xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงาน 'ดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ 2023' หนุนธุรกิจไทยเติบโตจากเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตอบรับตลาดดิจิทัลภูมิภาคอาเซียนมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญภายในปี 2568 ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลังจัดงานดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ 2023 มหกรรมแสดงสินค้าเจรจาธุรกิจด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลแห่งอาเซียน ภายใต้แนวคิด “การเชื่อมต่อคุณกับเทคโนโลยีระดับโลกและชุมชนดิจิทัล” ชูบริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลกว่า 300 แบรนด์ชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม 5,000 รายจากกว่า 10 ประเทศจัดแสดงนวัตกรรม พร้อมร่วมประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติในหลากหลายหัวข้อน่าสนใจตลอด 3 วันจัดงานตั้งแต่วันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2566 ณ อาคาร 7 อิมแพค เมืองทองธานี

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวภายในพิธีเปิดงานดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ 2023 ถึงแผนปฏิบัติราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี พ.ศ.2566-2570 กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยระบบนิเวศ โครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการให้บริการประชาชน ภาคเอกชนและภาครัฐด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการใช้ประโยชน์และรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งประชาชน เอกชน และภาครัฐจะได้รับบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สร้างกำลังคนที่มีความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากลและใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอดรับกับนโยบายดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดงานดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ 2023 (DigiTech ASEAN Thailand 2023) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแห่งอาเซียน ที่ได้รวบรวมผู้ให้บริการเทคโนโลยีและดิจิทัลจากนานาประเทศมาเพื่อนำเสนอโซลูชันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์เพื่อธุรกิจ ปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล ดาต้าและคลาวด์ สมาร์ทโซลูชันและไอโอที เทคโนโลยี 5G และเครือข่าย รวมไปถึง WEB.3.0 ซึ่งถือว่าเป็นงานที่นำเสนอนวัตกรรมที่ครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งประเทศไทยได้เป็นอย่างดี


ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเสริมว่า จุดมุ่งหมายในการสร้างคนไทยที่มีสมรรถนะและทักษะสูงเพียงพอในการพลิกโฉมประเทศให้ยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ โดยมียุทธศาสตร์ 1.ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

2.ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 3.การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมระดับชั้นแนวหน้าเพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต 4.พัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานวิจัยให้เป็นฐานขับเครื่องพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน


ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ด้วยหน้าที่หลักในการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างความเจริญและกระจายรายได้ไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน โดยเป็นตัวกลางสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาการจัดการประชุมและนิทรรศการให้มีมาตรฐานสากล โดยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ การจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และงานเมกะอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนที่จะใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านธุรกิจไมซ์ โดยคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนเป็นสำคัญ

การเข้าร่วมสนับสนุนงาน “ดิจิเทค อาเซียน ไทยแลนด์ 2023” ซึ่งถือว่าเป็นเวทีทางธุรกิจและความรู้ที่สร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจเทคโนโลยีและดิจิทัล และยังร่วมยกระดับประเทศไทยให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายในการจัดงานแสดงสินค้าในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ความสำคัญของงาน DigiTech ASEAN Thailand 2023 ในฐานะเวทีทางธุรกิจและความรู้ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ได้รับการสนับสนุนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานจาก 2 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ตลอดจนองค์กรสนับสนุน พันธมิตร และผู้สนับสนุนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนให้การจัดงานครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ


ทั้งนี้ จากข้อมูลตลาดดิจิทัลระดับภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญ ภายในปี 2568 และจะกลายเป็น 1 ใน 5 ภูมิภาคชั้นนำของโลกสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาเซียนจะเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วในการบูรณาการระบบนิเวศ 5G กับแอปพลิเคชัน โซลูชัน และเครือข่าย IoT ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาดิจิทัลผ่านนโยบายการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 อุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยคาดว่าจะประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของการเพิ่มประสิทธิภาพดิจิทัลในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทไทยเปิดรับและบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงเข้ากับธุรกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น