xs
xsm
sm
md
lg

79 ล้านครั้ง!! โดนหลอก “อันดับ 1 เอเชีย” ไทยคว้าแชมป์ “เหยื่อคอลเซ็นเตอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนไทยถูกหลอกผ่าน “โทรศัพท์-SMS” ในปี 66 ถึง 79 ล้านครั้ง!! กูรูบอกเลยจะแก้ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องหมูๆ

เดือนเดียว เสียหายถึง “2 พันกว่าล้าน”!!

เปิดข้อมูลน่าตกใจ “ไทย”คว้าอันดับ 1 ของเอเชีย เรื่อง “คอลเซ็นเตอร์” เมื่อ “Whoscall”แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักตัวตน ระบุว่าคนไทยถูกหลอกผ่าน “โทรศัพท์และข้อความ”จำนวนมหาศาล คือจากแค่ปี 66 ปีเดียว มีการส่ง SMS มาหลอกถึง79 ล้านครั้ง!!

ส่วนเรื่องความเสียหาย ทาง thaipoliceonline.com ได้รายงานว่า ตั้งแต่ 1-29 ก.พ.2567 รวมแล้วเป็นมูลค่า “2.4 พันล้านบาท”แต่ถ้ารวมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเป็นเงินทั้งหมดราว “5 หมื่นล้านบาท!!”



                                                              {รายงานจาก “whoscall”}

เพื่อให้เข้าใจปัญหาเรื้อรังประเด็นนี้มากขึ้น ทางทีมข่าวจึงขอให้ ดร.ปริญญา หอมอเนกประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด กูรูด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยวิเคราะห์

โดยกูรูรายนี้บอกว่า การที่ไทยติด “TOP 5”ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกวันนี้มือถือและโลกดิจิทัลผสมอยู่ในชีวิตคนเราอย่างเต็มรูปแบบบวกกับวัฒนธรรมของคนไทยที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ไว้ใจกัน ไม่ค่อยระแวดระวังเรื่องเหล่านี้เท่าใดนัก

“คำถามที่ต้องสนใจคือ สาเหตุที่มาติดอันดับได้ มาจากอะไร แล้วเราจะแก้ยังไง”

สาเหตุหลักและสาเหตุเดียวของเรื่อง “ปัญหาคอลเซ็นเตอร์” ทั่วทุกมุมโลกคือ “ข้อมูลรั่ว”ทุกวันนี้มีข้อมูลส่วนตัวอยู่ในทั้งองค์กรรัฐและเอกชน วัดจากคนคนหนึ่งน่าจะไม่น้อยกว่า 20-30 แห่ง “ทำให้เราบอกไม่ได้ว่า ข้อมูลเรารั่วจากไหน”

                                            { “ดร ปริญญา” กูรูด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ }

แต่คำถามคือ “พ.ร.บ.ไซเบอร์” หรือ “PDPA”(กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)ควรเข้มงวด เอาจริงเอาจังมากขึ้นกว่านี้หรือไม่ คือถ้าองค์กรรัฐหรือเอกชนไหนทำข้อมูลรั่วไหล ก็ต้องมีบทลงโทษไปตามกฎหมาย

ที่สำคัญต้องเปลี่ยน mindset ใหม่เลยว่า “ข้อมูลเรารั่วแน่ ล้านเปอร์เซ็นต์”ให้เหมือนเป็นโปรแกรมป้องกันตัว หากมีใครติดต่อมาแล้วอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ บอกข้อมูลเราถูกต้องทั้งหมด ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า “อาจได้ข้อมูลที่รั่วมาอ้างอิง อย่าเชื่อ”

ส่วนที่มีคนสงสัยว่า “มันเยอะขนาดนี้ ทำไมถึงปราบไม่หมดสักที” เป็นเพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์อยู่นอกประเทศการไปปราบปรามจึงอาจต้องข้ามชายแดนไป

“ตรงนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศ แล้วเอาให้ชัดว่า ตำรวจเรามีอำนาจในประเทศเขาไหม หรือถ้าเจ้าหน้าที่ฝั่งนั้นไม่ร่วมมือ เราจะทำยังไง”



ประเด็นที่น่าตกใจคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้ “ใช้สัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจากฝั่งไทย” ดังนั้น ตามแนวชายแดนจะมีมาตรการอะไรบ้างไหม เพื่อตรวจสอบและปิดกั้น ไม่ให้แก๊งพวกนี้เข้าถึงสัญญาณจากประเทศเรา

ก้เรื่องนี้ ต้องมี “เจ้าภาพ”

“เราต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น” ดร.ปริญญา แนะทางแก้ 2 วิธี คืออย่างแรก“ต้องมีการเช็กฐานข้อมูลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด” เช่น ต้องตรวจสอบได้ ถ้ามีการเปิดบัญชีม้าในธนาคาร A พอถูกอายัดก็ไปเกิดบัญชีที่ธนาคารอื่นต่อ
“ตอนนี้ไม่รู้กันเลยนะว่า มีม้ามาเปิดบัญชีในธนาคารไหนบ้าง” นี่เป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบ แต่จะไปติด ปัญหาเรื่อง “ข้อมูลส่วนบุคคล” ทำให้เราต้องออกกฎหมายมารองรับการตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“ถ้าเราตรวจแล้วพบว่า คนคนนี้เปิดบัญชีม้า ก็ขึ้น blacklist ในธนาคารไหน ก็ไม่สามารถเปิดบัญชีได้ อันนี้ผมว่าจะช่วยลดปัญหาได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เลยนะ”



แม้เราจะมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ยังขาด “เจ้าภาพ” ที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างชัดเจน ดังนั้น “ต้องตั้งหน่วยงานรับผิดชอบก่อน และรับผิดชอบตามกฎหมายด้วยนะครับ”

“ส่วนตัวชี้วัดคือ เตือนประชาชน 60 ล้านคนปีนี้ 10 ครั้ง คนรับรู้แล้ว ผลลัพธ์คนโดนหลอกลดลงเท่าไหร่ งบประมาณเท่าไหร่ ภาระหน้าที่ชัด แต่ตอนนี้ไม่มี”

เมื่อไม่มี “เจ้าภาพหลัก” ก็ส่งผลให้กฎหมาย ขอบเขตงาน อำนาจในการใช้กฎหมาย หรือแม้ตัวชี้วัดผลการทำงาน“มันไม่ชัดเจน”

ยกตัวอย่าง “AOC” สายด่วน 1441 ที่ให้บริการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์แบบ One Stop Serviceทั้งการปรึกษา หรืออายัดบัญชี จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เราก็ยังไม่สามารถทำให้มันครบจบในที่เดียวได้จริงๆ

หลายคนอาจบอกว่า โทรไป AOC แล้ว แต่ยังช้า ยังไม่สามารถอายัดบัญชีได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ปริญญา อยากชวนให้เข้าไปดูในรายละเอียดว่า “ในทางกฎหมาย คนที่นั่งอยู่ใน AOC มีอำนาจทางกฎหมายที่จะอายัดหรือเปล่า”



เพราะเส้นทางการเงินเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” เมื่อไม่มีกรอบกฎหมายมารองรับ อำนาจในการตรวจสอบก็ไม่มี
“AOC 1441 พ.ร.บ.บัญชีม้า ต้องชมคนทำ คือไอเดียดี แต่ยังคิดมาไม่สะเด็ดน้ำ เพราะงั้นเราต้องมาดู กันต่อว่า จะพัฒนามันต่อไปยังไง”

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในมุมมองของกูรูรายนี้มองว่า “ดีขึ้นเยอะ” แต่การแก้ปัญหาเรื่องนี้เอง “ก็ไม่หมู” เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานต้องมาร่วมกันจัดการ

ทั้ง “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE)” หรือ “ตำรวจไซเบอร์” ดูจากผลงานก็ทำเต็มที่ และ “ดีที่สุดแล้วในตอนนี้” แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ หากมี “หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ”

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่มีประเทศไหนสามารถปราบให้เหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์หมดไปได้ เพราะพวกคนเหล่านี้ มักจะก้าวนำหน้าเราเสมอ แต่อย่างน้อยเราทำให้ลดลงให้ได้

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : whoscall.com
ขอบคุณภาพ : เฟชบุ๊ก“ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท.” และ whoscall.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น