xs
xsm
sm
md
lg

11 เดือน ปี 66 ต่างชาติลงทุนไทย 612 ราย นำเงินเข้า 9.8 หมื่นล้าน จ้างงาน 6,086 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยช่วง 11 เดือน ปี 66 อนุญาตต่างชาติลงทุนไทย 612 ราย เพิ่ม 15% นำเงินเข้ามาลงทุน 98,288 ล้านบาท ลด 13% จ้างงานคนไทย 6,086 คน เพิ่มขึ้น 22% ญี่ปุ่นนำโด่ง ตามด้วยสิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน และฮ่องกง และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะให้กับไทยเพียบ ส่วนธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ก็สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศและการส่งเสริมการลงทุน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) ได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 612 ราย เพิ่มขึ้น 15% แยกเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 209 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 403 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 98,288 ล้านบาท ลดลง 13% จ้างงานคนไทย 6,086 คน เพิ่มขึ้น 22%

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 129 ราย คิดเป็น 21% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย มีเงินลงทุน 30,106 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 95 ราย คิดเป็น 16% มีเงินลงทุน 22,219 ล้านบาท 3.สหรัฐฯ 95 ราย คิดเป็น 16% มีเงินลงทุน 4,235 ล้านบาท 4.จีน 56 ราย คิดเป็น 9% มีเงินลงทุน 15,818 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 26 ราย คิดเป็น 4% มีเงินลงทุน 5,813 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ ได้มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบำรุงรักษาและดูแลชิ้นส่วน เครื่องมือ อุปกรณ์ สำหรับงานซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วง 11 เดือนของปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น บริการที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า บริการก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบระบบ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก บริการเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการพัฒนาแพลตฟอร์ม บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

นางอรมนกล่าวว่า การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 11 เดือน มีจำนวน 120 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย เพิ่มขึ้น 15% มีมูลค่าการลงทุน 19,531 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 43 ราย ลงทุน 6,853 ล้านบาท จีน 28 ราย ลงทุน 3,927 ล้านบาท ฮ่องกง 6 ราย ลงทุน 4,046 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 43 ราย ลงทุน 4,705 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการจัดหา ติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า บริการทางวิศวกรรม โดยการให้คำปรึกษาและแนะนำ การออกแบบ การปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักร (Modifies) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง (Audio Visual Product) และ Network Device บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำข้อมูลด้านนวัตกรรม การออกแบบและผลิตวัตถุดิบแก่ผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ เพื่อพัฒนาวิธีการผลิตวัตถุดิบให้ได้คุณภาพ และตรงตามมาตฐานที่กำหนด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เฉพาะเดือน พ.ย.2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 56 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 36 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,322 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ จีน และสหรัฐฯ มีการจ้างงานคนไทย 130 คน และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการด้านการดูแลและใช้งานของตั๋วโดยสาร องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล องค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีในเครื่องอัดอากาศและแก๊ส (Air and Gas Compressors) และองค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบติดตั้งและการบำรุงรักษาระบบ Solar roof ตามมาตรฐาน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น