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานยังมีการตั้งสายด่วน Thai ScamAlert เพื่อรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการลงทุน และใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก และไลน์ ในการปิดกั้นช่องทางหลอกลวงเหล่านี้ภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงมีบริการ SEC Check First ที่ให้ผู้ถูกชักชวนลงทุนเข้ามาตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อป้องกันและระวังการถูกหลอกลวง