xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. ชี้รัฐควรเร่งวางกรอบดูแล AI

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. พิรงรอง ให้ความเห็นรัฐบาลควรเร่งศึกษา และวางกรอบการกำกับดูแลการพัฒนา และใช้ AI พร้อมยกตัวอย่าง ระบบอัลกอริธึมที่ใช้ AI ควบคุมบนแพลตฟอร์มทำให้คนเสพติดหน้าจอมากกว่าปิดกั้นข้อมูลเท็จ ทำให้ควรมีการวางกรอบแนวทางเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ในปี 2023 เป็นปีที่ผู้คนตื่นเต้นกับพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

พร้อมกันนั้น ก็เกิดคำถามถึงภยันตรายที่ AI อาจนำมาสู่มวลมนุษยชาติ ในการสำรวจล่าสุดโดย McKinsey & Company "The state of AI in 2023: Generative AI’s breakout year" พบว่า ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และลิขสิทธิ์ เป็นประเด็นความเสี่ยงที่ถูกพูดถึงเป็น 3 อันดับแรกของการใช้ AI โดยการพยายามหลีกเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ เป็นความเสี่ยงในประเด็นถัดมา

ดังนั้น จึงมีเหตุผลหลายประการที่จะต้องมีการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับ AI เช่น การที่ AI ที่คนเข้าถึงมากที่สุดเป็น AI ที่คำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรมน้อยที่สุด เห็นได้จากระบบอัลกอริธึม (Algorithm) ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์และวิดีโอสตรีมมิ่งจะเลือกนำเสนอเพื่อดึงดูดให้ผู้ชมเสพติดหน้าจอมากกว่าที่จะปิดกั้นการมองเห็นของข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ ปัจจุบัน AI ยังเรียนรู้และตัดสินใจได้เองมากขึ้น โดยที่มนุษย์อาจยังไม่เข้าใจวิธีคิดและเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของ AI เสียด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามามีบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ AI ยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ

“มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาจุดที่สมดุลในการกำกับการพัฒนาและใช้ AI เพราะหากควบคุมมากเกินไปอาจจำกัดความเจริญก้าวหน้า แต่หากปล่อยให้มีอิสระมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสังคมได้”

ทั้งนี้ รัฐบาลต่างๆ จะต้องหากรอบในการระบุลักษณะ ประเมินและตอบสนองต่อ AI ประเภทต่างๆ และความท้าทายที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยซึ่งยังไม่มีกฎหมายที่กำกับเกี่ยวกับ AI จะต้องวางแนวทางบนพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถของ AI ผู้เล่นหลักๆ ในการพัฒนา AI โอกาส และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น


การแสดงความคิดเห็นนี้เป็นส่วนหนึ่งภายในงานประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 หรือ The 16th International Telecommunications Society Asia-Pacific Regional Conference (ITS Asia-Pacific 2023) ที่สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสมาคม International Telecommunication Society (ITS) จัดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น