ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดใช้งานศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน ให้ลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมายทั่วไทย
นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นี่คือก้าวสำคัญอีกครั้งในการยกระดับประสิทธิภาพเครือข่ายของทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยการนำศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ หรือ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ซึ่งสร้างขึ้นเป็นศูนย์กลางการบริหารและดูแลระบบเครือข่ายดิจิทัลด้านการสื่อสารของบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทยที่ครอบคลุมทุกการบริการของทรู คอร์ปอเรชั่น
ภายหลังควบรวมทรู และดีแทค ทำให้มีเครือข่ายขนาดใหญ่และซับซ้อน โดยเฉพาะเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคลื่นความถี่ที่หลากหลายมากที่สุดในไทย จึงจำเป็นต้องมีการดูแลอย่างรอบด้านเพื่อพร้อมให้บริการคุณภาพสูงแก่ลูกค้ามากกว่า 50 ล้านหมายเลขทั่วประเทศ รวมทั้งลูกค้าองค์กร และทรู ออนไลน์ อินเทอร์เน็ตบ้านโครงข่ายไฟเบอร์อัจฉริยะที่มีลูกค้าเกือบ 4 ล้านรายทั่วประเทศ ด้วยทีมงานวิศวกรทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน และตลอดปี
ศูนย์ BNIC เป็นการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning รวมถึงระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) มาทำงานร่วมกันกับชุดข้อมูลที่เรียกว่าบิ๊กดาต้า (Big data) โดยนำมาเทรนนิ่ง AI เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ดาต้าเชิงลึกอย่างแม่นยำ และการวิเคราะห์ขั้นสูง AI รูปแบบ Anomaly Detection ด้วยการวิเคราะห์ วางแผน จัดการ ซึ่งเชื่อมโยงทุกพื้นที่ทั่วไทยและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน
“BNIC มีข้อมูลบิ๊กดาต้ารายงานการใช้งานแบบเรียลไทม์ในทุกพื้นที่ทั่วไทย ซึ่งสามารถใช้บิ๊กดาต้าจากกราฟนับแสนนับล้านในโครงข่ายมาตรวจหาข้อมูล กรณีถ้ามีสิ่งผิดปกติ ระบบจะ Alert ให้รู้ทันที พร้อมนำเสนอโซลูชันในการจัดการปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด โดยทั้งหมดนี้เพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน”
นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มภายนอกที่เชื่อมโยงสู่การใช้งานในระบบเครือข่าย เช่น OTT หรือ Over-the-top ทั้งรูปแบบแอปพลิเคชัน โซเชียลมีเดีย สตรีมมิ่ง ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือถ้ากรณีเกิดเหตุ (Incident) สามารถวิเคราะห์จัดการดูแลได้ทันที เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า อีกทั้งสามารถนำข้อมูลในรูปแบบบิ๊กดาต้ามาประมวลผลเพื่อวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย (Manage Performance) และบำรุงรักษา (Manage Maintenance) ได้ดีขึ้น
โดยสามารถใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย เช่น การรับส่งข้อมูลเครือข่าย การใช้แบนด์วิธ ความสมบูรณ์ของระบบ การเชื่อมต่ออุปกรณ์ จากการตรวจสอบเครือข่ายแบบเรียลไทม์ แจ้งเตือนทันทีในกรณีเกิดเหตุ (Incident) หรือเหตุจากภัยพิบัติ (Disaster) ที่กระทบการใช้งานทุกบริการ พร้อมรายงานประสิทธิภาพให้แก่ OTT เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้รองรับประสบการณ์ใช้งานของลูกค้า ไปจนถึงติดตามการแก้ไขปัญหาจนเสร็จสมบูรณ์