xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เซ็น MOU อีอีซี นำ 5G เร่งการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงาน กสทช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับสำนักงานอีอีซี เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ด้วยการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม หวังเพิ่มการลงทุนเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนว่า มีการนำ 5G เข้าไปใช้งานในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในแง่ของการเข้าไปช่วยให้เกิดการลงทุน

เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz โดยกำหนดให้มีเงื่อนไขการลงทุนโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่อีอีซี ที่ปัจจุบันสามารถให้บริการในเขตพื้นที่อีอีซีครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ประมาณ 95.7%

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับอุปกรณ์ และแอปพลิเคชันที่รองรับการทำงานของเทคโนโลยี 5G ด้วยการอนุญาตพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) ในพื้นที่โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECI) ให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต จํานวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) เพื่อดำเนินการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (Eastern Economic Corridor of Digital: EECd) ในโครงการ Thailand Digital Valley อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีด้วย

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวถึงเป้าหมายหลักของอีอีซี คือ การดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งในการที่จะทำให้ถึงเป้าหมายนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของทรัพยากร และบุคลากรให้เหมาะสม

“สำนักงานอีอีซี เห็นว่า กสทช. จะเข้ามาช่วยในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสาร รวมถึงในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร และการทำให้เมืองน่าอยู่ ไปจนถึงการลงทุนเข้าไปถึงชุมชนในระดับพื้นฐาน เพื่อสร้างระบบนิเวศในการดึงนักลงทุน”

ก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานอีอีซีได้มีการประเมินการลงทุนในพื้นที่จากข้อมูลบัตรส่งเสริมที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกให้แก่นักลงทุนเฉลี่ยแล้วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ปีละ 2 แสนล้านบาท รวมเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท

เพียงแต่เมื่อดูถึงการลงทุนจริงในพื้นที่กลับไม่ได้สะท้อนถึงเม็ดเงินที่เข้ามาในพื้นที่จริง ทำให้ทางสำนักงานอีอีซี ได้ปรับรูปแบบการเก็บข้อมูลในปีนี้ที่จะใช้ข้อมูลจากในพื้นที่แทน โดยคาดว่าที่ผ่านมามีการลงทุนเฉลี่ยปีละราว 7 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มการลงทุนเป็นเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท

“จากเป้าหมายที่วางไว้เชื่อว่าทางอีอีซีจะสามารถดำเนินการได้ เพราะทางอีอีซี สามารถให้สิทธิประโยชน์ได้เอง ทั้งการนำคนเข้ามา สามารถออกวีซ่า เวิร์กเพอร์มิต ใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน ก่อสร้างอาคาร ทำให้สามารถเข้าไปดูการลงทุนทั้งหมดในพื้นที่ได้”

ทั้งนี้ ในพื้นที่อีอีซีการใช้งาน 5G จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้บริการ แต่ขึ้นอยู่กับโรงงานอุตสาหกรรมที่นำไปใช้งาน ซึ่งถ้าเป็นโรงงานสมัยใหม่ โดยเฉพาะที่ใช้หุ่นยนต์ หรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้ 5G ทั้งหมด

***ประชุม 17 ม.ค. ลุ้นเคาะเลขาฯ กสทช.

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมวาระพิเศษในการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ในวันพรุ่งนี้ว่าไม่ได้หนักใจ และขอให้ดูในการประชุมที่ยึดตามอำนาจของประธาน


ขณะที่นายไตรรัตน์ ระบุว่า ไม่รู้ว่าประธานกสทช. จะเลือกตนเป็นเลขาธิการ กสทช. หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาทำหน้าที่รักษาการให้ดีที่สุดเต็มความสามารถ ส่วนในวันพรุ่งนี้มีภารกิจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากมีการประชุมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ทั้งนี้ หากในวาระการประชุมแต่งตั้ง ฝ่าย กสทช. เสียงข้างมากทั้ง 4 เสียง ไม่ยินยอมจะไม่สามารถลงมติได้ อาจจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาใหม่ ทำให้ต้องจับตาดูการประชุมวาระพิเศษในครั้งนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น